เมื่อพูดถึงการรักษาโรคซึมเศร้า หลายคนน่าจะคิดถึงการใช้ยารักษา ไม่ก็การบำบัดผ่านการพูดคุย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยี TMS เป็นการรักษาทางเลือกผู้ป่วยซึมเศร้าอีกวิธีที่เริ่มพูดถึงกัน
เทคโนโลยี TMS หรือการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น เพราะด้วยประสิทธิภาพที่สูงไม่แพ้การใช้ยาและมีผลข้างเคียงต่ำมาก มาทำความรู้จักเทคโนโลยีนี้ไปพร้อมกันในบทความนี้เลย
สารบัญ
โรคซึมเศร้าคืออะไร รักษาหายไหม
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างถูกวิธี เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ผู้ป่วยโรคนี้มักรู้สึกเศร้า หมดหวัง ท้อแท้ ไร้เรี่ยวแรง เบื่อหน่ายกับทุกสิ่ง มีปัญหาด้านความจำ การกิน หรือการนอน ทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคซึมเศร้ายังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของสมองหรือความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง เหตุการณ์สะเทือนใจ พันธุกรรมจากคนในครอบครัว โรคประจำตัว การใช้ยาบางชนิด รวมถึงปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ หรือเศรษฐกิจ
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ และกว่า 80-90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
โดยจิตแพทย์จะช่วยเหลือและเยียวยาผู้ป่วยผ่านวิธีการใช้ยารักษา การบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk Therapy) รวมถึงการบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง (Brain stimulation therapy) อย่างวิธีกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
TMS เป็นหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ดื้อยา
TMS คืออะไร ทำงานอย่างไร
เทคโนโลยี TMS ย่อมาจาก Transcranial Magnetic Stimulation เป็นการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อปรับการทำงานของสมอง หรือปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง
TMS จึงเหมาะจะใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่สมองส่วนหน้าด้านซ้ายมักทำงานน้อยผิดปกติ และสมองส่วนหน้าซีกขวามักทำงานมากกว่าปกติ
หลักการของ TMS คือ จะมีการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทบริเวณที่เกิดโรคผ่านหมวกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะ โดยกระตุ้นลึกได้ประมาณ 1-3 เซนติเมตร และเป็นวงกว้าง เพื่อให้การทำงานของสมองกลับสู่ภาวะปกติดังเดิม
ขั้นตอนการรักษา TMS ยุ่งยากไหม เจ็บไหม
เทคโนโลยี TMS มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง โดยกระตุ้น 2 วินาที และพัก 20 วินาที ก่อนจะเริ่มกระตุ้นใหม่วนไปเรื่อย ๆ จนครบกำหนดเวลา
แพทย์จะเป็นคนกำหนดตำแหน่งที่ควรได้รับการกระตุ้น จำนวนครั้งที่ต้องกระตุ้นทั้งหมด ความถี่ที่ต้องกระตุ้นต่อสัปดาห์ และระยะเวลาการทำในแต่ละครั้ง โดยจะดูผลการรักษาที่ผ่านมา สภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรค และอาการของผู้ป่วยขณะนั้น
หลังทำ TMS เสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย เนื่องจากวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดบาดแผลหรือความเจ็บปวดตามมา
ประสิทธิภาพของ TMS ในการรักษาโรคซึมเศร้า
เทคโนโลยี TMS มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการใช้ยารักษา ปลอดภัย และผลข้างเคียงต่ำ เช่น ปวดศีรษะ หน้ามืด หรือง่วงนอน
โดยผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ใช้เป็นการรักษาทางเลือกในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ดื้อยา หรือไม่ตอบสนองต่อยารักษามากกว่า 2 ชนิด
ในประเทศไทย การใช้เทคโนโลยี TMS นำมาใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง ดื้อยา ยาใช้ไม่ได้ผล หรือยาก่อให้เกิดผลข้างเคียง ส่วนใหญ่จะใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยการใช้ยา การบำบัด หรือวิธีรักษาอื่นตามจิตแพทย์แนะนำ
TMS ถือเป็นทางเลือกการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยยาต้านเศร้า ทั้งนี้ ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษา และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
ก่อนทำ TMS จำเป็นต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาความปลอดภัยจากจิตแพทย์อย่างละเอียด
เพราะ TMS จะไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น
- ผู้สวมใส่อุปกรณ์โลหะในร่างกาย อย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือประสาทหูส่วนในเทียม
- ผู้ป่วยโรคหัวและหลอดเลือดที่อาการไม่คงที่
- ผู้ที่เสี่ยงชักอย่างผู้ป่วยโรคลมชัก ภาวะถอนพิษสุรา
- ผู้ที่เพิ่งหยุดใช้ยานอนหลับ
การรักษาด้วย TMS ถือเป็นทางเลือกการรักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบำบัดและการใช้ยารักษาภายใต้การประเมินของจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สิ่งสำคัญมากกว่าวิธีรักษาคือ ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นกุญแจที่จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
โรคซึมเศร้าป้องกันได้ตั้งแต่ตอนนี้ จะดูแลสภาพจิตใจหรืออยากปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา จากสถานพยาบาลใกล้บ้าน ในราคาโปร พร้อมส่วนลด ที่นี่ ถ้าอยากให้แอดมินช่วยแนะนำ จิ้มเลย