ขนคุดเป็นโรคที่ในทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่มของโรครูขุมขนอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนที่ทำให้เส้นขนมีการขดอยู่ในรูขุมขน หรือการติดเชื้อภายในรูขุมขนแล้วอักเสบ ทำให้ผิวหนังแลดูไม่เรียบเนียน แต่เป็นตุ่มตอลูบแล้วรู้สึกสะดุดมือไม่สวยงาม
สารบัญ
สาเหตุของการเกิดขนคุด
โรคขนคุดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากสาเหตุที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติพันธุกรรมเป็นโรคภูมิแพ้มักจะมีโอกาสเสี่ยงต่อเป็นโรคขนคุดได้ง่าย โดยจะเกิดความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนจากสารเคราติน จึงส่งผลให้เส้นขนไม่สามารถงอกทะลุผ่านรูขุมขนออกมาได้ กลายเป็นขนคุดที่อยู่ในรูขุมขนและอาจจะอักเสบเป็นฝีหรือหนอง
- ตำแหน่งสรีระทางกายภาพ ขนคุดที่เกิดกับผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการขนคุดที่บริเวณใต้คาง ต้นคอ ท้ายทอย หรือขาหนีบ โดยมีลักษณะเนื้อที่พับทับกัน ส่วนคนที่มีผมหยิกก็อาจจะเกิดปลายผมทิ่มผิวหนังในรอยพับนั้น แล้วเกิดการอักเสบหรือทำให้เส้นขนเบียดอยู่ในรูขุมขนจนกลายเป็นขนคุดได้
- การกำจัดขนหากเรากำจัดขนอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการโกนขน ถอนขน หรือแว็กซ์ขนในลักษณะทวนทิศทางการงอกของเส้นขน จะส่งผลให้เกิดปลายแหลมที่ไปทิ่มรูขุมขนจนอักเสบได้
ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคขนคุดบ้าง
โรคขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ซึ่งพบมากถึง 50 – 80% ในวัยเด็ก และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอาจจะเกิดขึ้นเป็นโรคเดี่ยวหรือเป็นร่วมกับโรคอื่นอย่างเช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผิวหนังเกล็ดปลา และมักจะพบในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน รวมถึงเป็นได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งและเย็น
วิธีรักษาขนคุด
โรคขนคุดยังเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนการรักษาโรคขนคุดนั้นจะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยมีจุดประสงค์ให้เคราตินที่อุดตันในรูขุมขนนั้นหลุดลอกออก และจะเริ่มเห็นผลลัพธ์หลังการรักษาได้ตั้งแต่ 1–3 เดือน
1. ใช้แหนบถอนขน
วิธีนี้ควรใช้กับขนคุดที่งอกออกมาจากรูขุมขนแล้วเท่านั้น ถ้าขนยังอยู่ใต้ผิวหนังอยู่ไม่ควรเอาแหนบไปแคะจนเลือดซิบเด็ดขาด วิธีที่จะทำให้ขนโผล่ออกมาได้ง่ายคือการเช็ดบริเวณนั้นด้วยน้ำอุ่น และสครับผิวเบาๆ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง การทำเช่นนี้จะทำให้รูขุมขนเปิด และถอนขนได้ง่ายขึ้น แม้วิธีนี้จะง่ายและประหยัดสุดๆ แต่ก็ต้องใจแข็งไม่น้อย เพราะอาจเจ็บปวดจนน้ำตาร่วงได้เหมือนกัน
2. การใช้ยา/ครีม
ยาที่ช่วยกำจัดขนคุดมีหลายชนิด แต่อย่าลืมว่าจุดเร้นลับตรงนั้นเป็นส่วนเฉพาะที่มีผิวบอบบางเป็นพิเศษ การเลือกยาหรือครีมมาใช้จึงต้องดูให้ถ้วนถี่ ยาที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ได้แก่
- ครีมผลัดเซลล์ผิว ที่มักมีส่วนผสมเป็นกรดชนิดต่างๆ เช่น กรดวิตามินเอ กรดซาลิไซลิก ซึ่งจะช่วยผลัดเคอราตินที่ผิวหนัง และทำให้ขนคุดลดลงได้ แต่มีข้อเสียคืออาจกัดและระคายเคืองผิวที่บอบบางได้ ดังนั้น จึงไม่ควรเริ่มใช้ด้วยการชโลมอย่างหนักมือ แต่ควรค่อยๆ ทาทีละนิดดีกว่า
- ยาทาสเตียรอยด์ มักใช้สำหรับแก้อาการแสบคัน และตุ่มแดง มากกว่าจะช่วยรักษาขนคุดโดยตรง ยาสเตียรอยด์ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น และควรใช้แต่น้อย เนื่องจากการทาเป็นประจำจะทำให้ผิวบางลงได้
3. การเลเซอร์
การใช้เลเซอร์แบบต่างๆ เช่น ไอพีแอล (IPL) จะช่วยกำจัดขนให้ลดน้อยลง ลดจำนวนตุ่มขนคุดที่เส้นขนไม่สามารถงอกได้ตามปกติ รักษาอาการแดง ระคายเคือง และรอยดำจากขนคุดได้ แต่วิธีนี้อาจมีราคาสูง ต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง และไม่สามารถรักษาความขรุขระของผิวได้มากนัก
การป้องกันและการดูแลตนเอง
เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคขนคุด สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยการทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำ พร้อมกับเลือกใช้สบู่อ่อนๆ อย่างเช่นสบู่เด็กเพื่อลดอาการระคายเคือง และงดการอาบน้ำอุ่น อีกทั้งให้งดการสครับผิวขณะที่กำลังเป็นขนคุด เนื่องจากจะทำให้ตุ่มขนคุดนั้นอักเสบมากขึ้น
นอกจากนี้ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มขนคุด เพราะจะส่งผลให้เป็นแผลแดงและอาจทำให้เลือดออกได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดแผลและรอยดำด้วยเช่นกัน จากนั้นควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ ไม่รัดหรือเสียดสีบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคขนคุด จึงเป็นการช่วยลดอาการบวมแดงได้อีกทางหนึ่ง
โรคขนคุดเป็นโรคที่มิอาจระบุสาเหตุที่มาได้ชัดเจน แต่เราสามารถดูแลและป้องกันในระดับเบื้องต้นได้ เช่น การกำจัดขนอย่างถูกวิธี พยายามควบคุมน้ำหนักเพื่อรักษารูปร่างไม่ให้ผิวหนังเกิดชั้นพับกัน และหากพบว่าเป็นโรคขนคุดก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องในลำดับต่อไป
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับขนคุด
ขนคุดหายเองได้ไหม เกิดจากอะไร ?
โรคขนคุด ที่มักจะเป็นการรักษาไม่หายขาด แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร แล้วทำไมถึงสามารถขยายพื้นที่แสดงอาการได้ มีการรักษากี่วิธี แล้ววิธีไหนช่วยทำให้หายขาด ไม่กลับมาเป็นและเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่
ขนคุด (Keratosis pilaris) เป็นภาวะที่ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ เกิดเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง อาจเกิดจาก พันธุกรรม หรือ บางคนที่มีพฤติกรรมชอบถอนขน (เช่น ขนรักแร้) ขนออกใหม่อาจไม่โผล่พ้นผิวหนัง เกิดขนคุดขึ้น
วิธีรักษา
- ถ้าเกิดจากพฤติกรรมการถอนขน ก็ให้เลิก
- ใช้ยาทาเร่งผลัดเซลล์ผิวอุดตัน (Keratolytic) เช่น Alpha hydroxyl acid (AHA), Salicylic acid, อนุพันธุ์ของวิตามิน-เอ ชนิดทา (Topical Isotretinoin)
ตอบโดย นพ. ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก)
ขนคุดหรือโรคขนคุด (keratosis pilaris) เกิดจาก การก่อตัวของเซลล์ (ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า keratin pug เป็นโปรตีนชนิดเดียวกับทีพบในผมและเล็บหรือเคอราติน) ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของผิวหนังเรียกว่าชั้นขี้ไคล และมักจะสะสมอยู่ตามรูขุมขนปกติจะหลุดออกไปตามธรรมชาติ ซึ่งบางท่านอาจพบปัญหาเครราตินมากผิดปกติ หรือ ผิวหนังหนา ส่งผลให้เส้นขนไม่สามารถโผล่ทะลุออกมาได้ทำให้มีการอุดตันเส้นขน คล้ายรูขุมขนอักเสบหรือคล้ายสิว จึงทำให้เกิดตุ่มแดงหรือสีเนื้อจนทำให้ผิวสากได้ครับ
สาเหตุเกิดจาก
- อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดขนคุด
- ความเครียด ถ้าบางคนมีเชื้อกรรมพันธุ์อยู่แล้วก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการขนคุดได้
- การขาดวิตามินดี
วิธีการรักษา
1. อาบน้ำด้วยสบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยนและมีมอยส์เจอร์ไรส์เซอร์ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว และช่วยผลัดเซลล์ผิวได้ด้วยยิ่งดี แนะนำสบู่เหล่านี้
- สบู่ที่มีส่วนผสมของนม (เช่น นมแพะ) หรือ ข้าวโอ๊ต
- สบู่นม ซึ่งในนมมีสารlactic acid ช่วยทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ทำให้ผิวไม่สาก
- สบู่ glycerin หรือ ข้าวโอ๊ต ทั้ง glycerin และ ข้าวโอ๊ตจะช่วยผลัดเซลล์ผิว และทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น
2. คนที่มีอาการขนคุดไม่ควรอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้ง และไม่ควรใช้สครับขัดผิวที่ขัดผิวแรงๆ เช่นเกลือขัดผิว
3. ทานวิตามินดี (Vitamin D)ในกรณีบางท่านที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดอ่อนๆอาจทำให้ขาดวิตามินดี ได้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดขนคุด ครับ
ตอบโดย นพ. สุเทพ สุขนพกิจ
ขนคุด ทายาไม่หาย เลเซอร์ขนได้ไหม
เป็นขนคุดบริเวณเเผ่นหลัง กับต้นแขนค่ะ เป็นมานานเเล้วค่ะ ไม่อักเสบแต่เป็นตุ่มๆทั่วทั้งแผ่นหลังและต้นแขนเลยค่ะ หาคุณหมอทายารักรักษาเกี่ยวกับขนคุดแต่ไม่หายค่ะ ไม่ทราบว่าทาง รพ.มีวิธีรักษาอย่างไรบ้างคะ เลเซอร์ขนช่วยได้ไหมคะ
การรักษาขนคุด ครีมยาช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แพทย์จะให้ใช้ครีมยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี กรดแลคติก กรดซาลิไซลิก หรือยูเรีย ซึ่งนอกจากครีมที่มีส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยผลัดและกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป ยังช่วยให้ความชุ่มชื้นและช่วยให้ผิวที่แห้งกร้านมีความนุ่มนวลขึ้น
ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แพทย์จะให้ครีมยาวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์และป้องกันการอุดกั้นของรูขุมขน อย่างไรก็ตาม ครีมยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือผิวแห้งได้
ทำเลเซอร์ไอพีแอล หรือเพาซ์ดายเลเซอร์ จะช่วยในการลดอาการแดงที่ผิวหนัง แต่จะไม่สามารถลดความหยาบหรือผิวที่ขรุขระได้ หรือบางรายอาจแนะนำให้ทำเลเซอร์กำจัดขนค่ะ
ตอบโดย พว. วลีรักษ์ จันทร
ขนคุดที่ต้นแขน ค่ารักษาเท่าไหร่ ?
ถ้าเป็นขนคุดหรือมีอาการแบบนี้ที่ต้นแขนเข้าไปรักษาที่ รพ. จะมีค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ประมาณเท่าไหร่ครับ
ขนคุด หรือ keratinosis pilaris ที่บางส่วนมีอาการอักเสบ เป็นรุขุมขนอักเสบ หรือ folliculitis เริ่มแรกอาจเป็นเหมือนตุ่มหนอง คล้ายสิว ขึ้นตามแขนขา หรือ บริเวณที่มีรูขุมขน เมื่อฝ่อลงจะกลายเป็นสีดำ หรือถ้ามีการแกะเกาบ่อยๆ อาจเป็นแผลเป็นได้ และอาจมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ค่ะ
สาเหตุ เป็นได้หลายอย่างค่ะ ตั้งแต่ การ ติดเชื้อ, การรักษาสุขอนามัยไม่ดี, โรคทางภูมิคุมกันผิดปกติต่างๆ เป็นต้น
การรักษาเบื้องต้นของรูขุมขนอักเสบ แนะนำว่า
- งดอาบน้ำร้อน ให้อาบน้ำที่อุณหภูมิห้อง
- ทาโลชัน ให้ความขุ่ทชื้นสม่ำเสมอ
- รักษาความสะอาดของผิวหนังบริเวณดังกล่าว ไม่ควรอับชื้น
- งดแคะแกะเกา หรือบีบ อาจทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้น และอาจทำให้เป็นรอยช้ำ หรือรอยดำได้
- ถ้าเป็นมากแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพ้่ทเติม อาจได้ยาสเตียรอยด์ หรือยาฆ่าเชื้อมาทา
การรักษาโรคตามสิทธิ์ เช่น สิทธิ์ 30 บาท สิทธิ์ ประกันสังคม สิทธิ์เบิกตรงตามรพ ต้นสังกัด สามารถใช้บริการฟรีที่รพ ต้นสังกัดค่ะ
หากเป็น รพ เอกชน อาจเสียค่าใช้จ่าย ครั้งละ 500-1000 บาท(ทั้งนี้ ไม่รวมค่าเลเซอร์ หากต้องการรักษารอยด่างดำ หรือยาพิเศษอื่นๆ เช่น โลชันพิเศษต่างๆ นอกจากยาฆ่าเชื้อและสเตรยรอยด์นะคะ ขึ้นกับแพทย์พิจารณาอีกครั้งค่ะ)