ลูกไม่ยอมนอน แก้ได้ตรงจุดด้วยการหาสาเหตุที่แท้จริง 1

ลูกไม่ยอมนอน แก้ได้ตรงจุดด้วยการหาสาเหตุที่แท้จริง

การนอนหลับ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจำเป็นต่อการเรียนรู้รวมถึงความจำของเด็กเป็นอย่างมาก แต่หลายๆ ครั้ง ด้วยความซุกซน และอารมณ์สนุกสนานของเด็ก จึงทำให้พ่อแม่หลายคนเผชิญกับปัญหาลูกไม่ยอมนอน ซึ่งปัญหานี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื้อรัง เพราะปัญหาการนอนในเด็ก และวัยรุ่นจำนวนหนึ่งยังเป็นข้อบ่งชี้ถึงโรคทางจิตเวชแอบแฝงอยู่ด้วย

การนอนปกติในเด็กแต่ละวัย

เด็กแต่ละวัยมีลักษณะการนอนที่เป็นปกติแตกต่างกัน รวมถึงมีปัจจัยที่ทำให้หลับหรือตื่นแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้

1. วัยทารกถึงเด็กเล็ก

ทารกแรกเกิดจะนอนวันละ 16-20 ชั่วโมง ตื่นมาแค่กินนม เวลาตื่นสัมพันธ์กับอาการหิว ไม่สัมพันธ์กับกลางวัน หรือกลางคืน ต่อมาเมื่ออายุ 1-3 เดือนจะนอนหลับลดลงเป็น 15-16 ชั่วโมง และสัมพันธ์กับกลางวัน หรือกลางคืนมากขึ้น

จนเมื่ออายุได้ 6 เดือน เด็กจะเริ่มเปลี่ยนเป็นนอนกลางคืนได้ยาวต่อเนื่องนานถึง 6-9 ชั่วโมง และจะนอนกลางวัน 2-3 ครั้งต่อวัน จนกระทั่งหลังอายุ 9 เดือน เด็กส่วนมากจะนอนหลับได้ยาวตลอดทั้งคืน

เด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปีจะตื่นขึ้นในช่วงกลางคืน 3 -6 ครั้ง แต่จะสามารถหลับต่อได้ง่าย หากสภาพแวดล้อมเหมือนเดิมกับก่อนที่จะนอนหลับ

เด็กในวัยนี้จะลดการนอนกลางวันลงเรื่อยๆ จนเหลือครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และไม่ต้องนอนกลางวันอีกเมื่ออายุ 4-5 ปี

2. วัยเรียน  

เด็กวัยนี้โดยทั่วไปจะต้องการการนอนประมาณ 9-12 ชั่วโมง ซึ่งอาจแตกต่างกันตามกิจกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ถ้ามีการนอนเพียงพอ ปกติจะสามารถนอนหลับได้ภายใน 15-30 นาที เมื่อตื่นก็สามารถปลุกตื่นได้ไม่ยาก

ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ว่า เด็กนอนพอ หรือไม่จากพฤติกรรมในระหว่างวัน โดยอาจถามจากคุณครู เช่น มีเผลอหลับตอนกลางวันในระหว่างเรียนหรือไม่ หรือมีอาการงัวเงียหาวบ่อยระหว่างวันบ่อยแค่ไหน

วัยรุ่น 

เด็กวัยรุ่นต้องการการนอนประมาณ 8-10 ชั่วโมง แต่ด้วยวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง ต้องการมีสังคมกับเพื่อนๆ และมีกิจกรรม หรืองานอดิเรกในชีวิตมากขึ้น จึงทำให้เด็กวัยนี้มักนอนดึก และตื่นสาย ซึ่งเป็นภาวะปกติ

ดังนั้น ช่วงเวลาเปิดภาคเรียนซึ่งต้องตื่นมาเรียนแต่เช้า มักทำให้วัยรุ่นมีอาการนอนไม่พอ และกระทบต่อการเรียนได้ และจะมานอนชดเชยในวันหยุดแทน

ปัญหาการนอนที่พบบ่อยในเด็กวัยทารก และก่อนวัยเรียน

ในวัยทารก และเด็กก่อนวัยเรียน ปัญหาการนอนที่พบบ่อยประมาณ 10-40% คือ เด็กไม่ยอมนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน หลับยาก ตื่นบ่อย ไม่สามารถหลับต่อได้เอง

ปัญหานี้เกิดได้จากสาเหตุหลายประการ สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมอง จิตใจ และอารมณ์ รวมทั้งการเลี้ยงดู และการฝึกวินัยการนอนที่ดีให้แก่เด็ก

ปัญหาการนอนที่พบบ่อยในเด็กวัยทารก และก่อนวัยเรียนมี 2 รูปแบบ ดังนี้

1. การตื่น และงอแงในช่วงกลางคืน

ปัญหาเด็กตื่น และงอแงในช่วงกลางคืน (Trained night crier) คือ เด็กจะมีอาการตื่นขึ้นกลางดึก หลายคนตื่นแล้วก็จะร้องไห้เรียกหาพ่อแม่ เพราะต้องการให้ อุ้ม ปลอบ หรือเล่นด้วย จนกว่าจะหลับ ไม่สามารถหลับเองได้

เด็กที่มีปัญหารูปแบบนี้มักคาดหวังว่า เมื่อตื่นมาจะเห็นพ่อแม่อยู่ด้วยเสมอ เขาจึงมีพ่อแม่เป็นเงื่อนไขทุกครั้งที่จะหลับต่อได้ ทำให้พ่อแม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่ออุ้มเด็ก แล้วกล่อมจนหลับ หรือต้องตื่นมาเล่นด้วยจนเด็กง่วงแล้วหลับไป

สาเหตุของปัญหาเด็กตื่น และงอแงในช่วงกลางคืน มักเกิดจากพ่อแม่มีพฤติกรรมชอบอุ้มเด็กเดินไปมาจนหลับ หรือชอบเล่นกับเด็กในช่วงเวลาที่เขาต้องนอน ไม่เคยกล่อมเด็กให้หลับในเวลานอนที่ตรงเวลาทุกๆ คืน รวมถึงไม่เคยปล่อยให้เด็กนอนหลับเองให้ได้

2. การตื่นเพราะหิวในช่วงกลางคืน

ปัญหาเด็กตื่นเพราะหิวในช่วงกลางคืน (Trained night feeder) คือ ปัญหาที่เกิดจากเด็กถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการตื่นมากินนมตอนกลางคืน เนื่องจากพ่อแม่เคยตอบสนองการร้องของลูกทุกครั้งด้วยการให้นม ไม่ว่าจะหิวจริงหรือไม่

และเนื่องจากกังวลว่า เด็กจะหิว พ่อแม่จึงเอานมให้เด็กกินทุกครั้งที่ร้อง ซึ่งบางครั้งเด็กไม่ได้หิวจริง เพียงแต่เกิดจากปฏิกิริยาอัตโนมัติโดยปกติ ที่เมื่อได้ขวดนมใส่ปาก เด็กจะดูด และหยุดร้อง

ปัญหารูปแบบนี้มักพบในทารก หรือเด็กที่พ่อแม่ให้นมจนลูกหลับคาเต้า คาขวดนม และทิ้งขวดนมไว้ในเปล จึงสร้างเงื่อนไขให้เด็กหลับพร้อมขวดนม แม้จะไม่ได้หิวก็ตาม

นอกจากนี้ปัญหาเด็กตื่นเพราะหิวในช่วกลางคืนยังจะสร้างสุขนิสัยการนอนที่ไม่ดี และยังมีผลเสียกับสุขภาพฟันตามมาด้วย โดยมักจะเป็นอาการฟันผุจากการดูดขวดนม (Nursing bottle caries)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้น ความผิดปกติของการนอนจะเปลี่ยนไปจากวัยทารก เช่น มีอาการละเมอกลัวร้องตกใจ (Sleep terror) ละเมอเดิน (Sleep walking) ฝันร้าย (Nightmares) มีรายละเอียดดังนี้

  • ละเมอกลัวร้องตกใจ (Sleep terrors) พบเมื่ออายุ 3-8 ปี เป็นอาการตกใจกลัวรุนแรง กรีดร้องเสียงดัง หัวใจเต้นแรง เหงื่อแตก เป็นช่วงต้นๆ ของการนอนหลับ อาการรุนแรงช่วง 1-5 นาทีแรก หรือนานกว่านั้น จนกระทั่งเมื่อแล้วเริ่มผ่อนคลาย หรือหลับต่อได้ เด็กจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ พ่อแม่จึงไม่ควรปลุกตื่นมาเนื่องจากเด็กจะตกใจ ควรตอบสนองให้น้อย ปลอบให้หลับต่อให้เร็ว อาจพบบ่อยช่วงที่มีความเครียด และอาการจะหายไปเองก่อนเข้าวัยรุ่น
  • ละเมอเดิน (Sleep walking) อาการคล้ายละเมอร้องไห้ตกใจ แต่เริ่มเมื่ออายุมากกว่า อาจพบในวัยเรียน มักพบปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย เด็กจะตื่นแล้วลุกเดิน ลืมตาแต่ไม่รู้สึกตัว ต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุตกบันได หรือเดินออกจากห้อง
  • ฝันร้าย (Nightmares) มักเริ่มตั้งแต่อายุ 3-6 ปีที่เริ่มมีจินตนาการ พบได้ไปจนถึงวัยรุ่น เรื่องที่ฝันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่จำเหตุการณ์ได้
    อาการฝันร้านมักเกิดในเวลาเช้ามืด ปัจจัยเรื่องการอดนอน หรือความกังวลทำให้ฝันร้ายบ่อยขึ้นได้ ควรแก้ไขโดยการงดดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาตื่นเต้น หรือน่ากลัวก่อนเข้านอน แก้ไขสาเหตุความเครียด และนอนให้เพียงพอตามวัย

อย่างไรก็ตาม หากลูกนอนแล้วร้องโวยวายมากหรือนาน ผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

เมื่อเข้าสู่วัยเรียน มักมีปัจจัยกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการนอนของเด็กมากขึ้น จึงพบปัญหาการนอนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติของการนอนเอง และโรคอื่นๆ เช่น

  • ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่เล็กๆ
  • โรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เด็กสมาธิสั้น ซึ่งส่วนมากมักมีปัญหาการนอนร่วมด้วย

เพื่อป้องกันสาเหตุซึ่งเกิดจากสุขภาพ เมื่อตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจึงควรไปฝากครรภ์ และตรวจสุขภาพเพื่อให้แน่ใจว่า ลูกน้อยร่างกายแข็งแรงดี รวมถึงเมื่อคลอดลูกเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมพาเด็กไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอด้วย

แนวทางแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมนอน

พ่อแม่ควรสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี เพื่อแก้ปัญหาลูกไม่ยอมนอน โดยมีแนวทางดังนี้

  • สนับสนุนให้เด็กหลับบนเตียง ที่นอน หรือเปลของตัวเองขณะยังตื่นอยู่เสมอ เมื่อลูกเคลิ้มหลับ หรือเริ่มง่วงนอน ให้วางเด็กขณะยังไม่หลับสนิท ไม่อุ้มเดิน หรือให้นมจนหลับ เพราะจะสร้างเงื่อนไขการนอนที่ไม่ถูกต้องแก่เด็ก
  • ควรงดนมมื้อกลางคืนให้เด็กหลังอายุได้ 6 เดือน
  • งดกิจกรรมที่เป็นการกระตุ้น หรือเล่นมากเกินไปก่อนเข้านอน เด็กจะสนุกเกินไป ให้เปลี่ยนเป็นกิจวัตรที่สบายๆ ผ่อนคลาย ในช่วง 20-30 นาทีก่อนเข้านอน เช่น ร้องเพลงกล่อมเบาๆ พูดคุยเบาๆ เล่านิทาน สวดมนต์ เป็นต้น
  • จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอนหลับ คือ สงบ มืด อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีโทรทัศน์ หรือสิ่งเร้าอื่นๆ สำหรับทารกควรแยกเตียงนอนกับพ่อแม่
  • เมื่อเด็กตื่นกลางคืน ไม่ควรให้นมทันที ควรตรวจสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก่อน เช่น ผ้าอ้อมเปียกชื้นหรือไม่ อากาศร้อน หรือเย็นเกินไปหรือไม่ จากนั้นเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม แล้วลองตบก้นกล่อมให้เด็กหลับก่อน
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กนอนกลางวันที่ใกล้กับเวลานอนกลางคืนมากเกินไป หรือนอนกลางวันบ่อยเกินไป โดยอาจปรับเวลาจากนอนใกล้หัวค่ำ เป็นนอนช่วงบ่ายๆ แทน
  • กำหนดเวลาเข้านอน และตื่นนอนให้ตรงเวลา และสม่ำเสมอมากที่สุด

และอีกสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับการฝึกสุขลักษณะนิสัยการนอนที่ดีให้กับลูกอย่างเหมาะสมในทุกช่วงวัย

หากสงสัยว่า ลูกมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมต่อไป


เขียนบทความโดย พญ. ชนิกา แก้วเกิดศิริ

Scroll to Top