Default fallback image

ไม่ชัวร์เสี่ยงมะเร็งตับไหม อยากตรวจคัดกรอง ต้องตรวจอะไรบ้าง

โรคมะเร็งตับเป็นมะเร็งพบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ชายไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ด้วย โดยช่วงแรกมักไม่มีอาการแสดงชัดเจน กว่าจะตรวจพบโรค หรือมีอาการให้สังเกตเห็น โรคอาจลุกลามไปมาก ยากต่อการรักษาให้หายขาด 

การตรวจคัดกรองมะเร็งตับเลยเปรียบเสมือนการป้องกันโรคได้ดีอีกทาง ช่วยให้รู้ทันความเสี่ยงโรค หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันท่วงที มีโอกาสรักษาหายขาดได้สูงตามไปด้วย 

การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ต้องตรวจอะไรบ้าง

การตรวจหามะเร็งตับแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 

ยังไม่มีอาการของมะเร็งตับ หรือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ

การตรวจคัดกรอง (Screening test) เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของโรคในคนที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ เช่น เป็นโรคตับแข็ง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี มีภาวะไขมันพอกตับ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งตับ

แพทย์จะแนะนำให้คนกลุ่มนี้ เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามความเสี่ยงแต่ละคน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตับ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเบื้องต้น นิยมใช้อยู่ 2 วิธี คือ

การเจาะเลือดวัดระดับสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP

ขั้นตอนเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป มีการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อดูระดับของสารบ่งชี้มะเร็งตับในเลือด ชื่อว่า แอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein) หรือ AFP ก่อนนำผลเลือดไปวิเคราะห์ร่วมกับประวัติทางการแพทย์ และผลตรวจอื่น

AFP เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย ปกติแล้วคนทั่วไปจะมีสาร AFP ในเลือดระดับต่ำ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งตับมักจะมี AFP อยู่ในเลือดระดับสูง

การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน

เป็นการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ที่ส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปบริเวณช่องท้องส่วนบน หรือตรงตำแหน่งของตับ เพื่อตรวจดูลักษณะของตับ ตรวจหาก้อนเนื้อ และความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม หากผลออกมาว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะส่งตรวจวินิจฉัยในลำดับต่อไป เพื่อยืนยันผลก่อน ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคมะเร็งตับเสมอไป ยังเป็นการคัดกรองความเสี่ยงเท่านั้น 

สงสัยว่าเป็นมะเร็งตับ มีอาการของโรค หรือการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ 

กรณีที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งตับ ตรวจพบค่าเลือดผิดปกติ คลำพบก้อน มีอาการจากโรคมะเร็งตับ หรือตรวจคัดกรองมะเร็งตับแล้วพบความเสี่ยงโรค จะมีการตรวจเพื่อยืนยันผลว่าเป็นโรคมะเร็งตับจริง หรือเรียกว่าตรวจวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับมีหลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการถ่ายภาพตับด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูโครงสร้างของตับ หาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติในตับที่มาจากโรคมะเร็ง
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRT) เป็นการถ่ายภาพตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นเสียง มีความคล้ายกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่จะมีความละเอียดสูงกว่า สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ชัดเจน 
  • การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อตับแล้วนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อตับ สามารถยืนยันผลการเป็นมะเร็งได้
  • การสแกนกระดูก (Bone scan) การสแกนกระดูกจะเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ช่วยบอกได้ว่าเป็นมะเร็งตับระยะใด หากมีการกระจายไปยังกระดูกแล้ว อาจเป็นมะเร็งตับระยะที่ 4 

เมื่อแพทย์วินิจฉัยยืนยันแล้วว่าผู้เข้ารับการตรวจเป็นโรคมะเร็งตับ แพทย์จะวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และระยะของโรคมะเร็งต่อไป

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับจะเน้นตรวจกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูง ได้แก่

  • คนชายอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • คนหญิงอายุ 50 ปีขึ้น
  • คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี
  • คนที่เป็นโรคตับแข็ง
  • คนที่มีภาวะไขมันพอกตับ
  • คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ โดยเฉพาะญาติสายตรง คือ พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง
  • คนที่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • คนที่มีโรคเรื้อรังบางชนิด โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับในคนที่มีความเสี่ยงสูงแนะนำให้ตรวจคัดกรองทุก 6 เดือนถึง 1 ปี หรือสามารถปรึกษาแพทย์ถึงระยะเวลาการตรวจที่เหมาะสมได้

สุดท้ายนี้ การดูแลตัวเองเป็นอย่างดีในทุกวัน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคตับ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับที่ควรทำควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้อยู่ห่างไกลโรคได้มากที่สุด 

สงสัยอาจเสี่ยงมะเร็งตับ อย่ารอช้า เช็กเลย! โปรตรวจสุขภาพตับและคัดกรองโรคมะเร็งตับ พร้อมรับคำแนะนำดูแลตัวเองจากคุณหมอ จองผ่าน hdmall.co.th รับโปรพิเศษ 

Scroll to Top