การคำนวณวันไข่ตก scaled

การคำนวณวันไข่ตก

ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถคำนวณวันที่จะมีไข่ตกได้จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง และการวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้คุณเลือกช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม และช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้

สารบัญ

สัญญาณของการมีไข่ตก

  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น โดยทั่วไปประมาณ 0.3 – 0.5 องศาเซลเซียส เมื่อวัดโดยปรอทวัดอุณหภูมิ (thermometer)
  • มีระดับฮอร์โมน luteinizing hormone (LH) สูงขึ้น วัดโดยการใช้ชุดตรวจการมีไข่ตกด้วยตนเองที่บ้าน (home ovulation kit)
  • มูกช่องคลอดอาจมีลักษณะใส ยืดได้ คล้ายๆ กับไข่ขาวดิบ
  • เจ็บเต้านม คัดตึงเต้านม
  • ท้องอืด
  • เลือดออกเปื้อนกางเกงในเล็กน้อย
  • มีอาการปวด หรือเกร็งเล็กน้อยที่ท้องน้อย

เคล็ดลับการตั้งครรภ์

1. วันที่มีไข่ตกคือวันที่เท่าไรของรอบเดือน? 

โดยทั่วไปไข่จะตกก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป 14 วัน แต่ก็สามารถแตกต่างกันได้ในแต่ละเดือน แม้ผู้หญิงคนนั้นจะมีรอบประจำเดือนสม่ำเสมอก็ตาม

ดังนั้นวิธีที่ดีกว่าที่จะรู้ว่าคุณกำลังจะมีไข่ตกหรือไม่คือ ให้บันทึกอุณหภูมิร่างกายในแต่ละวันรวมถึงสังเกตลักษณะมูกจากช่องคลอดด้วย

คุณอาจใช้ชุดตรวจไข่ตกด้วยตนเองที่บ้านที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยา เพื่อช่วยเช็คระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในปัสสาวะก่อนวันที่มีไข่ตกได้

2. มีเพศสัมพันธ์ให้บ่อย

โอกาสที่คุณจะตั้งครรภ์จะมีมากที่สุดเมื่อคุณมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1-2 วันก่อนวันที่มีไข่ตก แต่ด้วยปัจจัยเกี่ยวกับรอบประจำเดือนแต่ละครั้งซึ่งระยะเวลาแตกต่างกันไป และผู้หญิงบางรายก็มีรอบเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจคำนวณผิดพลาด

อีกทั้งตัวอสุจิยังมีชีวิตในร่างกายของผู้หญิงได้สูงสุดถึง 5 วัน ดังนั้นคุณควรมีเพศสัมพันธ์ให้บ่อยในช่วงเวลา 3 วัน ก่อนวันไข่ตก และหลังจากวันที่คุณคิดว่ามีไข่ตกต่อไปอีก 2-3 วัน

3. นอนลงหลังมีเพศสัมพันธ์

มีความเชื่อกันมานานแล้วว่า คุณควรนอนบนเตียงเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ตัวอสุจิมีโอกาสที่จะเข้าไปถึงไข่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดพบว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ สนับสนุนคำแนะนำนี้

4. ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้เหมาะสม

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า น้ำหนักร่างกายที่น้อยเกินไป หรือ มากเกินไป อาจขัดขวางการตกไข่ และส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือ 18.5-23

นอกจากนี้ คุณยังควรออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหมจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายที่หนักหน่วงเกินไปอาจทำให้รอบประจำเดือนผิดปกติ และทำให้การตั้งครรภ์ยากขึ้น

5. ลดความเครียด

ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ความเครียดจะทำให้ไม่มีความต้องการทางเพศ ทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้น การเล่นโยคะ นั่งสมาธิ และการเดินระยะทางยาวๆ จะช่วยลดความเครียด และช่วยทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น

บางคนอาจยังไม่รู้ตัวว่า ตนเองมีภาวะเครียดรุมเร้าอยู่หรือไม่ การไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา หรือการเข้ารับการตรวจวิเคราะห์ความเครียด อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกรณีนี้

6. ดูแลรักษาโรคที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ถ้าคุณเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หอบหืด หรือลมชัก ต้องมั่นใจแล้วว่า อาการของโรคเหล่านี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่คุณกำลังใช้อยู่ว่า มียาใดบ้างที่อาจส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์

7. สุขภาพของผู้ชายก็ต้องใส่ใจด้วย

แม้ว่าโดยทั่วไปเราจะคิดว่า การตั้งครรภ์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง แต่ก็พบว่ามากกว่า 33% ของปัญหาการมีบุตรยากมาจากผู้ชาย และอีก 33% เป็นปัญหาจากทั้งชาย และหญิง

ดังนั้นฝั่งผู้ชายเองจึงต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เลิกสูบบุหรี่ จำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดความเครียด

8. กำลังพยายามที่จะมีลูกชายหรือลูกสาวอยู่หรือไม่?

หลายทฤษฎีอ้างว่า คุณสามารถเลือกเพศของทารกได้ โดยการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของเดือน หรือมีเพศสัมพันธ์ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง

อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีที่แน่นอนในการเลือกเพศของลูกคุณ โอกาสของการมีลูกชายหรือลูกสาวคือ 50-50 ยกเว้นว่า คุณจะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการคัดเลือกตัวอสุจิและใช้วิธีผสมเทียม

ตัวอย่างการคำนวณวันไข่ตก

สมมุติว่าวันแรกของรอบเดือนคือวันที่ 1 และรอบเดือนของคุณมีทั้งสิ้น 28 วัน ดังนั้น วันที่มีไข่ตกโดยประมาณจะเป็นวันที่ 14 และช่วงระยะเวลาที่มีโอกาสที่ไข่กับอสุจิจะผสมกันได้คือ ช่วงวันที่ 11-15

หรือหากต้องการความสะดวกสบายยิ่งขึ้น คุณอาจเลือกบันทึกวันที่ประจำเดือนมาเพื่อหาวันไข่ตก ดูโปรแกรมคำนวณวันไข่ตก ที่นี่

การจดบันทึกข้อมูลเพื่อวางแผนตั้งครรภ์

ขณะที่คุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์ การจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายของคุณจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ เพราะเมื่อคุณสังเกต และบันทึกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกาย จะทำให้ทราบได้ว่า เมื่อใดที่จะมีไข่ตก

ในการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกวัน จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับร่างกายคุณ คุณสามารถบันทึกโดยใช้ปากกา และกระดาษ หรืออาจจดบันทึกบนสมาร์ทโฟนก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องบันทึกลงไป ได้แก่

  • จดบันทึกอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอน (basal body temperature) ซึ่งเป็นอุณหภูมิหลังการนอนหลับพักผ่อน
  • สังเกตการเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอด
  • ติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะเริ่มมีรอบประจำเดือน
  • จดบันทึกว่าเมื่อใดที่คุณมีเพศสัมพันธ์บ้าง

การรู้ข้อมูลต่างๆ ข้างต้นทำให้เกิดความแตกต่างจากคนอื่น แม้ว่าโดยเฉลี่ยของคู่รักที่พยายามจะตั้งครรภ์จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนจึงจะตั้งครรภ์ แต่ในคู่รักที่รู้ว่า เมื่อไรจะมีไข่ตกและมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำในช่วงเวลาดังกล่าว จะช่วยเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์มากกว่าคู่รักคู่อื่นๆ

การบันทึกอุณหภูมิร่างกายพื้นฐานขณะพัก (basal body temperature)

การวัดอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายขณะพักหลังตื่นนอน เป็นวิธีที่ทำกันมาเป็นเวลานานในการช่วยคาดการณ์วันที่มีไข่ตก และวิธีนี้ก็ช่วยให้ผู้หญิงหลายคนตั้งครรภ์ได้

  • ก่อนไข่ตก: อุณหภูมิพื้นฐานขณะพักโดยปกติจะอยู่ระหว่าง 36.1- 36.4 องศาเซลเซียส แต่ค่านี้อาจแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล
  • ระหว่างไข่ตก: ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) สูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อยในวันนั้นหรือใน  2 วันต่อมา โดยทั่วไปจะสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิอาจสูงต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงรอบประจำเดือนใหม่ ถ้าคุณตั้งครรภ์ระหว่างรอบประจำเดือนนี้  อุณหภูมิร่างกายคุณอาจสูงต่อเนื่องต่อไปอีก

ความแตกต่างของอุณหภูมิเพียง 0.5 องศาเซลเซียส อาจน้อยจนคุณไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง แต่สามารถวัดได้ด้วยปรอทวัดอุณหภูมิ

นอกจากนี้โปรดจำไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีไข่ตก หมายถึงว่า คุณได้พลาดโอกาสของการตั้งครรภ์ในรอบประจำเดือนดังกล่าวไปแล้ว

ดังนั้นหากจดบันทึกข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายต่อเนื่องกันหลายรอบประจำเดือน จะทำให้คุณมองเห็นภาพว่า เมื่อใดที่คุณจะมีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด

เคล็ดลับในการจดบันทึก ทำความเข้าใจอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายขณะพัก

อย่างแรก ให้เริ่มวัดและจดบันทึกอุณหภูมิในวันแรกของรอบประจำเดือน โดยให้วัดอุณหภูมิที่เวลาเดียวกันของทุกๆ วัน โดยแนะนำให้วัดทันทีหลังตื่นนอนก่อนที่จะลุกจากเตียงนอน ห้ามรับประทาน ดื่ม สูบบุหรี่ หรือลุกเดิน  ก่อนที่จะวัดอุณหภูมิ

คุณสามารถเลือกตำแหน่งที่วัดอุณหภูมิได้ ไม่ว่าจะเป็น ทางปาก หรือทางรักแร้ แต่ให้วัดด้วยช่องทางเดิมในทุกๆ วัน

นอกจากนี้ให้จดบันทึกอุณหภูมิร่างกายขณะพักในทุกๆ วัน โดยสามารถวาดกราฟอุณหภูมิได้ โดยแกน X เป็นวันที่ และแกน Y เป็นอุณหภูมิที่วัดได้ และลากเส้นระหว่างจุดแต่ละจุดเพื่อให้เห็นเป็นกราฟ

โปรดจำไว้ว่า ในบางครั้งอุณหภูมิอาจสูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติได้ ซึ่งแตกต่างจากวันอื่นๆ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ไม่บ่อย คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับมัน

เมื่อจดบันทึกอุณหภูมิผ่านไปซัก 2-3 เดือน จะทำให้คุณมองเห็นภาพได้ว่า เมื่อใดที่ร่างกายคุณจะมีการตกไข่ และคุณอาจจำเป็นต้องนำกราฟที่จดบันทึกนี้ไปให้แพทย์ช่วยแปลผลเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการจดบันทึกอุณหภูมิจะเป็นวิธีที่ทำกันโดยทั่วไป แต่จะมีผู้หญิงบางรายที่ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่รูปแบบเดิมในแต่ละเดือน อันเนื่องมาจากการตกไข่ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละเดือน

ดังนั้นผู้หญิงรายนั้นจะไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการคาดการณ์วันที่มีการตกไข่ได้

มูกช่องคลอด และการตกไข่

การเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอดจะช่วยคาดการณ์วันที่มีการตกไข่ได้ด้วย มีข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอดมีความแม่นยำมากกว่าการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายพื้นฐาน  อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันได้

มูกช่องคลอดจะสร้างจากบริเวณปากมดลูก ในช่วงเวลาที่ร่างกายไม่ได้มีการตกไข่ หรือไม่ได้ใกล้เวลาของการตกไข่ มูกช่องคลอดจะป้องกันไมให้ตัวอสุจิเข้าไปสู่บริเวณโพรงมดลูก

ในขณะที่เมื่อใกล้เวลาของการตกไข่แล้ว ปากมดลูก จะหลั่งมูกออกมามากขึ้น เมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่ไข่กับอสุจิจะผสมกันได้ ช่วงเวลานั้นมูกจะมีลักษณะใส และยืดได้ คล้ายกับไข่ขาวดิบ ในช่วงเวลานี้จะช่วยปกป้องตัวอสุจิและช่วยให้อสุจิเดินทางไปสู่ไข่ได้

ในผู้หญิงซึ่งมีรอบเดือน 28 วัน การเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอดจะเป็นดังนี้:

  • วันที่ 1-5: ช่วงมีเลือดประจำเดือน
  • วันที่ 6-9: ช่องคลอดจะแห้ง และอาจมีมูกเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
  • วันที่ 10-12: จะมีมูกลักษณะเหนียวข้น และค่อยๆ เหนียวน้อยลง รวมทั้งเป็นสีขาวมากขึ้น
  • วันที่ 13-15: มูกจะมีลักษณะบาง ใส ยืดได้ คล้ายไข่ขาวดิบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไข่กับอสุจิจะมีโอกาสผสมกันมากที่สุด
  • วันที่ 16-21: มูกจะกลับมาเหนียวข้นอีกครั้ง
  • วันที่ 22-28: ช่องคลอดจะกลับมาแห้งอีกครั้ง

แต่ว่า รอบประจำเดือนของคุณอาจแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้นก็ได้ ดังนั้นคุณควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณเอง

ถ้าเป็นไปได้ คุณควรตรวจสอบมูกในช่องคลอดทุกวัน โดยสังเกตความรู้สึกแห้ง หรือชื้นแฉะที่ช่องคลอด รวมถึงสังเกตมูก หรือตกขาวใดๆ ที่ติดอยู่บนกางเกงใน และจดบันทึกไว้

ตำแหน่งของปากมดลูก และการตกไข่

วิธีอื่นในการสังเกตว่า เป็นช่วงเวลาสำหรับไข่กับอสุจิผสมกันหรือยัง โดยการวัดตำแหน่งของปากมดลูก ถ้าคุณทำการสอดนิ้วมือ 2 นิ้วเข้าไปทางช่องคลอด ปลายนิ้วของคุณจะสัมผัสได้กับบริเวณปากมดลูก ทั้งนี้ก่อนการตกไข่จะสัมผัสได้ว่า ปากมดลูกแข็งและแห้ง

ระหว่างการตกไข่ ปากมดลูกจะยกตัวสูงขึ้น รู้สึกนุ่มขึ้นและเปียกชื้น แต่ก่อนที่จะสำรวจด้วยวิธีนี้คุณต้องมั่นใจว่า นิ้วมือของคุณสะอาดก่อน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ค่อนข้างยากที่จะบอกได้อย่างชัดเจน ดังนั้นคุณอาจต้องเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีนี้ก่อน

ชุดตรวจการตกไข่

ปัจจุบันมีชุดตรวจการตกไข่ที่สามารถใช้ได้เองที่บ้าน ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ผู้หญิงหลายคนนิยมใช้แทนวิธีเดิม

คุณสามารถหาซื้อชุดตรวจการตกไข่ได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีราคาไม่แพง โดยจะเป็นการทดสอบหาปริมาณฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) ในปัสสาวะ

ปริมาณของฮอร์โมนนี้จะสูงมากขึ้นในช่วงเวลา 12-36 ชั่วโมงก่อนการตกไข่ การวัดด้วยวิธีนี้จะมีความแม่นยำมากกว่า 90%

การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์

โดยส่วนมาก คุณจะไม่ทราบวันที่คุณตั้งครรภ์ แพทย์จะเริ่มนับวันแรกที่มีการตั้งครรภ์ตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลา 2 สัปดาห์ก่อนวันที่มีการปฏิสนธิ (อสุจิผสมกับไข่)

องค์ประกอบการตั้งครรภ์

  1. การตกไข่ ในแต่ละเดือน ภายในรังไข่ของคุณจะมีกลุ่มของไข่ที่มีการเติบโตขึ้นภายในถุงขนาดเล็กซึ่งมีของเหลวอยู่ภายใน เราเรียกว่า “ฟอลลิเคิล (follicles)” เมื่อไข่ 1 ใบ หลุดออกจากฟอลลิเคิล เราเรียกว่า “การตกไข่” โดยปกติจะเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือนครั้งถัดไป
  2. ฮอร์โมนสูงขึ้น ภายหลังจากที่ไข่หลุดออกจากฟอลลิเคิลแล้ว ฟอลลิเคิลจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น คอร์ปัส ลูเทียม (Corpus Luteum) ซึ่งคอร์ปัส ลูเทียมนี้ จะหลั่งฮอร์โมนเพื่อทำให้ภายในมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว
  3. ไข่จะเดินทางมาที่ท่อนำไข่ (fallopian tube) ไข่ที่ตกออกมาแล้วจะเดินทางมาที่ท่อนำไข่ ซึ่งจะอยู่ที่นี่ประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อรอให้ตัวอสุจิ 1 ตัวเข้ามาผสม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากรอบเดือนครั้งล่าสุด
  4. ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิ ถ้าไม่มีตัวอสุจิเข้ามาผสมกับไข่ มันจะเคลื่อนตัวต่อไปที่มดลูกและสลายตัว ระดับฮอร์โมนจะกลับสู่ภาวะปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นจะเริ่มหลุดลอกเป็นประจำเดือนอีกครั้ง
  5. ถ้าไข่มีการปฏิสนธิกับตัวอสุจิเกิดขึ้น ถ้าตัวอสุจิเคลื่อนที่เข้ามาที่ท่อนำไข่สามารถเจาะเข้าไปในไข่ได้ จะทำให้เกิดการปฏิสนธิเกิดขึ้น จากนั้นไข่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้หนาตัวขึ้นเพื่อไม่ให้อสุจิตัวอื่นเข้ามาเจาะอีก ในช่วงเวลาที่มีการปฏิสนธินี้เองที่จะมีการกำหนดยีน และเพศของลูกเกิดขึ้น ถ้าตัวอสุจิมีโครโมโซมเป็น Y คุณจะได้ลูกชาย แต่ถ้าตัวอสุจิมีโครโมโซมเป็น X คุณจะได้ลูกสาว
  6. การฝังตัว ไข่จะเคลื่อนที่ไปที่มดลูก ไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้วจะอยู่ในท่อนำไข่ประมาณ 3-4 วัน โดยในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรกนี้ ไข่จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นเซลล์หลายๆ เซลล์ แล้วจะมีการเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ผ่านท่อนำไข่มายังมดลูก หลังจากนั้นจะเกิดการยึดติดกับเยื่อบุโพรงมดลูก เราเรียกว่า “การฝังตัว (implantation)” ผู้หญิงบางรายอาจมีเลือดออกติดกางเกงในเล็กน้อยในช่วง 1-2 วันของการฝังตัวนี้ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้น และปากมดลูกจะถูกปิดโดยมูก ทำให้ทารกเจริญเติบโตอยู่ภายในจนกว่าจะถึงเวลาของการคลอด ภายใน 3 สัปดาห์แรก เซลล์จะเริ่มเติบโตเพิ่มมากขึ้นและเริ่มมีเซลล์ประสาทเซลล์แรกเกิดขึ้น
  7. ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์เราเรียกว่า ฮอร์โมน hCG ซึ่งจะพบในเลือดขณะที่มีการฝังตัว ซึ่งสามารถตรวจพบฮอร์โมนนี้ได้ในการตรวจตั้งครรภ์ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากรอบประจำเดือนล่าสุดของคุณ จึงจะตรวจพบปริมาณฮอร์โมนนี้

มีเคล็ดลับหลายอย่างที่สามารถทำให้คุณสามารถมีเจ้าตัวน้อยได้ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจว่า ดูวันไข่ตกไม่ผิดพลาดแน่ๆ

คุณอาจเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ต้องการวางแผนการตั้งครรภ์ เพื่อที่ได้แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการดูวันไข่ตกเพิ่มเติมต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top