หนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายอย่างมาก หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี แม้ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลยก็ตาม
ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคหนองในมีแนวโน้มลดลงก็จริง แต่ก็ถือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก เมื่อเทียบกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ ดังนั้นคุณจึงควรรู้ว่า อาการของโรคหนองในเป็นอย่างไร แล้วเป็นอันตรายขนาดไหน
สารบัญ
ความหมายของโรคหนองใน
โรคหนองใน (Gonorrhea) หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคหนองในแท้” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoeae)”
เชื้อดังกล่าวสามารถแพร่จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปากโดยที่ไม่ได้สวมใส่ถุงยางอนามัย โดยผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใดๆ เลยออกมาเลยก็ได้
นอกจากนี้เชื้อหนองในยังสามารถแพร่จากมารดาไปสู่ทารกระหว่างคลอดได้ แต่เชื้อจะไม่สามารถแพร่ได้ผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว ลูกบิดประตู หรือฝานั่งชักโครก
อาการของโรคหนองในจะปรากฏขึ้นเมื่อไหร่?
อาการของโรคมักปรากฏให้เห็นประมาณ 2-7 วันหลังจากได้รับเชื้อ แต่ส่วนมากอาจไม่แสดงอาการใด โดยผู้หญิงมักแสดงอาการช้ากว่าผู้ชาย
สัญญาณ และอาการของโรคหนองใน ในผู้หญิง
ผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการใดๆ ของโรคออกมา หรือหากมีอาการก็จะเป็นไม่มากนัก และอาจสังเกตไม่เห็นจนกว่าโรคจะอยู่ในระดับรุนแรงแล้ว
ในผู้หญิงบางรายอาจมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ มีตกขาว สีเหลือง หรือสีเขียวผิดปกติ เจ็บอุ้งเชิงกราน หรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน หรือมีประจำเดือนผิดปกติ
หากเชื้อมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ อย่างมดลูก หรือท่อนำไข่ เชื้อจะทำให้เกิดอาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
สัญญาณและอาการของโรคหนองใน ในผู้ชาย
สำหรับผู้ชายที่ติดเชื้อจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจนมากกว่าผู้หญิง แต่บางครั้งอาการก็แสดงออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่า ตนเองกำลังติดเชื้อ
โดยอาการที่สามารถสังเกตได้คือ ปวดแสบขณะปัสสาวะ และมีเมือกสีขาวขุ่นไหลออกมาทางอวัยวะเพศ บริเวณรอบๆ รูองคชาติเป็นสีแดงๆ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อหนองใน
ผลข้างเคียงจากการเกิดหนองในของเพศชายและเพศหญิงจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- สำหรับผู้หญิง เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ได้ จึงส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่อุ้งเชิงกราน และอาจทำให้เกิดแผลในส่วนต่างๆ ที่เชื้อเข้าถึง นอกจากนี้เชื้อหนองในยังอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากด้วย หรืออาจทำให้ตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดปัญหากับทารก โดยอาจทำให้ทารกเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อที่ดวงตาจนทำให้เด็กตาบอดได้ หากไม่ได้รับการรักษา
- สำหรับผู้ชาย เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังหลอดเก็บอสุจิ ทำให้เกิดอาการปวด และบวมบริเวณอัณฑะ การติดเชื้อนี้จะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อเป็นแผล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในเวลาต่อมา
นอกจากผลข้างเคียงด้านบน โรคหนองในยังอาจส่งผลต่ออวัยวะ และส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งผู้ชาย และผู้หญิงได้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม ดวงตา หัวใจ สมอง ผิวหนัง และข้อต่อต่างๆ แต่จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ความแตกต่างระหว่างโรคหนองในแท้ และหนองในเทียม
หลายคนอาจได้ยินชื่อโรคหนองในแท้ และหนองในเทียมกันมาบ้าง ซึ่งแม้จะมีชื่อคล้ายกันแต่มีสาเหตุการติดเชื้อ อาการ รวมทั้งการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้
หนองในแท้
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย
- มีระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 1-14 วัน
- อาการของผู้ชาย มีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองสีขาวขุ่นข้นไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ซึ่งในระยะแรกๆ หนองอาจจะไม่ขุ่นเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หนองขุ่นขึ้น
- อาการของผู้หญิง มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีตกขาวปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดการอักเสบที่ปากมดลูกและท่อปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้โรคลุกลามจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะอุดตันในท่อรังไข่ ส่งผลให้เป็นหมัน หรือมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การรักษาใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานคือ เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เป็นยาฉีด ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น อซิโทรมัยซิน (azithromycin) ครั้งเดียว เพื่อลดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา
หนองในเทียม
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis)
- มีระยะการฟักตัวของโรคมากกว่า 10 วันขึ้นไป
- อาการของผู้ชาย ระยะแรกอาจจะมีแค่เพียงรู้สึกคันที่ท่อปัสสาวะ หรือมีน้ำใสๆ ต่อมาจะเริ่มข้นขึ้นแล้วไหลออกมาทางท่อปัสสาวะ โดยหนองของหนองในเทียมจะไม่ข้นเท่าหนองในแท้
- อาการของผู้หญิง อาจจะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มีแค่เพียงอาการคัน และมีตกขาว อาจมีอาการปวดแสบร้อนขณะปัสสาวะร่วมด้วย ซึ่งตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ยาก
- การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มด็อกซีไซคลิน (Doxycyclin) อะซิโธรมัยซิน (azithromycin) และยากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน
การวินิจฉัยโรคหนองใน
หากสงสัยว่า ตนเองอาจติดเชื้อ หรือคู่นอนติดเชื้อหนองใน คุณ และคู่นอนต้องพบแพทย์ หรือสูติแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจหาเชื้อโดยการตรวจปัสสาวะ หรืออาจทำการทดสอบจากตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้จากองคชาต ช่องคลอด หรือตกขาว
นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี โรคซิฟิลิส หรือโรคหนองในเทียม
การรักษาโรคหนองใน
หากติดเชื้อหนองใน แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ขณะรักษาเพื่อป้องกันเชื้อจะแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
ที่สำคัญคู่นอนของคุณจำเป็นต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ และรักษาด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงคู่นอนที่คุณมีเพศสัมพันธ์ด้วยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
แต่หากคุณทิ้งช่วงการมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 2 เดือน ควรให้คู่นอนคนล่าสุดรับการตรวจรักษาด้วย เพราะแม้ว่าคุณจะรักษาโรคหายแล้วก็ยังมีโอกาสติดโรคซ้ำได้อีก
ยิ่งรักษาโรคหนองในเร็วเท่าไร ก็ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้มากเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นด้วย
ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วันหลังจากการรักษาโรคจนหายสนิทแล้ว เพราะหากมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะรักษาโรคสำเร็จ มีโอกาสสูงมากที่คุณและคู่นอนจะกลับมาติดเชื้ออีก และควรใช้ถุงยางอนามัยเมื่อเริ่มกลับมามีเพศสัมพันธ์
หนองในหายเองได้หรือไม่ ?
ผู้ติดเชื้อหลายคนเมื่อมีอาการหนองในอาจไม่กล้ามาพบแพทย์ และคิด (เอง) ว่าหากปล่อยไว้ร่างกายน่าจะสามารถเยียวยาตัวเองได้
จริงๆ แล้วไม่เป็นความจริง เพราะหนองในเป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ ไม่สามารถหายเองได้ ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
แต่ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการก่อนการรักษา จะได้เลือกยาอย่างเหมาะสม และไม่ควรรักษาเพียงคนเดียว แต่ควรพาคู่นอนมาตรวจรักษาด้วย มิเช่นนั้นก็มีโอกาสกลับไปติดเชื้อได้อีก
การป้องกันการติดเชื้อหนองใน
การป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย