Default fallback image

เช็กอาการและความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งอีกชนิดที่พบบ่อย ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ปัจจัยหลักจะมาจากการสูบบุหรี่ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยเพิ่มโอกาสให้เป็นมะเร็งปอด แม้คนนั้นจะไม่สูบบุหรี่ การตรวจสุขภาพ หรือตรวจคัดกรองโรคตามความเสี่ยง และรู้เท่าทันโรคจะให้เราห่างไกลจากมะเร็งชนิดนี้ได้

รู้จักกับโรคมะเร็งปอด

ปอดเป็นอวัยวะสำคัญหนึ่งของร่างกายที่ใช้ในการหายใจ มีหน้าหลักในการแลกเปลี่ยนก๊าซ โดยนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย พร้อมปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่นอกร่างกาย และช่วยกรองสิ่งแปลกปลอมที่แฝงมาอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป

มะเร็งปอด (Lung cancer หรือ Bronchogenic carcinoma) มีอยู่หลายชนิดย่อย เช่น Squamous cell carcinoma, Adenocarcinoma, Adenosquamous carcinoma  และอื่น ๆ แต่สามารถจัดเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะเซลล์ คือ

1. มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer: NSCLC)

ผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 80% จะเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ แม้จะเป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อย แต่มีการเจริญเติบโตช้า และแพร่กระจายช้า   

2. มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer: SCLC) 

เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก แต่มีความร้ายแรงและรุนแรงกว่า สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว พบมากในคนที่สูบบุหรี่จัดมานานหลายปี สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น หรือมลภาวะทางอากาศ 

แม้มะเร็งปอดมีหลายชนิด แต่มะเร็งบางชนิดที่เริ่มต้นจากในปอดหรือรอบ ๆ ปอดจะไม่ถือว่าเป็นมะเร็งปอด และรักษากันคนละแบบ อย่างมะเร็งเนื้อเยื่อปอด (Pleural mesothelioma)

อาการมะเร็งปอด มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง 

จริง ๆ แล้ว โรคมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจคัดกรองเท่านั้นที่จะบอกได้ บางคนอาจจะตรวจเจอจากการตรวจเอกซเรย์ปอด หรือการตรวจสุขภาพ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือระบบอื่น จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น  

  • ไอเรื้อรัง หรือรุนแรงขึ้น อาจมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้
  • เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
  • ไอเป็นเลือด 
  • เสียงแหบ
  • มีปัญหาด้านการหายใจ เช่น หายใจติดขัด หายใจหอบ หรือหายใจมีเสียงหวีด
  • อาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดหัว 
  • ปวดกระดูก ปวดบริเวณไหล่ และปวดตามร่างกาย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการบวมตามใบหน้า ลำคอ และร่างกาย
  • มีก้อนหรือตุ่มตามผิวหนัง

หากพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการบางอย่างอาจไม่ใช่อาการของโรคมะเร็งปอดเสมอไป อาจจะเป็นอาการจากโรคปอดอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเกิดจากเซลล์ในเยื่อบุหลอดลมปอดเกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ในปอดเกิดการกลายพันธุ์และเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้องอก เมื่อก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของปอด

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือปล่อยทิ้งไว้ เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะ และระบบอื่น ๆ เช่น ระบบน้ำเหลือง และกระดูก 

โรคมะเร็งปอดเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

การสูบบุหรี่ และยาสูบทุกชนิด

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ และยาสูบทุกชนิด อย่างซิการ์และไปป์ เมื่อบุหรี่ถูกเผาไหม้จะเกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด และราว ๆ 60 ชนิด จัดเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เซลล์ปกติเกิดความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

ปัจจุบันมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ทุกชนิด และคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากกว่าคนไม่สูบบุหรี่มากถึง 10–30 เท่า เลยทีเดียว 

การได้รับควันบุหรี่มือสอง 

การหายใจสูดเอาควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ โดยเฉพาะคนใกล้ชิด ทำให้ได้รับควันพิษเข้าสู่ร่างกายเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่

พันธุกรรม

คนที่มีสมาชิกครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็งปอดได้สูงกว่าปกติ 23 เท่า แม้ไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม และมักจะพบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

การได้รับสารพิษหรือสารก่อมะเร็ง 

การได้รับสารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหินในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 เท่า หากสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะเสี่ยงมากขึ้น ส่วนสารพิษอื่น ๆ เช่น สารหนู ไอระเหยของน้ำมัน โลหะหนัก นิกเกิล โครเมียม

นอกจากนี้ การสูดเอาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศในชีวิตประจำวัน เช่น ควันรถ ควันเผาไหม้ ควันธูป และอื่น ๆ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้ บางพื้นที่ฝุ่นควันเหล่านี้มีสารก่อมะเร็งรวมอยู่ด้วย

สาเหตุอื่น ๆ 

  • มีประวัติการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น การฉายรังสีบริเวณหน้าอกเพื่อรักษามะเร็งเต้านม หรือการฉายรังสีรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะมีโอกาสกลับมาเกิดมะเร็งซ้ำ
  • โรคปอดและความผิดปกติเกี่ยวกับปอด เช่น ถุงลมโป่งพอง วัณโรค ปอดติดเชื้อ ปอดบวม ปอดอักเสบ เนื้องอกที่ปอด
  • อายุมากขึ้น ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ มักพบหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป 
  • การใช้สารเสพติดบางประเภท อย่างโคเคน

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดจำเป็นไหม

ทุกวันนี้ร่างกายอาจได้รับสารเคมี สารก่อมะเร็ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงโรคมะเร็งโดยไม่รู้ตัว การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

โดยแพทย์แนะนำให้คนที่ตรงกับเกณฑ์ต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี

  • คนที่มีอายุระหว่าง 5080 ปี
  • คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 ซองต่อปี
  • คนที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังไม่เกิน 15 ปี
  • คนที่ทำงานหรือต้องสัมผัสกับสารเคมี แร่ใยหิน
  • คนที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะญาติสายตรง
  • คนที่มีคนใกล้ชิดหรือคนรอบตัวสูบบุหรี่ 

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่นิยมใช้มีอยู่ 2 วิธี คือ การเอกซเรย์ปอดและทรวงอก เป็นการใช้รังสีเอกซ์ในการถ่ายภาพปอด เพื่อตรวจหาร่องรอยของโรคมะเร็ง กรณีพบสิ่งปกติจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้ทันที

อีกวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าการเอกซเรย์  คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีปริมาณต่ำ (Low dose CT scan) ภาพถ่ายรังสีที่ได้จะมีความละเอียดและชัดเจนมากกว่า เห็นความผิดปกติขนาดเล็กที่ตรวจไม่พบจากการเอกซเรย์ทั่วไป   

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้เข้ารับตรวจ เพราะอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความสะดวก โรคประจำตัว หรือค่าใช้จ่าย เป็นต้น

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดจากบางสาเหตุได้ โดยสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้สูบ และคนรอบข้าง 
  • หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง เช่น อยู่ให้ห่างจากคนที่สูบบุหรี่ สวมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองสารพิษ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษต่าง ๆ ให้มากที่สุด เช่น เมื่อต้องสัมผัสหรือสูดดมสารเหล่านั้น ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน หรือพยายามไม่อยู่ในสถานที่มีมลภาวะต่าง ๆ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมุลอิสระ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการอักเสบของร่างกาย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาการทำงานของร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ ลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ  
  • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามความเสี่ยง

เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ส่วนหนึ่งแล้ว หากรู้สึกกังวล หรือคาดว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด หรือวางแผนการป้องกันโรคตามความเสี่ยงได้ 

มะเร็งปอดใกล้ตัวกว่าที่คิด มีความเสี่ยงหรือไม่แน่ใจ ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจคัดกรอง เช็กแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด จองผ่าน HDmall.co.th รับราคาโปรไปเลย 

Scroll to Top