หูชั้นนอกอักเสบ Otitis

หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa)

กายวิภาคภายในหูของคนเรา ประกอบไปด้วย 3 ชั้น ได้แก่ หูชั้นนอก ซึ่งประกอบไปด้วย ใบหู ช่องรูหู ไปจนถึงเยื่อแก้วหู ต่อมาคือ หูชั้นกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่ของกระดูกหู และหูชั้นใน ซึ่งทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับระบบประสาทการได้ยินและการทรงตัว

ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) คือภาวะที่หูชั้นนอกเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ได้

ภาวะนี้มักถูกเรียกในทางการแพทย์ว่าโรค “หูนักว่ายน้ำ” (Swimmer’s ear) เนื่องจากมักเกิดภายหลังน้ำเข้าหู หรือมีความชื้นภายในช่องหู ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องหูมีความเปราะบาง เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย

อาการและสัญญาณของภาวะหูชั้นนอกอักเสบ

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการของภาวะหูชั้นนอกอักเสบดังต่อไปนี้

  • ปวดหู
  • มีอาการคันหรือระคายเคืองภายในหู
  • มีอาการบวมแดงบริเวณใบหูหรือภายในช่องหู
  • มีน้ำใสๆ หรือหนองออกจากหู
  • มีอาการตึงเจ็บขณะโยกบริเวณใบหู
  • มีภาวะสูญเสียการได้ยิน หรืออาการหูอื้อ

สาเหตุของภาวะหูชั้นนอกอักเสบ

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดจากแบคทีเรียชนิด Pseudomonas aeruginosa หรือ Staphylococcus aureus ซึ่งมักเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่มีความชื้นสูง
  • การติดเชื้อรา มักพบในภาวะที่มีความชื้นในช่องหู อาการที่สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อรา ได้แก่ ผู้ป่วยมักมีอาการคัน ระคายเคืองภายในหู
  • อาการระคายเคืองหรือปฏิกิริยาแพ้ ภาวะหูชั้นนอกอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากปฏิกิริยาหรือสารระคายเคืองที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น สารเคมีในสเปรย์ สบู่ แชมพู หรืออาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบ

  • ความชื้นภายในหู ความชื้นภายในช่องหู เป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อราที่ดีมาก มักเกิดภายหลังการว่ายน้ำ หรือมีน้ำเข้าหู
  • การบาดเจ็บภายในช่องหู ซึ่งมักเกิดจากการแคะหูหรือปั่นหู
  • สัมผัสสารเคมีบางชนิดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ภาวะโรคทางผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ
  • โรคภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณผิวหนังภายในช่องหู
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ซึ่งอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามได้ง่าย

การรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบ

แพทย์มักพิจารณาสั่งยาหยอดหูเป็นการรักษาหลัก ซึ่งยาหยอดหูมีหลายชนิด ส่วนยารับประทานอื่นๆ แพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ตามความเหมาะสม เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน หรือยาแก้ปวด

นอกจากยาหยอดหู การรักษามีดังต่อไปนี้

  1. ทำความสะอาดรูหู โดยใช้สำลีพันปลายไม้ หรือพลาสติก เช็ดเบาๆด้วยความนุ่มนวล หรือใช้เครื่องดูดของเหลวดูดหนอง (โดยแพทย์)
  2. รับประทานยาต้านจุลชีพ เพื่อรักษาการติดเชื้อในช่องหูชั้นนอก ประมาณ 7-14 วัน (ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์)
  3. ถ้ารูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ ชุบยาสเตียรอยด์ช่วยลดบวม ใส่ไว้ในรูหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลง จึงใช้ยาหยอดหูซึ่งมียาต้านจุลชีพ (ที่แพทย์สั่งให้) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง
  4. ถ้ามีอาการปวดมาก อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ร่วมด้วยได้
  5. ในรายที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบชนิดร้ายแรง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด

ยาหยอดหูที่ใช้รักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบ

ยาหยอดหูที่แพทย์มักใช้รักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบมีอยู่ 4 ประเภท ดังนี้

  • ยาหยอดหูปฏิชีวนะ รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุได้
  • ยาหยอดหูคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาประเภทนี้สามารถช่วยลดอาการบวมภายในช่องหู
  • ยาหยอดหูต้านเชื้อรา ยาประเภทนี้สามารถรักษาภาวะติดเชื้อรา
  • ยาหยอดหูชนิดที่เป็นกรด เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างภายในช่องหู ทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมในช่องหู และลดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

อย่างไรก็ตามการพิจารณาใช้ยาหยอดหู เป็นการพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ ท่านไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาหยอดเอง เนื่องจากเป็นยาอันตราย หากใช้ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายแก่อวัยวะสำคัญภายในหูได้

การป้องกันภาวะหูชั้นนอกอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงการสร้างความบาดเจ็บภายในช่องหู ไม่สอดก้านสำลีหรือสิ่งของเข้าไปในหู ใช้ก้านสำลีก็ต่อเมื่อต้องการทำความสะอาดโดยรอบหูชั้นนอกเท่านั้น หากมีขี้หูสะสมมากควรปรึกษาแพทย์หูคอจมูก
  • ดูแลหูให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
  • หากคุณมีกิจกรรมว่ายน้ำบ่อยครั้ง ควรสวมหมวกว่ายน้ำหรือใช้ปลั๊กเสียบหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู (พยายามสอดอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงหากมีอาการระคายเคืองหู)

ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ


ที่มาของข้อมูล

  • ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน, ยาหยอดหู (http://www.rcot.org/2016/People/Detail/17), 16 เมษายน 2552
Scroll to Top