รองเท้าส้นสูงถือหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ช่วยเติมแต่งบุคลิกภาพให้ผู้หญิง หลายคนรู้สึกว่า การสวมใส่ส้นสูงจะช่วยสร้างความมั่นใจ ช่วยเสริมส่วนสูง และปรับท่วงท่าให้ตนเองดูสง่ามงามและโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รองเท้าส้นสูงจะได้รับความนิยมจากผู้หญิงทั่วโลก แต่รองเท้าชนิดนี้กลับแฝงไปด้วยข้อเสียบางอย่าง และส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้สวมใส่ด้วย
ดังนั้นคุณผู้หญิงจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังในการใช้รองเท้าส้นสูงเอาไว้ เพื่อที่จะได้ใช้รองเท้าชนิดนี้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
สารบัญ
ประเภทของรองเท้าส้นสูง
ผู้หญิงหลายคนอาจรู้จักแค่ลักษณะของรองเท้าส้นสูง แต่ไม่ได้รู้จักชื่อของรองเท้าส้นสูงว่ามีอะไรกันบ้าง
รองเท้าส้นสูงประเภทที่มักได้รับความนิยมจะมีชื่อเรียกและลักษณะดังนี้
- Pump heels เป็นรองเท้าส้นสูงที่มีความสูงมากกว่า 2-4 นิ้ว ลักษณะรองเท้าคือ หัวรองเท้าอยู่ในระดับต่ำกว่า แล้วจะยกงอสูงขึ้นบริเวณส้นเท้า ส่วนมากส้นรองเท้าจะเป็นแบบส้นเข็มเรียกได้อีกชื่อว่า “Stiletto heels”
- Wedge heels หรือรู้จักกันในชื่อ “รองเท้าส้นเตารีด” ลักษณะส้นรองเท้าจะเป็นส้นตันเหมือนเป็นแท่นยกสูงขึ้นจากพื้น จึงง่ายต่อการเดินมากกว่ารองเท้าส้นเข็มซึ่งเป็นเพียงแท่งส้นเล็กๆ ยกสูงขึ้น
- Kitten heels เป็นรองเท้าส้นสูงที่มีขนาดความสูงไม่เกิน 1-2 นิ้ว ส่วนมากจะเหมาะกับผู้หญิงที่ตัวค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เพราะมักใส่เพื่อเสริมสไตล์การแต่งตัวมากกว่าช่วยเพิ่มส่วนสูง
- Ankle Strap heels เป็นรองเท้าส้นสูงที่มีสาย หรือริบบิ้นผูกบริเวณข้อเท้าเป็นการตกแต่งเพิ่มเติม ส่วนสูงของรองเท้าชนิดนี้มีทั้งแบบสูงประมาณ 1-2 นิ้ว และแบบสูงถึง 3-4 นิ้ว
- Slingback heels รองเท้าส้นสูงที่คล้ายกับแบบ Ankle Strap heels แต่สายรองเท้าจะรัดอยู่ที่ข้อเท้าด้านหลังแทน จึงช่วยเรื่องสมดุลของเท้าได้ มักใส่เพื่อเพิ่มความหรูหรา
- Platform shoes หรือเรียกได้ทั่วไปว่า “รองเท้าส้นตึก” เป็นรองเท้าส้นสูงที่มีตัวเสริมส้นเท่ากันหมดตั้งแต่หัวจดปลายเท้า ปัจจุบันมีการนำมาปรับแต่งใช้กับรองเท้าผ้าใบด้วย
- Peep Toe Heels รองเท้าส้นสูงแบบเปิดช่องบริเวณหัวเท้าเล็กน้อย เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องการโชว์สีเล็บเท้า หรือไม่ต้องการให้หัวรองเท้าปิดจนอับชื้น หรือทำให้นิ้วเท้ากดทับกันมากเกินไป
ผลกระทบของรองเท้าส้นสูงต่อร่างกายมีอะไรบ้าง?
รองเท้าส้นสูงอาจมีส่วนช่วยในการปรับรูปลักษณ์ของผู้สวมใส่ให้ดูดีขึ้น แต่ก็สร้างผลกระทบต่อร่างกายได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับลักษณะกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อบางส่วน เช่น
รองเท้าส้นสูงมีผลต่อการทรงตัว
รูปทรงของรองเท้าส้นสูงทำให้ฝ่าเท้าอยู่ในลักษณะงอลง (Plantarflexed) ทำให้หน้าเท้า (Forefoot) ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และทำให้ศูนย์ถ่วงของเท้าคุณเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม
โดยปกติธรรมชาติการทรงตัวของร่างกายมนุษย์ ร่างกายส่วนล่างจะเอนไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้เกิดสมดุล ร่างกายส่วนบนจะเอนไปข้างหลังเพื่อถ่วงน้ำหนัก
เมื่อศูนย์ถ่วงของเท้าเปลี่ยนไปจะส่งผลให้การทรงตัวดูไม่เป็นธรรมชาติ อีกทั้งทำให้ท่าทางการยืนดูแข็งทื่อ เพราะต้องเกร็งเท้าอยู่ตลอดเวลาและยังทำให้รู้สึกไม่ผ่อนคลายด้วย
รองเท้าส้นสูงมีผลต่อการรับน้ำหนักตัว
หน้าเท้าและเนินปลายเท้าจะต้องรับน้ำหนักตัวมากกว่าเดิมเมื่อใส่รองเท้าส้นสูง ยิ่งใส่รองเท้าที่ส้นสูงมากเท่าไร ทั้ง 2 ส่วนนี้ของเท้าก็ยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าเท้า หรืออาจมีผิวหนังด้านแข็ง ตามมาได้
รองเท้าส้นสูงมีผลต่อท่าทางการเดิน
โดยปกติทวงท่าการเดินจะมาจากการทำงานร่วมกันของเนินปลายเท้า (Balls of feet) ส้นเท้า และนิ้วเท้าทั้งห้า แต่เมื่อต้องเดินด้วยรองเท้าส้นสูง ฝ่าเท้าก็ต้องงอลงด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เสียหลักหกล้ม
ผลจากการเดินด้วยลักษณะของเท้าที่ไม่เป็นธรรมชาติ จึงทำให้ข้อสะโพกต้องทำงานหนักเพื่อพยุงให้ร่างกายทรงตัวเดินไปข้างหน้าได้
นอกจากนี้รองเท้าส้นสูงยังทำให้ข้อเข่าต้องงอมากกว่าเดิม ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานหนักขึ้น และกล้ามเนื้อน่องยังต้องตึงเกร็งกว่าปกติด้วย
ปัญหานี้จะหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก ในกรณีที่ใส่รองเท้าส้นเข็มซึ่งสูงมากกว่า 3-4 นิ้ว เรียกง่ายๆ ก็คือ ยิ่งส้นสูงมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นเท่านั้น
รองเท้าส้นสูงส่งผลต่อสมดุลของร่างกาย
ผู้ที่เพิ่งหัดสวมรองเท้าส้นสูงใหม่ๆ จะรู้สึกว่า ตนเองกำลังเดินอยู่บนคานทรงตัว หากไม่ทรงตัวให้ดีก็จะหกล้ม หรือต่อให้ไม่ล้ม ท่าทางการเดินก็จะแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาติอยู่ดี
นั่นเพราะการเดินด้วยรองเท้าส้นสูง จำเป็นต้องอาศัยความสมดุลของร่างกายมากกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มการกะระยะสำหรับก้าวเดิน และปรับท่าทางการยืนซึ่งต้องพอดีกับส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยิ่งเดินมาก หรือเดินเร็วเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องถ่ายน้ำหนักลงไปที่เนินปลายเท้ามากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ติดต่อกันนานเข้า กระดูกและเนื้อเยื่อส่วนเท้าก็จะเสื่อมลง ซึ่งเป็นผลมาจากการรับน้ำหนักมากเกินจำเป็นอยู่บ่อยๆ
รองเท้าส้นสูงส่งผลให้กระดูกส่วนหลังคด
การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ เกินความจำเป็นส่งผลให้กระดูกเอวส่วนหลังคดได้ โดยเป็นผลมาจากกระดูกเอวส่วนหลัง (Lumbar spine) ต้องคอยควบคุมกระดูกหลังส่วนอก (Thoracic spine) ให้อยู่ในรูปร่างที่สามารถช่วยทำให้คุณทรงตัวอยู่ได้นั่นเอง
รองเท้าส้นสูงส่งผลให้ปวดสะโพก
ส่วนของสะโพกที่ได้รับผลกระทบจากรองเท้าส้นสูงมากที่สุดก็คือ กล้ามเนื้อสำหรับงอสะโพก (Hip flexor muscles)
โดยในระหว่างที่ใส่รองเท้าส้นสูง กล้ามเนื้อส่วนนี้จะถูกบังคับให้ต้องเกร็งตัวอยู่ตลอดจนเกิดการหดตัวและขนาดเล็กลง จนเกิดความปวดเมื่อย และยังมีส่วนทำให้กระดูกเอวส่วนหลังคดด้วย
รองเท้าส้นสูงส่งผลให้เข่าถูกใช้งานมากเกินไป
การใส่รองเท้าส้นสูงสามารถส่งผลให้กระดูกหัวเข่าซึ่งคอยออกแรงบิด หรือหมุนไปตามท่าทางของร่างกายถูกใช้งาน หรือถูกกดน้ำหนักมากเกินไปได้
ไม่เพียงแต่ในส่วนของหัวเข่าเท่านั้น ผลจากความผิดปกติของกระดูกหัวเข่ายังสามารถส่งผลให้กระดูกแข้ง (Tibia) หมุนเข้าด้านใน และทำให้เกิดโรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) ได้
รองเท้าส้นสูงส่งผลให้เอ็นร้อยหวายอักเสบ
รองเท้าส้นสูงมีส่วนทำให้กระดูกข้อเท้าของคุณทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งทำให้มวลกล้ามเนื้อน่องยังลดลง เนื่องจากส่วนสูงที่ถูกเพิ่มขึ้นมากเกินความจำเป็น จนทำให้ไม่สามารถมีพลังงานกล้ามเนื้อมากพอที่จะช่วยพยุงให้คุณเดินในระหว่างใส่รองเท้าส้นสูงได้ง่าย
เมื่อมวลกล้ามเนื้อน่องลดลง ก็จะส่งผลไปถึงเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ซึ่งเป็นเอ็นเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้าเกิดการหดเกร็ง และนำไปสู่อาการเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis) ในที่สุด
รองเท้าส้นสูงส่งผลต่ออาการบาดเจ็บที่เท้า
รองเท้าส้นสูงสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เท้าได้หลายบริเวณ เช่น
- ภาวะหัวแม่เท้าเอียง (Bunions) หรือประสาทเท้าอักเสบ (Neuromas) เป็นผลมาจากแรงกดจากน้ำหนักตัวลงมาที่ฝ่าเท้าหน้า
- ภาวะกระดูกนูนที่ส้นเท้า (Haglund’s Deformity) ซึ่งเกิดจากข้อเท้าที่บิดงอ (Supination)
- เส้นเอ็น (Tendons) และเอ็นยึดกระดูกเท้า ligaments) ตึงเกินไป
- เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าจนเกิดเป็นโรครองช้ำ (Plantar fasciitis)
รองเท้าส้นสูงส่งผลให้เกิดภาวะนิ้วเท้าแฮมเมอร์
ภาวะนิ้วเท้าแฮมเมอร์ (Hammer Toe) หมายถึง ภาวะที่นิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถเคลื่อนไหว เกิดการติดแข็งของข้อกลาง หรือไม่สามารถงอนิ้วเท้าได้ตามปกติ
ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากการใส่รองเท้าส้นสูงได้เช่นเดียวกัน ด้วยรูปร่างของหัวรองเท้าส้นสูงส่วนมากที่ขนาดเล็ก ทำให้จะต้องอัดเบียดนิ้วเท้าทั้ง 5 เอาไว้ด้วยกัน ส่งผลให้นิ้วเท้ามีโอกาสต้องอยู่ในลักษณะผิดท่า หรือกดทับกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นภาวะนิ้วเท้าแฮมเมอร์
อย่างไรก็ตาม รองเท้าส้นสูงที่มีหัวรองเท้าใหญ่เกินไปกับขนาดเท้าของคุณ ก็อาจทำให้เกิดแผลรองเท้ากัด ผิวเท้าด้าน หรือทำให้เกิดโรคตาปลาที่เท้าได้
ทางที่ดีควรเลือกใส่รองเท้าส้นสูงที่มีขนาดพอดี ไม่คับ หรือหลวมจนเกินไปจะดีที่สุด
คำแนะนำสำหรับการใส่รองเท้าส้นสูง
ในบางอาชีพมีข้อกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานเพศหญิงสวมใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อเสริมบุคลิกภาพ อย่างไรก็ตาม แม้หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงไม่ได้ แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากรองเท้าส้นสูงได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ทางที่ดีในระหว่างวันควรหารองเท้าแตะสบายๆ ใส่แทน เพื่อให้เท้าและขาได้ผ่อนคลาย
- สลับรองเท้าก่อนและหลังออกจากที่ทำงาน หากออฟฟิศของคุณมีกฎให้พนักงานหญิงทุกคนต้องใส่ส้นสูง คุณอาจพกรองเท้าคัทชู หรือรองเท้าผ้าใบใส่ระหว่างเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน เมื่อต้องเดินเข้าที่ทำงาน ก็ค่อยเปลี่ยนไปใส่รองเท้าส้นสูงแทน
- เลือกรองเท้าให้เหมาะสม เลือกรองเท้าที่หน้าไม่แคบเกินไป และควรเป็นส้นตันเพื่อป้องกันเท้าพลิก
- ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงมากกว่า 2 นิ้ว หรือหากต้องการใส่รองเท้าส้นที่สูงกว่านั้นก็ไม่ควรใส่บ่อย หรือใส่เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น
- หมั่นยืดกล้ามเนื้อขา เพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อข้างใน
- คลายปวดด้วยการแช่น้ำอุ่น หากปวดเมื่อยเท้าจากการใส่ส้นสูง สามารถแช่เท้าในน้ำอุ่นได้
- ใส่ถุงน่อง หรือถุงเท้าก่อนใส่รองเท้าส้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลรองเท้ากัด
- วางแผนก่อนใส่ หากรู้ว่าวันไหนจะต้องเดินมากๆ หรือต้องวิ่ง ให้เลือกใส่รองเท้าที่ส้นสูงไม่สูงมาก หรือเลือกรองเท้าส้นทึบแทนส้นแหลมเล็ก เพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บของเท้าและขาให้น้อยลงและเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น
- ซื้อรองเท้าในช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เท้ายืด หรือขยายตัวอย่างเต็มที่ เมื่อใส่รองเท้าในภายหลัง จะได้ไม่รู้สึกว่ารองเท้าคับ หรือหลวมเกินไป
การแต่งกายเพื่อให้ภาพลักษณ์ออกมาดูดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพและร่างกายของตนเองด้วย เพราะบางครั้งผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าที่คุณคิด หรือยากที่จะแก้ไข
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์