กระดูกพรุนในหมู่ผู้สูงอายุนั้นไม่เพียงส่งให้กระดูกแตกหักง่ายกว่าปกติ แต่ยังก่อให้เกิดปัญหากระดูกอื่น ๆ ตามมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ กระดูกสันหลังยุบตัว ส่งผลให้การใช้ชีวิตเป็นเรื่องยากขึ้น มารู้จักกับภาวะนี้ไปพร้อมกัน
สารบัญ
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน เกิดได้อย่างไร
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporotic vertebral fracture) เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังเกิดการแตกหักแล้วยุบหรือทรุดตัวลง อันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคทางกระดูกที่พบบ่อยในผู้สูงอายุอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
ปกติแล้ว กระดูกของผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่แข็งแรงเหมือนกับกระดูกของผู้สูงอายุทั่วไป เมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หกล้ม ชน หรือกระแทกไม่รุนแรงตรงบริเวณหลัง ก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังยุบ หรือแตกหักได้
สาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากความเสื่อมของกระดูกตามวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง และอยู่ในวัยหมดประจำเดือน
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นโรคที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก มีประวัติกระดูกยุบตัวมาก่อน เคลื่อนไหวร่างกายน้อย น้ำหนักตัวเยอะ ขาดแคลเซียมและวิตามินดี และใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ
อาการกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนมักเกิดกับกระดูกสันหลังตรงอกล่างและเอวบน โดยมากมักไม่เกิดการกดทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังตรงบั้นเอวเพียงอย่างเดียว
แต่อาการปวดจะค่อนข้างรุนแรงมาก แม้ทานยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะตอนผู้ป่วยขยับตัว เปลี่ยนท่าทาง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือยกของ จึงต้องอยู่ในท่าเดิมนิ่ง ๆ เพื่อไม่ให้เจ็บปวดมากขึ้น
กรณีกระดูกที่ยุบตัวไปกดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง อาจมีอาการร้าวลงขา ขาอ่อนแรง ชา หรือการควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ และหากกระดูกสันหลังยุบจนโก่งงอหรือคด อาจส่งผลให้พิการ และมีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน วินิจฉัยได้อย่างไร
แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และตรวจบริเวณกระดูกสันหลังด้วยการเอกซเรย์ (X-ray) การทำซีทีสแกน (CT Sacan) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจมวลกระดูก (DEXA) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์
แพทย์จะประเมินความรุนแรงของกระดูกที่ยุบหรือแตกหัก สังเกตความเปลี่ยนแปลงของกระดูก ค้นหาจุดที่มีการกดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วย
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน รักษาได้อย่างไร
การรักษากระดูกสันหลังยุบจากกระดูกพรุนจะพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นหลัก หากไม่มีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบประคับประคอง ไม่ต้องผ่าตัด เช่น
- ใช้ยารักษาอาการปวด อย่างยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยารักษาภาวะกระดูกพรุน อย่างบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) หรือแคลเซียมบำรุงกระดูก
- ใส่เสื้อเกราะพยุงหลัง 4–12 สัปดาห์ เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว ให้กระดูกสันหลังเชื่อมกัน ป้องกันกระดูกยุบมากขึ้น
- ออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาการฉีดซีเมนต์ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก ยึดกระดูกให้คงที่ และบรรเทาอาการปวด ให้กับผู้ป่วยกระดูกสันหลังยุบที่ปวดหลัง กระดูกสันหลังผิดรูป หรือกระดูกไม่สามารถเชื่อมติดกันได้เอง
การฉีดซีเมนต์จะมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การฉีดซีเมนต์ช่วยดันกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty) และการใช้บอลลูนดันกระดูกสันหลัง (Balloon Kyphoplasty)
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน ป้องกันได้ไหม
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยง หรือชะลอการเกิดโรค เช่น
- ทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามิน เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก
- งดสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของนิโคติน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้กระดูกอ่อนแอ
- ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ เต้นแอโรบิค วิ่งในน้ำ หรือกระโดดเชือก
- ระมัดระวังในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ โดยเฉพาะขณะใช้รถใช้ถนน ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน อย่างหมวกกันน็อคหรือรัดเข็มขัดเป็นประจำ
- เข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อคัดกรองและประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนที่มีปัจจัยเสี่ยง
กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนอาจเป็นปัญหาสุขภาพรุนแรงที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง อาจนอนติดเตียง หรือพิการ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ แต่การหมั่นดูแลสุขภาพกระดูกให้ดี ตั้งแต่ยังมีแรง อายุยังน้อย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
อย่ารอให้กระดูกสันหลังยุบแล้วค่อยไปหาคุณหมอ รีบตรวจมวลกระดูกตั้งแต่ตอนนี้ HDmall.co.th มีครบแพ็คเกจ ตรวจคัดกรองกระดูกพรุน พร้อมโปรโมชั่นสุดคุ้ม รีบจองเลย!