health checkup result screening process scaled

ทำความเข้าใจผลตรวจเลือด และผลตรวจสุขภาพ แต่ละค่าบอกอะไรได้บ้าง

การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราประเมินสุขภาพร่างกายและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ผลตรวจสุขภาพประกอบด้วยค่าต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

การทำความเข้าใจผลตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงโรค และวางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม บทความนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าเลือดและค่าสุขภาพต่าง ๆ พร้อมอธิบายความหมายและความเสี่ยงโรคที่อาจพบได้จากการตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพที่พบได้บ่อย 

ปัจจุบันมีประเภทของการตรวจสุขภาพมากมายหลายแบบให้เลือก การเลือกการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเองจะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว และความเสี่ยงโรคต่าง ๆ 

การตรวจสุขภาพที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • การตรวจเลือด : การตรวจค่าเลือดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับแพทย์สั่งตรวจ เช่น ดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และสภาพร่างกายโดยรวม ตรวจหาการติดเชื้อ ไปจนถึงช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังที่พบบ่อย 
  • การตรวจปัสสาวะ : การตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ โรคไต โรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางปัสสาวะ รวมถึงเช็กสภาพร่างกายโดยรวม และติดตามผลของการรักษา
  • การตรวจอุจจาระ : การตรวจหาความผิดปกติหรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น
  • การตรวจเอกซเรย์ : การตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายโดยใช้รังสีเอกซ์ 
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ: การตรวจการทำงานไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นไปแล้ว มักใช้ในการวินิจฉัยโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ 
  • การตรวจอัลตราซาวด์ : การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน

ผลตรวจสุขภาพ ค่าไหนบอกอะไรบ้าง  

การตรวจสุขภาพมีหลายประเภท แต่การตรวจพื้นฐานมักจะเป็นการตรวจเลือด โดยตัวอย่างค่าเลือดที่พบได้ในการตรวจสุขภาพ เช่น  

ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)

เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  โดยจะดูทั้งปริมาณและลักษณะ ค่านี้จะช่วยบอกได้ว่าระบบเลือดมีความผิดปกติหรือไม่ 

ปริมาณเม็ดเลือดแดง (Red blood cell: RBC) เป็นการตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือด ค่าปกติในผู้ชายจะอยู่ที่ 4.3-5.7 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตร และค่าปกติในผู้หญิงจะอยู่ที่ 3.9-5.0 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตร

หากสูงกว่าค่าปกติจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดข้น (Polycythemia) หรือหากน้อยกว่าค่าปกติจะเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin: Hb หรือ HGB) เป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือด โดยระดับของฮีโมโกลบินจะบอกถึงความสามารถของเม็ดเลือดในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 

ค่าปกติในผู้ชายจะอยู่ที่ 13-17 กรัมต่อเดซิลิตร และค่าปกติในผู้หญิงจะอยู่ที่ 12-15 กรัมต่อเดซิลิตร หากสูงกว่าค่าปกติจะเป็นสัญญาณของภาวะเลือดข้น หรือหากต่ำกว่าปกติจะเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง 

ฮีมาโตคริต (Hematocrit: Hct) เป็นการวัดความหนาแน่นของเม็ดเลือดแดงภายในเลือด ค่าปกติในผู้ชายจะอยู่ที่ 38-50% และผู้หญิงจะอยู่ที่ 36-45% หากค่าสูงกว่าปกติจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดข้น หรือต่ำกว่าปกติจะเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง 

ปริมาณเม็ดเลือดขาว (White blood cell: WBC) เป็นการตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยเม็ดเลือดขาวเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 4,000-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร 

ปริมาณของเม็ดเลือดขาวที่สูงหรือต่ำอาจเป็นสัญญาณของโรค เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสต่าง ๆ

นอกจากการตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมดแล้ว ยังมีการนับแยกชนิดของเม็ดเลือดขาว (Differential WBC) ซึ่งเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดมีหน้าที่ในการกำจัดเชื้อในเลือดต่างกันไป

โดยค่าปกติของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด คือ 

  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลด์ (Neutrophil) อยู่ที่ 40-80% หากค่าสูงกว่าค่าปกติจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) อยู่ที่ 20-40% หากค่าสูงกว่าค่าปกติจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด
  • เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) อยู่ที่ 2-10% หากค่าสูงกว่าค่าปกติจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) อยู่ที่ 1-6% หากค่าสูงกว่าค่าปกติจะบ่งบอกถึงร่างกายมีอาการแพ้ การติดเชื้อพยาธิหรือปรสิต
  • เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล (Basophil) อยู่ที่ 0-2% 

ค่าเกล็ดเลือด (Platelet) เป็นค่าตรวจวัดปริมาณเกล็ดเลือด ซึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล โดยค่าปกติของเกล็ดเลือดคือ 150,000-440,000 ต่อไมโครลิตร 

หากมีเกล็ดเลือดน้อยไปจะทำให้เลือดออกแล้วไม่หยุด หรือหากมีมากเกินไปจะเกิดการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน 

ระดับน้ำตาลในเลือด 

ค่าน้ำตาลในเลือดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood sugar: FBS) เป็นการตรวจระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ด้วยการงดอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ โดยค่าปกติของน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

หากค่าสูงกว่านี้จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ซึ่งปกติแพทย์จะนัดมาตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ถ้าผลตรวจเลือดได้มากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นจำนวน 2 ใน 3 ครั้งจะถือว่าโรคเป็นเบาหวาน 

การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ค่า HbA1C ก็บอกได้ถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และมักใช้ในการติดตามการคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานในระยะยาว

โดยค่าปกติของ HBA1c จะอยู่ที่ 4.8-6% สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 7% เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน (หากเทียบกับการตรวจน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 154 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)   

เสี่ยงเบาหวานไหม ไม่แน่ใจ? ตรวจคัดกรองก่อน รู้ผลเลย ดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เลือกตรวจได้จาก รพ. และคลินิกใกล้บ้าน จองกับ HDmall.co.th พร้อมรับส่วนลดให้คุณใช้บริการในราคาที่ถูกกว่า คลิกดูโปร

มีบริการเช็กคิวทำนัดฟรี เลือกสถานที่ที่สนใจแล้วแชทบอกแอดมินได้เลย ที่นี่      

ระดับไขมันในเลือด 

การตรวจไขมันในเลือดจะช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยไขมันในเลือดแบ่งได้เป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้ 

คอเลสเตอรอล (Cholesterol / Total cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนและเอนไซม์ต่าง ๆ รวมถึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์

โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 125-200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การตรวจระดับคอเลสเตอรอลจะบอกถึงไขมันรวมทั้งหมดในเลือด ทั้งไตรกลีเซอไรด์ ไขมัน LDL และไขมัน HDL  

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่ถูกเก็บสะสมในเซลล์ไขมัน (Adipose tissue) ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย โดยค่าปกติจะน้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไขมัน LDL (Low-density lipoprotein cholesterol) หรือไขมันเลว เป็นไขมันที่นำคอเลสเตอรอลไปใช้ยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ค่าปกติจะน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้หลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ ตีบตัน (Atherosclerosis)  

ไขมัน HDL (High-density lipoprotein cholesterol) หรือไขมันดี เป็นไขมันที่นำคอเลสเตอรอลจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่กระบวนการสลายไขมัน

ค่าปกติในผู้ชายจะมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และค่าปกติในผู้หญิงจะมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากค่ามีต่ำกว่านี้ จะทำให้หลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ ตีบตันเช่นกัน 

การทำงานของไต

การตรวจค่าไตหรือตรวจการทำงานของไต เป็นการประเมินการทำงานและสุขภาพของไต ค่าหลัก ๆ ที่มักเจอในผลตรวจเลือด เช่น

การตรวจระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือดหรือค่า BUN (Blood urea nitrogen) เป็นการวัดระดับไนโตรเจนในเลือด ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย และถูกกําจัดออกผ่านทางไต 

  • ค่าปกติจะอยู่ที่ 10-20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 
  • หากมีค่าสูงกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติของไต หรือเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น การรับประทานโปรตีนมากเกินไป ร่างกายขาดน้ำ
  • หากมีค่าต่ำกว่าปกติอาจเป็นบ่งบอกถึงภาวะขาดสารอาหาร การดูดซึมอาหารไม่ดี ตับทำงานผิดปกติ หรือการรับประทานยาบางชนิด 

ค่าครีเอตินิน (Creatinine) เป็นการวัดระดับของเสียที่เกิดจากการสลายกล้ามเนื้อที่ตรวจพบได้ในเลือด ระดับของครีเอตินินในเลือดจะเหมือนกับค่า BUN คือ หากระดับครีเอตินินสูงมักบ่งบอกถึงการทำงานของไตมีปัญหา

  • ค่าปกติจะอยู่ที่ 0.6-1.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 
  • หากค่าสูงกว่าค่าปกติ บ่งบอกถึงการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพลงจากสาเหตุอย่าง เช่น นิ่วในไต หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคเรื้อรัง ปกติจะต้องพิจารณาร่วมกับค่า BUN ด้วย 
  • หากค่าครีเอตินินต่ำกว่าค่าปกติ อาจบ่งบอกถึงภาวะขาดสารอาหาร การดูดซึมอาหารไม่ดี และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ค่าอัตราการกรองของไตหรือค่า eGFR (estimated glomerular filtration rate) เป็นการวัดปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที เพื่อตรวจดูประสิทธิภาพการกรองของไต

ปกติไตสามารถคัดของเสียได้มากกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาทีขึ้นไป ยิ่งค่า eGFR สูงเท่าไร แสดงว่าการทำงานของไตยิ่งดี โดยค่าของค่า eGFR จัดเป็นช่วงได้ดังนี้

  • ค่า eGFR 90 ขึ้นไป แสดงถึงไตทำงานปกติ
  • ค่า eGFR 60-90 แสดงถึงการทำงานของไตลดลงเล็กน้อย
  • ค่า eGFR 30-59 แสดงถึงการทำงานของไตลดลงปานกลางจนถึงลดลงเป็นอย่างมาก อาการของโรคอาจเกิดเมื่อมีค่า eGFR อยู่ในช่วงนี้
  • ค่า eGFR 15-29 แสดงถึงการทำงานของไตลดลงจนเหลือน้อยมาก
  • ค่า eGFR ต่ำกว่า 15 แสดงถึงสัญญาณของไตวาย ค่า eGFR ในช่วงนี้เป็นขั้นที่ร้ายแรงที่สุดและอาจส่งผลต่อชีวิตได้ 

ระดับกรดยูริกในเลือด

เป็นการตรวจหาปริมาณกรดยูริกในเลือดหรือการตรวจหาโรคเก๊าต์ ค่าปกติในผู้ชายควรไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และค่าปกติในผู้หญิงควรไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ระดับฮอร์โมนไทรอยด์

เป็นการตรวจเพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด หลัก ๆ มี 3 ชนิด คือ ฮอร์โมน T3 (Triodothyronine) ฮอร์โมน T4 (Thyroxine) และฮอร์โมน TSH (Thyroid stimulating hormone) 

  • ค่าปกติของฮอร์โมน T3 จะอยู่ที่ 80-200 ng/dL 
  • ค่าปกติของฮอร์โมน T4 จะอยู่ที่ 4.5-12.5 µg/dL
  • ค่าปกติของฮอร์โมน TSH จะอยู่ที่ 0.5-5.0 mU/L

หากค่า TSH สูงกว่าปกติ มักจะมีค่า T3 และ T4 ต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroid) แต่หากค่า TSH ต่ำกว่าปกติ มักจะมีค่า T3 และ T4 สูงกว่าปกติ ซึ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

หลังการตรวจสุขภาพ แพทย์จะอธิบายผลตรวจสุขภาพและค่าต่าง ๆ คนที่เข้ารับการตรวจสุขภาพควรดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำแพทย์ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงแต่ยังเป็นโรค

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจเพียงอย่างอาจไม่สามารถยืนยันผลความผิดปกติที่พบหรือโรคบางโรคได้ อาจจะต้องมีการติดตามผลเป็นระยะหรือตรวจเพิ่มเติม เพราะบางกรณีที่ค่าผิดปกติอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้

อย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประเมินสุขภาพร่างกาย และป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ทัน หาแพ็กแกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจตรวจเลือด หรือแพ็กเกจสุขภาพอื่นตามความเสี่ยง HDmall.co.th รวมมาให้ครบในเว็บเดียว แถมได้ส่วนลดเพิ่มทุกการจอง

Scroll to Top