หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ปวดท้อง แน่นท้อง หรือไม่สบายท้องมาบ้าง บางครั้งอาการก็จะหายไปเอง แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือเป็นเรื้อรัง ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบทางเดินอาหารกำลังมีปัญหาแล้วล่ะ
เมื่อสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ วิธีหนึ่งที่มักแนะนำให้ตรวจ คือ “การส่องกล้องกระเพาะอาหาร” มารู้จักขั้นตอนการตรวจ การเตรียมตัว ข้อดี ข้อจำกัด และเรื่องน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับการตรวจนี้กัน
สารบัญ
ส่องกล้องกระเพาะอาหาร คืออะไร
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร เป็นการตรวจรักษาโรคมาตรฐาน โดยส่งกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหารลงไปภายในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร
กล้องที่ใช้ในการตรวจมีลักษณะเป็นท่อเล็กยาว ปรับโค้งงอได้ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายของท่อจะติดหลอดไฟ และกล้องวิดีโอขนาดเล็ก ซึ่งจะส่งภาพกลับมายังจอรับภาพที่อยู่ด้านนอก
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร เป็นการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy: EGD หรือ Gastroscopy) นอกจากช่วยตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังใช้วินิจฉัยและรักษาโรคทางเดินอาหารบางโรคได้ทันที และช่วยติดตามผลหลังการรักษาด้วย
ประโยชน์และข้อดีของการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
- วินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติของอวัยวะในทางเดินอาหาร การส่องกล้องช่วยให้เห็นภายในทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจนว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เช่น แผลในกระเพาะจากการติดเชื้อ H. pylori เนื้องอก หรือร่องรอยของมะเร็งกระเพาะอาหาร ทำให้แยกสาเหตุได้ชัดเจนมากขึ้น
- ตัดนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจวิเคราะห์ ถ้าพบติ่งเนื้อ เนื้องอก จะสามารถตัดแล้วนำออกมาส่งตรวจในห้องปฏิบัติการทันที
- รักษาโรคในคราวเดียวกัน ระหว่างการส่องกล้องยังรักษาโรคบางโรคได้ทันที เช่น หยุดเลือดจากแผลในกระเพาะ หรือกำจัดก้อนเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งช่วยลดการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น
- ติดตามผลการรักษา การส่องกล้องช่วยให้ติดตามผลการรักษาบางโรค อย่างแผลในกระเพาะอาหาร ว่าได้ผลดีแค่ไหนและคอยเฝ้าระวังไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- ช่วยป้องกันโรคร้ายแรง การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก จะช่วยให้รักษาก่อนโรคลุกลามจนยากต่อการรักษา โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร
แม้ชื่ออาจฟังดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้ว การส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และไม่เจ็บปวดมากจนเกินไป เพราะมีการให้ยาที่ช่วยให้สบายตัวก่อนตรวจ บางรายอาจได้รับยาคลายความกังวล หรือยานอนหลับ
อาการแบบไหน ควรส่องกล้องกระเพาะอาหาร
การส่องกล้องกระเพาะอาหารมักแนะนำให้ตรวจในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ หรือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารหรือลำไส้
นอกจากนี้ ยังช่วยค้นหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอาการต่อไปนี้
- ปวดท้องบ่อย ปวดท้องเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ มานาน
- ปวดท้องร่วมกับมีอาการใดอาหารหนึ่ง คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องอืด แน่นท้อง ท้องโต คลำพบก้อนในท้อง
- อาการปวดท้องไม่ดีขึ้น หลังใช้ยาลดกรดอย่างต่อเนื่องแล้ว
- มีปัญหาในการกลืนอาหาร กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
- มีอาการกรดไหลย้อน รักษาแล้วไม่หายขาด
- คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ท้องเสียเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- เป็นโรคตับแข็งที่มีแรงดันเส้นเลือดในช่องท้องสูง
ถ้าพบอาการใด ๆ ตามที่กล่าวมา หรือรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพทางเดินอาหาร อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ถึงการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องกระเพาะอาหาร
แพทย์จะอธิบายแผนการรักษา ทั้งการตรวจ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็น จากนั้นจะแจ้งข้อมูลให้เตรียมตัว และนัดหมายวันส่องกล้อง โดยคำแนะนำเบื้องต้นมีดังนี้
- หยุดใช้ยาบางตัว ถ้ามีโรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้ประจำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ เพราะอาจต้องหยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการส่องกล้อง เช่น ยาลดกรด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- งดอาหารและน้ำ ควรงดการรับประทานอาหารและน้ำอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง ให้กระเพาะอาหารว่างก่อนการตรวจ เพื่อผลการตรวจแม่นยำมากขึ้น
- เตรียมผู้ดูแล ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วย เพื่อช่วยรับตัวกลับบ้านหลังการส่องกล้อง เพราะบางคนอาจได้รับยานอนหลับหรือยาคลายกังวล และฤทธิ์ของยาอาจยังเหลืออยู่
ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
แพทย์จะต้องซักประวัติสุขภาพอย่างละเอียดและตรวจร่างกายก่อนเริ่มการส่องกล้อง การตรวจใช้เวลาประมาณ 10–15 นาที ถ้ามีการตัดชิ้นเนื้อร่วมด้วยอาจนานกว่า ตามขั้นตอนดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการพ่นยาชาบริเวณลำคอ บางคนอาจดมยาให้หลับไป จากนั้นจะจัดท่าทางให้นอนตะแคงซ้ายหรือขวา และใส่ที่กันกัดเพื่อให้ปากเปิดเล็กน้อย
- แพทย์จะนำกล้องตรวจใส่ผ่านปากและคอลงไป โดยดูตั้งแต่คอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น อาจมีการใส่ลมในกระเพาะอาหารเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
- ระหว่างการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจไม่ควรกลืนน้ำลาย เพราะอาจสำลัก จะมีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือดูดออกให้
- กรณีพบสิ่งผิดปกติ อาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อระหว่างการส่องกล้อง แต่จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด
- เสร็จสิ้นการตรวจ กล้องจะถูกนำออกมาอย่างรวดเร็ว
ผู้เข้ารับการตรวจจะได้นอนพักฟื้นจนกว่าจะหายชาหรือสติฟื้นกลับคืนมา อาจใช้เวลาราว ๆ 1–2 ชั่วโมง หลังการตรวจส่วนใหญ่จะรอฟังผลได้ทันที ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล
ดูแลตัวเองหลังส่องกล้องกระเพาะอาหารอย่างไร
หลังจากพักฟื้นจนดีขึ้น ถ้าจิบน้ำแล้วไม่สำลักก็สามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรเลือกอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันสูง
ในช่วงวันที่ 1–2 หลังการส่องกล้อง ไม่ควรทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องออกแรงมาก เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน หรือยกของหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม ถ้าต้องรับประทานยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ว่าให้กลับไปใช้ยาอีกครั้งได้เมื่อไร เพราะอาจต้องมีการหยุดใช้ยาบางตัวชั่วคราว
ส่องกล้องกระเพาะอาหารอันตรายไหม
หลังจากการส่องกล้องกระเพาะอาหาร อาจมีอาการเจ็บคอ สามารถกลั้วคอด้วยน้าเกลืออุ่น ๆ หรืออมยาอม บางคนอาจรู้สึกปวดมวนท้อง ท้องอืด แน่น ไม่สบายท้อง เมื่อผายลมหรือเรอ อาการมักจะดีขึ้น
ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะไม่รุนแรง และค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที
- เจ็บหน้าอกหรือปวดท้องรุนแรง
- อุจจาระเป็นสีดำเข้ม
- อาเจียนเป็นเลือด
- ถ่ายเป็นลิ่มเลือดสีแดงสด หรือมีลิ่มเลือดจำนวนมาก
- หนาวสั่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
ปวดท้องบ่อย? อย่าปล่อยไว้! ตรวจเช็กให้แน่ใจกับแพ็กเกจตรวจส่องกล้องกระเพาะ ราคาโปรเฉพาะจองผ่าน HDmall.co.th รีบจองก่อนหมด!