Furosemide (ฟูโรซีไมด์) เป็นยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ ช่วยลดอาการบวมน้ำจากภาวะหรือโรคต่าง ๆ เช่น ไตวาย หัวใจวาย รวมถึงใช้รักษาโรคความดันโลหิตอีกด้วย Furosemide จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ต้องจ่ายโดยเภสัชกรชั้นหนึ่งและแพทย์เท่านั้น อีกทั้งยังมีข้อควรระวังหลาย ๆ ข้อที่ควรทราบ
สารบัญ
Furosemide ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง
- ภาวะบวมน้ำ: ใช้ในการรักษาภาวะบวมน้ำที่เกิดจากปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคตับ เช่น ตับแข็ง หรือโรคไตที่ทำให้มีการเก็บกักน้ำในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำมักมีอาการบวมตามขา ข้อเท้า หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากน้ำสะสมมากเกินไป
- ความดันโลหิตสูง: ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการรักษาด้วยยาลดความดันชนิดอื่นไม่เพียงพอ การขับน้ำและโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายสามารถช่วยลดปริมาณของเหลวและลดความดันโลหิตได้
- ภาวะหัวใจล้มเหลว: ช่วยลดการสะสมของน้ำในปอดและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้หัวใจสามารถทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการหายใจลำบากและความรู้สึกเหนื่อย
- โรคไตเรื้อรังและภาวะไตเสื่อม: ช่วยลดการเก็บกักน้ำและเกลือในร่างกาย ทำให้ลดอาการบวมน้ำและลดภาระการทำงานของไตได้ ใช้สำหรับผู้มีอาการไตเสื่อม
- ภาวะโพแทสเซียมเกินในเลือด: บางครั้งถูกใช้เพื่อช่วยลดระดับโพแทสเซียมในเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมเกิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการทำงานของไตที่ผิดปกติ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Furosemide
ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของโซเดียมและคลอไรด์ที่บริเวณลูปออฟเฮนเล ส่วนขาขึ้น (Loop of henle คือท่อยาว ๆ ที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะในหน่วยไต เมื่อปัสสาวะเดินทางผ่านท่อนี้ ลูปออฟเฮนเลจะคอยดูดและขับสารในปัสสาวะออก)
เพิ่มการขับออกของโพแทสเซียมและแอมโมเนีย ลดการขับออกของกรดยูริก เพิ่มการทำงานของเรนิน (Renin) นอร์อีพิเนปฟรีน (Norepinephrine) และอาร์จีนิน–วาโซเพรสซิน (Argenine–vasopressin) ในกระแสเลือด ซึ่งต่างก็เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะออก
เรนิน (Renin) แองจิโอเทนซิน (Angiotensin) และอัลโดสเทอโรน (Aldosterone) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ของเหลว และสมดุลอิเล็กโทรไลต์ โดยฮอร์โมนทั้ง 3 จะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตต่ำ
เมื่อกระตุ้นแล้ว ร่างกายจะตอบสนองผ่านกลไกที่ไต ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง และหลอดเลือด เพื่อให้ความดันร่างกายกลับเข้าสู่ระดับปกติ
รูปแบบของยา Furosemide
รูปแบบยา Furosemide ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่
- ยาฉีด มีความแรงหลายระดับ ได้แก่ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร, 20 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร และ 250 มิลลิกรัมต่อ 25 มิลลิลิตร
- ยาเม็ด ขนาด 40 มิลลิกรัม และแบบ High dose ขนาด 500 มิลลิกรัม
ปริมาณการใช้ยา Furosemide
ภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน
รูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- ผู้ใหญ่: ขนาด 40 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ 1–2 นาที หากภายใน 1 ชั่วโมงยังไม่ดีขึ้น อาจให้ยาเพิ่มในขนาด 80 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบเดิม
ภาวะบวมน้ำ (Edema) ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจล้มเหลว
รูปแบบยารับประทาน
- ผู้ใหญ่: ขนาดยาเริ่มต้น วันละ 40 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทาน และอาจลดขนาดยาลงเหลือวันละ 20 มิลลิกรัมได้ หรือ รับประทาน 40 มิลลิกรัม วันเว้นวัน สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจใช้ยาขนาด 80 มิลลิกรัมต่อวันหรือมากกว่านี้ ตามการพิจารณาของแพทย์
- ผู้สูงอายุ: ขนาดยาเริ่มต้น วันละ 20 มิลลิกรัม อาจค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นได้ตามการพิจารณาของแพทย์
รูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- ผู้ใหญ่: ขนาดยา 20–50 มิลลิกรัม ให้เพิ่มอีก 20 มิลลิกรัมได้ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ตามการตอบสนองของผู้ป่วย ถ้าขนาดยาสูงกว่า 50 มิลลิกรัม ควรให้ยาด้วยการฉีดผ่านทางหลอดเลือดดำแทน โดยขนาดยาสูงสุดอยู่ที่ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็ก: ขนาด 0.5–1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ขนาดยาสูงสุดอยู่ที่ 20 มิลลิกรัมต่อวัน
โรคความดันโลหิตสูง
รูปแบบยารับประทาน
- ผู้ใหญ่: ขนาดยา 40–80 มิลลิกรัมต่อวัน จะใช้แบบเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น ๆ
วิธีการใช้ยา Furosemide
ยา Furosemide รูปแบบยารับประทาน ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหาร โดยกลืนยาทั้งเม็ด และดื่มน้ำตาม หากรับประทานยาขณะท้องว่างแล้วเกิดผลข้างเคียง อาจรับประทานยาพร้อมอาหารได้
ข้อควรระวังในการใช้ยา Furosemide
- ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ยา Furosemide และยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) รวมถึงผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ได้ ผู้ป่วยโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ผู้ป่วยที่มีภาวะของเหลวในร่างกายต่ำ หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ
- ระวังการใช้ยา Furosemide ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยสูงอายุ เด็ก ผู้มีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
- ยามีความเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว
- ยาในรูปแบบยาฉีด อาจก่อให้เกิดพิษต่อหู (หูหนวก) ได้ หากใช้ยาแล้วเกิดผลข้างเคียงต่อการได้ยิน อาจเกิดจากการรับขนาดยาที่เร็วและสูงเกินไป ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
การใช้ยา Furosemide ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ยาจัดอยู่ในกลุ่ม Category C หมายความว่า เป็นยาอันตราย ควรใช้เฉพาะกรณีที่แพทย์เห็นสมควรว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าโทษ เช่น ความเสี่ยงรุนแรงต่อทารกในครรภ์
ผลข้างเคียงจากยา Furosemide
- ระดับโซเดียมในกระแสเลือดต่ำ
- ภาวะเลือดเป็นด่างจากการลดลงของคลอไรด์ในกระแสเลือด
- ระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดต่ำ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย ง่วงซึม
- กล้ามเนื้อเกร็ง ตะคริว
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ
- ภาวะของเหลวในร่างกายต่ำ ภาวะขาดน้ำ
- กรดยูริกในกระแสเลือดสูง
- ได้ยินเสียงในหู อาจส่งผลต่อความสามารถในการได้ยิน ทั้งแบบสูญเสียการได้ยินชั่วคราวและแบบถาวร
- อาจเพิ่มเอนไซม์ตับ คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงถึงชีวิต
- อาการแพ้ยาชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) หรือกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (SJS: Stevens–Johnson syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสารเคมี ยา หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยจะแสดงอาการแพ้ต่าง ๆ ได้แก่ มีไข้ เจ็บปวดบริเวณผิวหนัง เป็นผื่นแดงทั่วทั้งร่างกาย มีตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังและตามเยื่อบุ เช่น ช่องปาก จมูก ตา อวัยวะเพศ ผิวหนังลอกหลังจากเกิดตุ่มน้ำ