การนวด กับสตรีตั้งครรภ์

การนวด กับสตรีตั้งครรภ์

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยกล้ามเนื้อซึ่งยึดติดกับกระดูก ช่วยในการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย โดยเกิดจากการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ หากเราใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งจนเกิดอาการปวดได้ การนวดจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งอ่อนนิ่มลง ทำให้ของเสียที่คั่งในกล้ามเนื้อไหลเวียนออกไปได้ รู้สึกผ่อนคลาย อาการปวดเมื่อยต่างหายไป ผู้ที่ได้รับการนวดจึงรู้สึกตัวเบาสบายนั่นเอง

คุณแม่ตั้งครรภ์ปวดเมื่อย เพราะสรีระเปลี่ยน

ขณะตั้งครรภ์ มดลูกที่อยู่บริเวณท้องน้อยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก น้ำหนักจะทิ้งลงมาข้างหน้า ร่างกายจึงพยายามชดเชยโดยเลื่อนจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายมาทางด้านหลัง ทำให้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เดินหลังแอ่น ประกอบกับข้อต่อต่างๆ ของร่างกายหลวมขึ้น ทำให้ท่าทางของร่างกายเปลี่ยนไป จึงมักมีอาการปวดหลังมาก โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน เกิดความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการตั้งครรภ์ อาจจะมีอาการปวดขา หรืออ่อนแรงบริเวณแขนร่วมด้วยได้

การปรับเปลี่ยนท่าทางบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้

  1. ท่านั่ง ควรนั่งตัวตรงให้สะโพกและหลังเหยียดตรง ถ้านั่งบนเก้าอี้ควรวางขาให้สบายและหาเก้าอี้ตัวเล็กมาวางเท้า หรือถ้านั่งพื้น ควรขัดสมาธิหลวมๆ จะช่วยลดอาการปวดหลังได้
  2. ท่ายืน ควรยืนตัวตรงเท้าแยกห่างกันเล็กน้อย และลงน้ำหนักให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง
  3. ท่าก้มหยิบของ ยืนให้ห่างจากของที่ต้องการหยิบเล็กน้อย ก้าวเท้าหนึ่งไปด้านหน้า ค่อยๆ ย่อตัวลงและคุกเข่า ใช้ปลายเท้าอีกข้างยันพื้นไว้ ยกของลุกขึ้นหลังตรง
  4. ท่านอนหงาย ควรนอนโดยใช้หมอนใบหนึ่งรองศรีษะและใช้หมอนอีกใบรองใต้เข่า ให้เข้างอเล็กน้อย ส่วนท่านอนตะแคงตวรใช้หมอนรองบริเวณศรีษะและหัวไหล่ อีกใบหนึ่งสอดรองบริเวณระหว่างขา

ระหว่างตั้งครรภ์ไปนวดได้หรือไม่?

แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12-28 สัปดาห์ หรือในช่วงตั้งแต่ 4 เดือนเป็นต้นไป สามารถนวดผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาจมีการกดจุดที่ผิดหรือใช้แรงในการนวดมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ เสี่ยงต่อการแท้งได้

ข้อควรระวังการนวดระหว่างตั้งครรภ์

ครวนวดด้วยความนุ่มนวล ไม่ลงน้ำหนักมือมากจนเกินไป และไม่ควรนวดบริเวณท้อง หากมีอาการปวดท้องน้อยซึ่งเกิดจากมดลูกบีบรัดตัวมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ควรใช้วิธีการลูบสัมผัสบริเวณหน้าท้อง ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และที่สำคัญคือไม่ควรกดจุดในตำแหน่งที่อันตรายต่อการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีส่วนใหญ่จะมีอาการเส้นเลือดขอดได้ง่ายบริเวณขาและน่อง การนวดบริเวณดังกล่าวอาจทำให้ลิ่มเลือดไหลไปอุดตันบริเวณที่สำคัญต่อร่างกายจนเกิดอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นวดหลังคลอดมีประโยชน์อย่างไร?

การนวดเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวจากการอยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ หรือหลังจากการทำงานหนัก ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้มีความยืดหยุ่นดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อก่อนการอยู่ไฟหลังคลอดได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยหลังจากการดูแลทารกได้ เช่น บริเวณกล้ามเนื้อบ่า หลัง ขาและกล้ามเนื้อบริเวณ ที่ต้องใช้เวลาอุ้มลูกและให้นม การนวดจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดลมและน้ำเหลืองดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นน้ำนม อีกทั้งยังช่วยลดอาการบวมของกล้ามเนื้ออีกด้วย

ขั้นตอนการนวดหลังคลอดตามแบบแพทย์แผนไทย

  1. จัดท่าทางให้เหมาะสม ที่ทำให้รู้สึกสบายที่สุด
  2. ควรนวดด้วยมือเท่านั้น ห้ามมีการบิดดัด สลัด ดึง จากนั้นนวดตามแนวกล้ามเนื้อ (แนวเส้นพื้นฐาน) เช่น บริเวณหลัง แขน บ่า ขา โค้งคอ ศีรษะ เป็นต้น
  3. ไม่ลงน้ำหนักของแรงในการนวดมาก เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อช้ำหรือระบมได้
  4. หลังจากนวดแล้ว ควรประคบสมุนไพร ช่วยให้พังผืดและกล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการบวมได้ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

Scroll to Top