Default fallback image

5 โรคร้ายทำลายตับที่คุณอาจเสี่ยงกว่าที่คิด

ตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่กรองสารพิษ ย่อยไขมัน กระจายสารอาหารสู่ส่วนต่าง ๆ และอีกหลายหน้าที่ เมื่อตับมีปัญหาหรือเกิดโรคขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย

มาทำความรู้จักกับโรคร้ายทำลายตับ พร้อมสาเหตุ อาการ วิธีตรวจคัดกรองหรือวินิจฉัยโรคตับ เพื่อดูแลสุขภาพตับให้ดีขึ้นกัน

โรคร้ายทำลายตับที่ควรระวัง

โรคตับหรือโรคที่เกิดบริเวณตับมีอยู่หลายโรค อาการและสาเหตุของแต่ละโรคอาจต่างกันออกไป ตัวอย่างโรคร้ายทำลายตับที่ควรระวัง เช่น

1. โรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)

โรคไวรัสตับอักเสบเอเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ การได้รับเชื้อมักเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำไม่สะอาด มีการปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ เมื่อติดเชื้อแล้วสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่อื่นได้ด้วย

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอจะก่อให้เกิดการอักเสบของตับแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บชายโครง ตัวเหลือง ตาเหลือง หรืออาจถึงขั้นตับวายได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะเด็กหรือคนที่มีปัญหาด้านภูมิคุ้มกัน

โรคไวรัสตับอักเสบเอรักษาให้หายได้ เมื่อหายจากโรค ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ไม่เป็นโรคตับเรื้อรังเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น และมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอด้วย 

2. โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) 

โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี อาการคล้ายกับไวรัสตับอักเสบเอ แต่ช่องทางการติดต่อเกิดได้หลายทาง ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกระหว่างคลอด ทางเลือดและสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย และน้ำอสุจิ 

โรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถก่อให้เกิดการอักเสบของตับได้แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง กรณีเกิดการอักเสบของตับเรื้อรังจะมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไป 2–3 เท่า ปัจจุบันก็มีวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีที่ช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้ 

ลดความเสี่ยงไวรัสตับอักเสบ ตั้งแต่วันที่ยังไม่เสี่ยง โปรฉีดวัคซีนตับอักเสบเอ โปรฉีดวัคซีนตับอักเสบบี จองกับ HDmall.co.th เลือกฉีดที่ รพ. หรือคลินิกใกล้บ้านได้เลย

3. ไขมันพอกตับ (Fatty liver disease)

ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในตับมากเกินไปหรือ 5–10% ของตับ    สาเหตุเกิดได้จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เช่น

  • กลุ่มโรคจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • การใช้ยาบางชนิด 
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น กินอาหารพลังงานสูง ไขมันสูง หวานจัด และไม่ออกกำลังกาย 

ไขมันพอกตับมักไม่มีอาการแสดงออกให้เห็น คนส่วนมากเลยแทบไม่รู้ว่า หรือบางคนอาจตรวจเจอโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดหรือตรวจอัลตราซาวด์ตอนตรวจสุขภาพประจำปี 

ไขมันพอกตับระยะแรกจะยังไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของตับ หากปล่อยทิ้งไว้เกิน 6 เดือนหรือเป็นต่อเนื่องโดยไม่รักษา ตับจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เซลล์ตับเสียหาย และนำไปสู่โรคตับแข็งได้

4. โรคตับแข็ง (Cirrhosis)

ตับแข็งเกิดจากตับได้รับความเสียหายหรืออักเสบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ได้ โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบบี ไขมันพอกตับ และการดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจึงพยายามซ่อมแซมบาดแผลที่ตับซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นพังผืดหรือแผลถาวรที่ตับ 

ตับแข็งจัดเป็นโรคตับระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จากเดิมที่ตับเป็นอวัยวะอ่อนนุ่ม ทำหน้าที่ได้ตามปกติ เมื่อทำตับแข็ง ตับก็จะสูญเสียความสามารถในการทำงานไป ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา

5. มะเร็งตับ (Liver cancer)

มะเร็งตับเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งพบบ่อย มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก เพราะโรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือล่าช้า เลยส่งผลให้การรักษาช้าตามไปด้วย 

มะเร็งตับเป็นผลมาจากเซลล์ตับถูกทำลายบ่อย ๆ ทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ตับเสียหาย จนเกิดความผิดปกติขึ้น และกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่โตอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักที่มักเอื้อให้เกิดมะเร็งตับได้ง่ายมาจากโรคตับแข็ง และโรคไวรัสตับอักเสบที่เรื้อรัง

การตรวจสุขภาพ และการตรวจคัดกรองมะเร็งตับตามแพทย์แนะนำ จะช่วยให้รู้ถึงความเสี่ยง และวางแผนการรับมือก่อนที่โรคร้ายจะเกิดขึ้นหรือรุนแรงขึ้นได้

จะรู้ได้ยังไงว่าตับผิดปกติ เป็นโรคตับ

โรคตับในระยะแรก ๆ อาจสังเกตอาการได้ไม่ง่ายนัก และอาการโรคตับจะแตกต่างไปตามชนิดของโรคด้วย แต่ก็พอมีอาการให้สังเกตคร่าว ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ สีอุจจาระซีด ปัสสาวะสีเข้ม ปวดแน่นชายโครงเป็นประจำ ท้องบวม ท้องอืด จุดเสียด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย

หากพบอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด การวินิจฉัยหรือคัดกรองโรคตับที่มักใช้ทั่วไป ได้แก่ 

การตรวจเลือด
การตรวจเลือดบอกได้หลายอย่าง หลัก ๆ จะเป็นการตรวจการทำงานของตับ หรือเรียกกันว่าค่าตับ และการตรวจการติดเชื้อไวรัสที่อาจทำร้ายตับ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี

การตรวจสุขภาพตับอื่น ๆ
แพทย์จะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดต่าง ๆ ในการถ่ายภาพทางรังสี หรือตรวจดูลักษณะของตับ เพื่อหาความผิดปกติของตับ เช่น ซีทีสแกน (CT scan) อัลตราซาวด์ (Ultrasound imaging) และไฟโบรสแกน (Fibroscan) 

กรณีพบความผิดปกติหรือคาดว่าตับอาจมีปัญหาในการทำงาน แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกครั้ง

การอยู่ห่างจากโรคตับทุกชนิดสามารถเริ่มได้จากการปรับวิธีการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ 

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ อย่าลืมเข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ และตรวจสุขภาพประจำปี หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจสุขภาพตับที่จำเป็นร่วมด้วย 

ไม่มีอาการก็อาจเสี่ยงโรคตับได้ เช็กสุขภาพตับก่อนเสี่ยง ลองดู โปรตรวจสุขภาพตับ ราคาพิเศษจาก รพ. และคลินิกชั้นนำ ราคาดีมีเฉพาะที่ hdmall.co.th

Scroll to Top