น้ำตาลในเลือดสูงเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคเบาหวานที่คนทั่วไปรู้กันดี แต่อาจจะเพียงผิวเผินเท่านั้น เพราะหลายคนไม่ได้รู้เลยว่าระดับน้ำตาลปกติมันแค่ไหน แล้วระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่าไหร่ถึงจะเสี่ยงโรคเบาหวาน
จึงไม่ได้ใส่ใจการกินอาหารหรือดูแลตัวเองเท่าที่ควร คิดเพียงว่าไม่กินหวานก็น่าจะพอแล้ว ซึ่งผิดมาก ๆ มาทำความเข้าใจระดับน้ำตาลในเลือดกันใหม่ผ่านบทความนี้ดีกว่า!
สารบัญ
น้ำตาลในเลือดสูงเป็นยังไง สาเหตุเกิดจากอะไร
เราต้องทำความเข้าใจคำว่า น้ำตาลหรือกลูโคส (Glucose) กันก่อน น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ถูกลำเลียงเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปใช้ทั่วร่างกาย โดยได้มาจากอาหารและเครื่องดื่มประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่เรากินในแต่ละวัน
หลังเรากินอาหารเหล่านั้นเข้าไปแล้ว ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จากตับอ่อนเป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ส่วนน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia, High blood sugar) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อวัดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง สาเหตุมักมาจากโรคเบาหวาน (Diabetes)
ผู้ป่วยเบาหวานจะมีปัญหาตับอ่อนผิดปกติจนอาจผลิตอินซูลินไม่ได้เลย หรือผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอร่วมกับมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลไม่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่สะสมอยู่ในเลือดปริมาณมากแทน
ส่วนคนปกติที่ยังไม่ได้เป็นเบาหวานก็อาจเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้เช่นกัน โดยอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือโรคบางโรค เช่น
- การกินอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ในเวลาสั้น ๆ ตับอ่อนจึงผลิตอินซูลินออกมาไม่ทัน
- มีความเครียดสะสม ยิ่งเครียดมาก น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงตาม เพราะต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งน้ำตาลออกมาเป็นพลังงานฉับพลัน
- ไม่ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไม่นำน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงาน
- เป็นโรคเกี่ยวกับตับ เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือมะเร็งตับ ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
- ได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ และยากดภูมิคุ้มกัน
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหนถึงเป็นเบาหวาน
วิธีที่นำมาใช้วัดระดับน้ำตาลกลูโคส ประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยโรคเบาหวานโดยแพทย์มีหลายวิธี เช่น
1. การตรวจเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar: FBS)
การเข้าตรวจจะต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ค่าที่ได้จะอยู่ในหน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (Mg/dL) แบ่งให้เห็นภาพเป็นระดับน้ำตาลที่ปกติ ระดับเสี่ยงเบาหวาน และระดับเป็นเบาหวาน ดังนี้
- คนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือราว 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- คนที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) จะมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- คนที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูงหรือเป็นโรคเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
2. การตรวจวัดระดับน้ำตาลแบบสุ่ม (Random blood sugar)
ไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจ โดยจะสุ่มตรวจวัดระดับน้ำตาล ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแทน หากผลระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
ร่วมกับมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชัดเจน เช่น รู้สึกหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรือน้ำหนักลด จะบ่งบอกได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
3. การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1c: HbA1c)
ค่า HbA1c จะช่วยเช็กระดับน้ำตาลที่สะสมในร่างกายช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยผลลัพธ์จะออกมาเป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์ (%) แปรผลได้ดังนี้
- คนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะได้ค่าน้ำตาลเฉลี่ยต่ำกว่า 5.7%
- คนที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน จะได้ค่าน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5.7-6.4%
- คนที่เป็นโรคเบาหวาน จะได้ค่าน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5% ขึ้นไป
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจระดับน้ำตาลด้วยวิธีไหน หากผลบ่งบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจมีการนัดแนะมาตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค
นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง (Self monitoring of blood glucose: SMBG) โดยอ่านค่าผ่านเครื่องตรวจน้ำตาลชนิดพกพา (Glucose meter) ซึ่งจะง่ายต่อการติดตามระดับน้ำตาลแต่ละวัน
การตรวจระดับน้ำตาลด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรคเบาหวาน หากลองตรวจด้วยตัวเองแล้วพบระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์ปกติ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจคัดกรองโรคเบาหวานอย่างละเอียดและถี่ยิ่งขึ้น
ไม่อยากเสี่ยงเบาหวาน ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดไว้ก่อน HDmall.co.th รวมแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ครบทุกวิธี ราคาดีมีโปร คลิกที่นี่
อาการบ่งบอกน้ำตาลในเลือดสูงมีอะไรบ้าง
คนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมักไม่มีสัญญาอาการให้สังเกตเห็นเช่นเดียวกับคนที่เป็นเบาหวานแฝง แต่บางคนก็อาจเผชิญกับอาการผิดปกติจากระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในระยะเริ่มแรกได้ เช่น
- เหนื่อยง่าย
- รู้สึกหิวน้ำมากขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ปวดศีรษะ
- มองเห็นภาพเบลอ สายตาพร่ามัว
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงในระยะยาวยังอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าอย่างมาก น้ำหนักตัวลดลง ติดเชื้อที่ผิวหนังหรือช่องคลอด แผลหายช้าลง รวมถึงอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนตามเส้นประสาท หลอดเลือด เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไต
กรณีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรุนแรงอาจเพิ่มโอกาสของภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis: DKA) ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
แม้ไม่เคยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองมาก่อน แต่หากพบสัญญาณอาการเหล่านี้ ก็ควรไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเนิ่น ๆ เพราะอาการที่เกิดขึ้นมาอาจหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้น ควรได้รับการรักษา ควบคุม และดูแลตัวเองโดยเร็ว ก่อนปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวานจะพ่วงภาวะแทรกซ้อนมาด้วยจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว
สั่งชานมหวานเกิน 100% ทุกที กินหวานจนน้ำตาลเรียกพี่ขนาดนี้ เตรียมหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานไว้ก่อน อุ่นใจกว่า คลิกที่นี่ ด่วน ๆ HDmall.co.th เตรียมโปรดีพร้อมส่วนลดเพิ่มทุกครั้งที่จองให้คุณไว้แล้ว