โรคแพ้กลูเตน (Coeliac disease) เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกาย โดยเฉพาะในลำไส้เล็ก เมื่อเรารับประทานกลูเตนเข้าไป จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังตามมา
เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคแพ้กลูเตน จะต้องงดรับประทานกลูเตนไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ เพราะปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคแน่ชัด รวมถึงวิธีการรักษาที่หายขาดด้วย
สารบัญ
กลูเตน (Gluten) คืออะไร?
กลูเตน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ และข้าวไรน์
อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของธัญพืชเหล่านี้จึงพบกลูเตนรวมอยู่ด้วย เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า เค้ก ธัญญาหารต่างๆ ซอสหลายประเภท ขนมอบ เบียร์ หรือน้ำผลไม้เข้มข้นบางชนิด
หากมีอาการของโรคแพ้กลูเตนก็ควรศึกษาส่วนผสมของอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้
อาการและสัญญาณของโรคแพ้กลูเตน
หลังจากรับประทานกลูเตนไปแล้วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ตามมา อาจหมายความว่า “คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคแพ้กลูเตน” ได้แก่
- ท้องเสีย
- ท้องอืด
- แก๊สในกระเพาะอาหาร
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลดลง
- มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- ท้องผูกรุนแรง หรือท้องผูกเป็นประจำ
- โรคซึมเศร้า
- ผื่นคัน
- คลื่นไส้ อาเจียน
หากมีอาการเหล่านี้ ให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ทันที โดยควรรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบตามปกติก่อนจนกว่าผลการวินิจฉัยจะสรุปได้ว่า คุณเป็นโรคแพ้กลูเตนจริงๆ หรือในกรณีที่แพทย์สั่งให้งด
ในเด็กที่เป็นโรคแพ้กลูเตนนั้น นอกจากจะมีอาการเหล่านี้แล้วยังส่งผลให้เด็กมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรืออาจเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าปกติอีกด้วย
โรคแพ้กลูเตนนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เมื่อเป็นโรคแพ้กลูเตน
หากปล่อยให้อาการของโรคแพ้กลูเตนเรื้อรังต่อไป โดยไม่ทำการรักษา เช่น ยังรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตนเป็นประจำ คุณจะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารต่างๆ เช่น การขาดวิตามินดีและแคลเซี่ยมจนทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ภาวะโลหิตจาง ตลอดจนโรค หรือภาวะต่างๆซึ่งไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดของความสัมพันธ์ดังกล่าว
สาเหตุของโรคแพ้กลูเตน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดโรคแพ้กลูเตน หรือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนมีระดับความรุนแรงของอาการแพ้ไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนนั้นมักมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือเคยติดเชื้อในระบบย่อยอาหารในวัยเด็กมาก่อน
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน และไม่ได้รับประทานนมแม่ ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้กลูเตน
วิธีการวินิจฉัยโรคแพ้กลูเตน
หากสงสยว่า คุณ บุตรหลาน หรือบุคคลใกล้ชิดเป็นโรคแพ้กลูเตน สามารถไปตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งหนึ่งในรายการตรวจภูมิแพ้มักมีกลูเตนรวมอยู่ด้วย
วิธีการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงทำได้โดยการเจาะเลือดไปส่งตรวจเพื่อหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) เป็นวิธีที่ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย และมีความแม่นยำสูง หรืออาจตรวจร่วมกับการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อขอคำแนะนำในการเตรียมตัวที่ถูกต้อง
แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประกอบของกลูเตน 1-2 มื้อทุกวันก่อนเข้ารับการตรวจติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์
วิธีการรักษาโรคแพ้กลูเตน
วิธีการรักษาโรคแพ้กลูเตนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน เพื่อป้องกันไม่ให้กลูเตนเข้าไปทำลายผนังเยื่อบุลำไส้
หลังจากที่คุณหยุดรับประทานกลูเตนแล้ว อาการผิดปกติต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง อย่างไรก็ตามอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปีเพื่อให้ระบบย่อยอาหารฟื้นตัวโดยสมบูรณ์
แนะนำอาหารปราศจากกลูเตน
- โปรตีนจากเนื้อสัตว์ (ไม่ชุบแป้งทอด)
- มันฝรั่ง
- ข้าว
- ผักผลไม้ต่างๆ
หากไม่มั่นใจว่า อาหารชนิดไหนควรรับประทาน ไม่ควรรับประทาน หรือกังวลว่า จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สามารถปรึกษานักโภชนาการได้ โดยพวกเขาจะแนะนำอาหารต่างๆ รวมถึงอาหารเสริมที่สามารถรับประทานได้ รวมถึงแหล่งจัดจำหน่ายด้วย
เด็กเริ่มรับประทานกลูเตนได้เมื่อไหร่?
เด็กทารกควรได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เพราะในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ และภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถหาได้ในแหล่งอาหารอื่นๆ
เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้เด็กทารกเริ่มรับประทานอาหารที่มีกลูเตนในปริมาณน้อยๆ อย่างช้าๆ ก่อน โดยจะต้องคอยสอดส่องอาการของพวกเขาตลอดเวลา หากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอีกที
ผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไหม?
ผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนบางราย อาจมีอาการม้ามทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนปอดอักเสบ หรือปอดบวม
โรคแพ้กลูเตนนั้นเป็นหนึ่งในโรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง หากคุณเป็นโรคแพ้กลูเตนก็ควรงดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อติดตามอาการของโรค
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ปราศจากกลูเตน ก็เพียงพอที่จะทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปแล้ว
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย