iud treatment process

ใส่ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร มีโอกาสท้องไหม?

การใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ หรือการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ได้มาตรฐาน และได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ผลข้างเคียงต่ำ แต่หลายคนอาจกังวลว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไร เจ็บไหม ป้องกันท้องได้กี่เปอร์เซ็นต์ บทความนี้รวบรวมทุกข้อมูลที่คุณควรทราบเอาไว้แล้ว

ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร

ห่วงคุมกำเนิด หรือที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ ห่วงอนามัย (Intrauterine Device: IUD) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็ก ที่ใช้สอดเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

การใส่ห่วงคุมกำเนิดถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ถูกใช้มานับร้อยปี มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก ทั้งยังมีผลข้างเคียงต่ำ จึงเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้รับความนิยม

ห่วงคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

เมื่อสอดห่วงคุมกำเนิดเข้าไปในโพรงมดลูกแล้ว ห่วงคุมกำเนิด จะทำหน้าที่รบกวนและขัดขวางไม่ให้ไข่ปฏิสนธิ และทำให้มดลูกมีสภาวะที่ไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์

โดยหลักการทำงานของห่วงคุมกำเนิดจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ตามชนิดของห่วงคุมกำเนิด ได้แก่ ชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ และชนิดที่มีสารออกฤทธิ์

1. ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีสารออกฤทธิ์

ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีสารออกฤทธิ์นี้ ถือเป็นชนิดที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เพราะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่สูงกว่า ชนิดไม่มีสารออกฤทธิ์ และยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 รูปแบบ ตามชนิดของสารออกฤทธิ์ที่เคลือบบนห่วงคุมกำเนิด ได้แก่

  • ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารทองแดง

สารทองแดงที่เคลือบอยู่บนพื้นผิวของห่วงคุมกำเนิด จะถูกปล่อยออกจากห่วงทีละน้อย เพื่อทำให้ร่างกายไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ โดยผู้ใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ จะมีระดับทองแดงในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่จะไม่ส่งผลต่อความผิดปกติของร่างกายแต่อย่างใด

ทั้งนี้หลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว ระยะเวลาในการคุมกำเนิดจะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี หรืออาจยาวนานถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง รวมทั้งปริมาณของพื้นที่ผิวทองแดงด้วย โดยยิ่งมีพื้นที่ผิวทองแดงมาก ระยะเวลาในการคุมกำเนิดก็จะยาวนานขึ้นตามไปด้วย

ส่วน จะสัมพันธ์กับปริมาณพื้นที่ผิวทองแดง รวมทั้งระยะเวลาที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด โดย ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง เมื่อปริมาณพื้นที่ผิวทองแดงลดน้อยลง

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงปีแรกโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 0.6% ขณะที่เมื่อผ่านไป 7 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 1.4% แต่ภายหลัง 8-12 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2% 

นอกจากนี้ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารทองแดง ยังสามารถใช้คุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยต้องใส่ห่วงอนามัย ภายใน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์

  • ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน

หลักการทำงานของห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้ คล้ายคลึงกับชนิดเคลือบทองแดง เพียงแต่เปลี่ยนสารออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเท่านั้น โดยฮอร์โมนที่นิยมเคลือบบนห่วงคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนโพรเจสติน หรือฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนสังเคราะห์ มีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรนในร่างกาย

สำหรับชนิดที่เคลือบฮอร์โมนโพรเจสติน จะเพิ่มกลไกการหนาตัวของมูกบริเวณปากมดลูก ป้องกันการเคลื่อนตัวของอสุจิ และยังทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวอ่อน

ระยะเวลาในการคุมกำเนิด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฮอร์โมนที่เคลือบบนห่วงคุมกำเนิด โดยจะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี ยิ่งปริมาณฮอร์โมนมาก ระยะเวลาในการคุมกำเนิดก็ยาวนานขึ้น

สำหรับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ก็สัมพันธ์กับปริมาณของฮอร์โมน รวมทั้งระยะเวลาที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดเช่นกัน โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง เมื่อปริมาณฮอร์โมนลดน้อยลง

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงปีแรกโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 0.41% และภายในระยะเวลา 3 ปี โอกาสการตั้งครรภ์จะสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.9%

นอกจากใช้คุมกำเนิดแล้ว ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน ยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น ได้แก่ ภาวะมีประจำเดือนมาก ภาวะปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

2. ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์

ห่วงอนามัยชนิดไม่มีสารออกฤทธิ์ จะทำหน้าที่กระตุ้นกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งกระบวนการนี้เป็นพิษต่อตัวอสุจิ และไข่ และยังขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

ส่วนอายุการใช้งานห่วงคุมกำเนิดนี้ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนด และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนห่วงอนามัย แต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดต่ำกว่าห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารออกฤทธิ์ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก

ขั้นตอนการใส่ห่วงคุมกำเนิด

การใส่ห่วงคุมกำเนิด ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย แต่เป็นขั้นตอนที่ง่าย และใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที โดยไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ ดังนี้

  • แพทย์ทำความสะอาดบริเวณปากมดลูก ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วตรวจดูตำแหน่งของมดลูก
  • สอดห่วงคุมกำเนิดผ่านปากมดลูกเข้าในโพรงมดลูก 
  • แพทย์จะเหลือปลายข้างที่มีสายด้ายไนลอนของห่วงอนามัย ยื่นจากปากมดลูกมาอยู่ที่ช่องคลอด และผูกไว้ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร สำหรับตรวจห่วงหลังใส่ห่วงเสร็จแล้ว
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณปากมดลูกอีกครั้ง เป็นอันเสร็จ

หลังใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วจะให้สักเกตอาการประมาณ 15-20 นาที หากไม่มีอะไรผิดปกติ ก็กลับบ้านได้เลย 

ใน 2-3 วันแรกหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด อาจมีเลือดออกได้บ้างเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีเลือดออกมาก มีอาการปวดท้อง มีไข้ หาวงหลุด หรือความผิดปกติใดๆ ควรรีบมาพบแพทย์

ทั้งนี้หลังจากใส่ห่วงอนามัยประมาณ 1-3 เดือน แพทย์จะนัดตรวจติดตามผล ว่าห่วงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมไหม มีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ โดยถ้าผ่านไป 3-4 เดือนแล้ว ห่วงไม่มีการเคลื่อนตัวหรือหลุด โอกาสที่ห่วงจะหลุดจะมีน้อยมาก

ใส่ห่วงคุมกำเนิดเจ็บไหม? ต้องฉีดยาชา วางยาสลบ หรือนอนโรงพยาบาลหรือเปล่า

การใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นหัตถการที่ไม่ซับซ้อน มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา หรือวางยาสลบแต่อย่างใด ผู้รับบริการส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่บางคนอาจจะรู้สึกเสียว หรือหน่วงๆ ตรงท้องน้อยเล็กน้อยขณะที่แพทย์สอดห่วงคุมกำเนิดเข้าไปเท่านั้น

เมื่อทำเสร็จ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

ข้อดีของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

  • ง่าย สะดวก ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงและมีระยะเวลานาน ประมาณ 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงที่ใส่
  • ผลข้างเคียงน้อยมาก เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือการยาฉีดคุมกำเนิด ที่บางรายอาจ รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เป็นฝ้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • ไม่ทำให้ความรู้สึกในมีเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไปหรือน้อยลง
  • ประจำเดือนมาทุกเดือนตามปกติ
  • สามารถถอดห่วงออก เมื่อต้องการกลับมามีบุตรอีกครั้ง และกลับมาตั้งครรภ์ได้เร็วกว่าการคุมกำเนิดแบบฉีดยาหรือรับประทานยาคุมกำเนิด

ข้อเสีย ข้อจำกัดในการใส่ห่วงคุมกำเนิด

  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
  • บางคนอาจรู้สึกเจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อย เมื่อใส่ห่วงและนำห่วงออก
  • อาจมีอาการปวดและเกร็งหน้าท้องในช่วงที่มีประจำเดือน หรือทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • สายไนลอนในช่องคลอดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์
  • อาจเกิดการติดเชื้อ การอักเสบของอุ้งเชิงกราน หรือมดลูกทะลุจากห่วงอนามัย ซึ่งพบในอัตราน้อยมาก

ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนหลังการใส่ห่วงอนามัยเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจขึ้นได้บ้าง เช่น

  • เลือดออกกะปริบกะปรอย
  • ปวดประจำเดือนมากขึ้น หรือประจำเดือนผิดปกติ
  • ปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย หรือมีอาการปวดหลัง
  • เสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  • ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เป็นสิว น้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะขนดก เจ็บคัดตึงเต้านม
  • หากห่วงอนามัยเคลื่อนไปในตำแหน่งไม่เหมาะสม จะทำให้มีอาการปวดบีบท้องน้อย ประจำเดือนมามากผิดปกติ

ค่าใช้จ่าย ราคาในการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ค่าใช้จ่ายในการใส่ห่วงคุมกำเนิด จะเริ่มต้นที่ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง ค่าบริการทางการแพทย์และสถานพยาบาล

การคุมกำเนิดวิธีนี้ อาจมีราคาที่สูงกว่าวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นๆ เช่น ถุงยางอนามัย หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด แต่เป็นการทำเพียงครั้งเดียว แล้วส่งผลในระยะยาว เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการรับประทานยาให้ตรงเวลา ก็ถือว่าเป็นการคุมกำเนิดที่ดีรูปแบบหนึ่ง

อยากคุมกำเนิดชั่วคราว ทำวิธีไหนดี ใส่ห่วงคุมกำเนิดเหมาะกับเราจริงหรือเปล่า หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top