Default fallback image

ไอกรน โรคติดเชื้อในเด็กที่พ่อแม่ต้องรู้เท่าทัน

ไอกรน (Pertussis) เป็นโรคการติดเชื้อประเภทหนึ่งที่อันตรายสำหรับเด็กเล็กอย่างมาก แม้จะมีวัคซีนป้องกันโรค แต่ใช่ว่าพ่อแม่จะสามารถวางใจได้ มาเรียนรู้โรคนี้อย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงให้ลูกกัน

ไอกรน คืออะไร

ไอกรน (Pertussis) หรือโรคไอร้อยวัน (100-day cough) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ในระบบทางเดินหายใจ ลักษณะเด่นของโรค คือ อาการไอเรื้อรัง ร่วมกับหายใจมีเสียง

โรคนี้ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก หรือละอองฝอยจากการไอหรือจามของผู้ป่วย พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี 

โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไอกรนหรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบ มีปัญหาภูมิคุ้มกัน หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคหอบหืดรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • การติดเชื้อที่หู
  • เลือดกำเดาไหล เลือดออกที่เยื่อบุดวงตา
  • ซี่โครงช้ำหรือหัก
  • สมองทำงานผิดปกติหรือสมองฝ่อ
  • ความดันเลือดในปอดสูง (Pulmonary hypertension)
  • ภาวะขาดสารอาหาร
  • ปอดอักเสบ
  • ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • ชัก
  • เสียชีวิต

 

ไอกรนถือว่าอันตรายและยังวินิจฉัยได้ยาก จึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตั้งแต่ยังเล็ก โดยจะอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวม ซึ่งจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องฉีด และวัคซีนเสริมนั่นเอง 

ไอกรนก่อให้เกิดอาการอะไรบ้าง

ผู้ป่วยไอกรนมักมีอาการภายใน 7–10 วันหลังได้รับเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย บางรายอาจกินเวลานานจนถึง 20 วันกว่าอาการจะแสดงออกมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะไข้หวัด (Catarrhal stage) 

ระยะนี้เป็นช่วงที่วินิจฉัยโรคได้ยาก ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไอกรนไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย โดยอาการจะคล้ายไข้หวัดอยู่ราว ๆ 1–2 สัปดาห์ เช่น ไอแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล รู้สึกไม่สบาย ไข้ต่ำ ตาแดง หรือน้ำตาไหล 

2. ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal stage) 

ผู้ป่วยจะไอถี่ติดกันเป็นชุด ๆ ร่วมกับหายใจเข้าจนเกิดเสียงดูดลมดังวู๊ป (Whoop) และเสมหะในลำคอ ไอจนเหนื่อยหรืออยากอาเจียน ไอทุกเวลาแต่มักแย่ลงในตอนกลางคืน เด็กทารกอาจไอจนหน้าเขียว หรือหยุดหายใจชั่วคราว อาจกินเวลาราว 2–4 สัปดาห์เป็นต้นไป

3. ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage) 

ผู้ป่วยในระยะนี้จะค่อย ๆ ฟื้นตัว ไอลดน้อยลงเรื่อย ๆ ไอไม่ถี่รุนแรงเหมือนระยะก่อนหน้า ราว 2–3 สัปดาห์ โดยรวมทุกระยะแล้วอาจกินเวลานาน 6–10 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะหายดี

อาการแบบไหนควรพาลูกไปพบแพทย์

หากเด็กมีอาการไอติดต่อกันนาน 2–3 สัปดาห์ ลักษณะอาการไอเป็นชุด  ๆ มีเสียงวู๊ป ไอรุนแรงจนอาเจียนหรือหน้าเขียว ร่วมกับมีไข้ ไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มนมได้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด 

ไอกรนรักษาอย่างไร มีวิธีช่วยบรรเทาอาการไหม

ไอกรนนั้นรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ อย่างยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin) ต่อเนื่อง 14 วัน หากใช้ยาตั้งแต่ในระยะไข้หวัด (Catarrhal stage) ตัวยาจะยังมีประสิทธิภาพสูง ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ลดความรุนแรงของโรค รวมถึงการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น

หากให้ยาช้าหรือผู้ป่วยมีอาการระยะไอรุนแรงไปแล้ว (Paroxysmal stage) จะมีประสิทธิภาพเพียงลดจำนวนเชื้อโรคในร่างกาย และลดการแพร่เชื้อ ไม่อาจลดความรุนแรงของโรคได้

สำหรับเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาไอกรนที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะหากเด็กไม่สามารถดื่มนม น้ำ หรือกลืนอาหารได้ อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด  

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ร่างกายเด็กฟื้นฟูเร็วขึ้น โดยให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก กินอาหารมื้อย่อยแทนอาหารมื้อใหญ่ รวมถึงทำความสะอาดห้องให้ปราศจากตัวกระตุ้นการไอ อย่างฝุ่น ควันไฟ หรือควันบุหรี่

ไอกรน ป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันโรคไอกรนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอะไรไปได้ นอกเสียจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่ยังเล็ก โดยวัคซีนไอกรนจะมีทั้งแบบวัคซีนเดี่ยว และวัคซีนรวม ดังนี้

  • วัคซีนไอกรน (aP) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฉีดทั้งหมด 1 เข็มในช่วงอายุครรภ์ 20–32 สัปดาห์ เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ เพื่อให้ลูกมีเกราะป้องกันโรคตั้งแต่ 6 เดือนแรก
  • วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTwP, DTaP, Tdap หรือ TdaP) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ฉีดจำนวน 3 เข็ม เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน แล้วฉีดเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม เมื่ออายุ 18 เดือน และ 4-6 ปี ทั้งหมดรวมเป็น 5 เข็ม จากนั้นให้กระตุ้น 1 เข็มทุก 10 ปี

วัคซีน DTwP เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กไทยทุกคน ส่วนวัคซีน DTap, Tdap และ TdaP จัดเป็นวัคซีนเสริมหรือทดแทน การจะเลือกใช้วัคซีนรวมประเภทใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก

ไม่เฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทุกคนในครอบครัวยังลดความเสี่ยงของไอกรนได้ด้วยการระมัดระวังตัวในชีวิตประจำวัน เช่น หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอกรน เป็นต้น

เตรียมพร้อมรับทุกโรคร้ายตั้งแต่ลูกยังเล็ก เลือกเลย โปรแกรมฉีดวัคซีนเด็ก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้บ้าน ราคาพิเศษแบบนี้มีที่ HDmall.co.th ที่เดียว!

Scroll to Top