งาขี้ม่อน หรืองาขี้ม้อน (Perilla frutescens) อยู่ในวงศ์ Lamiaceae เป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพรา โหระพา พบได้มากในภาคเหนือของประเทศไทย คนทั่วไปจึงอาจไม่ค่อยรู้จักนัก
ในปัจจุบัน งาขี้ม่อนเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะมีโภชนาการสูงและมีสรรพคุณดี ๆ ต่อร่างกาย บทความนี้จึงจะพามารู้จักกับเจ้างาขี้ม่อนนี้ให้ดีขึ้นกัน
สารบัญ
ทำความรู้จักกับงาขี้ม่อน
งาขี้ม่อน (Perilla seed) เป็นธัญพืชที่กินได้ทั้งเมล็ดและใบ เมล็ดเล็กประมาณ 1–2 มิลลิเมตร เป็นทรงกลม มีสีน้ำตาลหรือสีเทา คล้าย ๆ เมล็ดงา
งาขี้ม่อน นิยมนำไปทำเป็นส่วนประกอบของอาหารกินเล่น เช่น คุกกี้ หรือข้าวหนุก (คลุก) งา ส่วนใบของงาขี้ม่อน เป็นที่รู้จักกันในภาษาญี่ปุ่นว่า ใบชิโสะ ใช้แต่งรสอาหารได้
คุณค่าทางอาหารของงาขี้ม่อน
เมล็ดงาขี้ม่อน 100 กรัม (หรือ 8 ช้อนโต๊ะ) ให้พลังงานประมาณ 560 กิโลแคลอรี และมีคุณค่าทางโภชนาการต่าง ๆ ได้แก่
- โปรตีน 16.8 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 25.6 กรัม
- ไขมัน 48 กรัม
- ใยอาหาร 14.4 กรัม
- แคลเซียม 992 มิลลิกรัม (76 %DV)
- ธาตุเหล็ก 14.4 มิลลิกรัม (80 %DV)
- โพแทสเซียม 472 มิลลิกรัม (10 %DV)
- โซเดียม 11.2 มิลลิกรัม
หมายเหตุ: %DV เป็นค่าโดยประมาณของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน
ข้อมูลจาก Nutritionix
สรรพคุณของงาขี้ม่อน
เมล็ดงาขี้ม่อนมีสรรพคุณที่น่าสนใจหลายข้อ ดังนี้
ช่วยรักษาอาการร้อนใน
งาขี้ม่อน เป็นธัญพืชที่มีโอเมกา 3 สูง (สูงกว่าน้ำมันปลาถึง 2–3 เท่าตัว) และยังมีกรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha–Linolenic acid) จึงช่วยบรรเทาแผลร้อนในในช่องปากให้หายเร็วขึ้น และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลร้อนในได้ดีอีกด้วย
ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้อากาศ
กรดโรสมารินิก (Rosmarinic acid) ในงาขี้ม่อน มีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบจากสารลิวโคไตรอีน (Leukotrienes)
โดยมีการทดลองกรดโรสมารินิก 200 มิลลิกรัมกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศ 30 ราย พบว่า ผู้ที่กินธัญพืชชนิดนี้ติดต่อกัน 21 วัน มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนใน 3 วัน และไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และยังช่วยบรรเทาอาการหอบเหนื่อยจากอาการแพ้ได้อีกด้วย
ช่วยป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด
งาขี้ม่อน มีสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า เซซามอล (Sesamol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งที่เกิดจากฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
ช่วยปกป้องตับ
กรดโรสมารินิกในงาขี้ม่อนจะช่วยปกป้องตับจากการถูกทำลายได้ โดยการลดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดสารซูเปอร์ออกไซด์ (Superoxide) หรือ (Peroxynitirite) และยับยั้งการเจริญของมะเร็งตับ
ช่วยบำรุงผิว
มีรายงานหนึ่งพบว่า สารสกัดจากงาขี้ม่อน มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาวขึ้น โดยจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน
บรรเทาอาการหอบหืด งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทดลองให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดจากหลอดลมอักเสบกินน้ำมันงาขี้ม่อนติดต่อกัน พบว่าสารลิวโคไตรอีน (Leukotrienes) ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดในร่างกายผู้ป่วยลดลง จึงช่วยให้อาการดีขึ้น ตลอดการทดลองทั้ง 2 และ 4 สัปดาห์
ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
งาขี้ม่อนมีโอเมกา 3 ในปริมาณมาก สามารถลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) ที่มักเกาะตามผนังหลอดเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดอุดตัน
ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า
กรดไขมันโอเมกา 3 มีผลต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองรวมถึงระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเรียนรู้ ความจำ และการมองเห็น เมื่อร่างกายได้รับโอเมกา 3 เข้าไป จะถูกเปลี่ยนเป็น DHA และ EPA ซึ่งจะช่วยจัดการกับระบบต่าง ๆ ในสมอง
ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และลดความวิตกกังวลที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า อีกทั้งยังลดความผิดปกติของสมองในวัยชราได้ด้วย
ทั้งนี้ แม้จะมาพร้อมสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายมากมาย แต่ก็ยังไม่พบงานวิจัยใด ๆ ที่บอกได้ว่าต้องกินงาขี้ม่อนในปริมาณเท่าไรจึงใช้รักษาโรคได้ จึงไม่ควรกินเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาโรค
แนะนำเมนูสุขภาพจากงาขี้ม่อน
- สลัดกะหล่ำงาขี้ม่อน ใส่มายองเนส ครีมชนิดเปรี้ยว น้ำตาล น้ำมะนาว และเกลือในชามขนาดใหญ่ คนให้เข้ากัน จากนั้นจึงใส่กะหล่ำปลี แครอต แอปเปิล และหัวหอมลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วจึงโรยใบงาขี้ม่อน และงาขี้ม่อนในขั้นตอนสุดท้าย
- ข้าวหนุกงา หรือข้าวคลุกงา ล้างข้าวเหนียวแช่ไว้ 1 คืน แล้วนำมาล้างอีกครั้ง นึ่งให้สุก ระหว่างนี้ให้คั่วงาขี้ม่อนให้หอม แล้วเอามาโขลกกับเกลือให้ละเอียด เอามาผสมกับข้าวเหนียวแล้วนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน กินตอนยังอุ่น ๆ แต่ถ้าชอบรสหวาน สามารถจิ้มน้ำตาลเพิ่มได้
ข้อควรระวังในการกินงาขี้ม่อน
- ควรใช้น้ำมันเมล็ดงาขี้ม่อนชนิดเจือจาง เนื่องจากการใช้ในรูปแบบที่เข้มข้น อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังหรือทำให้ผิวหนังอักเสบได้
- ผู้มีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกิน เพราะยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ ค้นคว้าเรื่องความปลอดภัยของการใช้งานขี้ม่อนในผู้มีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่มีอาการแพ้งาขี้ม่อน ห้ามกินงาขี้ม่อนโดยเด็ดขาด อาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติหลังกิน เช่น ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หากเป็นเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
งาขี้ม่อน เป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลากหลาย การกินงาขี้ม่อนในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง และมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหลายอย่าง เช่น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ หรือบรรเทาอาการหอบหืด
อย่างไรก็ตาม งาขี้ม่อนก็มีข้อควรระวังในการกินเช่นกัน ดังนั้น หากกินแล้วมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD