รักษาเชื้อรา

รักษาเชื้อราในเล็บเท้าไม่ให้เป็นซ้ำ ด้วยของใช้ใกล้ตัว 6 อย่าง

เชื้อราในเล็บเท้า สามารถเกิดขึ้นได้จากการละเลยสุขอนามัยของเท้าโดยรวม หรืออาจเป็นผลกระทบมาจากปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ลักษณะของเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรามักมีสีเหลือง สีเขียว หรือสีดำ บ้างก็พบว่า ทำให้ผิวสัมผัส และรูปทรงเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

หากปล่อยทิ้งไว้นาน เวลาเดินหรือวิ่งจะรู้สึกระคายเคืองและเจ็บบริเวณนิ้วเท้าและเล็บเท้าที่เป็นเชื้อราอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อเชื้อราได้ ลองมาอาศัยอยู่ที่เล็บใดเล็บหนึ่งก็จะมีโอกาสแพร่กระจายไปยังเล็บอื่นสูง แต่อย่ากังวล เพราะเราสามารถกำจัดเชื้อราด้วยตัวเอง โดยการใช้ของกินและของใช้ใกล้ตัวทั้ง 6 อย่างดังต่อไปนี้

1. ขมิ้นผง

ของกินอย่างแรกที่ถือว่าเป็นฮีโร่ในการรักษาเชื้อราในเล็บเท้าคือ ขมิ้น เพราะอุดมไปด้วยสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และเชื้อราชนิดต่างๆ รวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย

วิธีการใช้ขมิ้นผง

  • ผสมขมิ้นแบบผงให้เข้ากับน้ำเปล่า จนมีลักษณะที่ค่อนข้างข้น
  • ปาดส่วนผสมลงบนเล็บที่เป็นเชื้อรา จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง

2. กระเทียม

กระเทียม คือเครื่องเทศอีกอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ปราบเชื้อราในเล็บเท้าได้ เนื่องจากมีสารต้านเชื้อราที่ชื่อว่า อะโฮอีน (Ajoene) อยู่มาก

วิธีการใช้กระเทียม

  • ทุบ หรือโขลกกระเทียมที่ปอกเปลือกแล้ว จนมีปริมาณเทียบเท่ากับ 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • ใส่กระเทียมลงในกะละมัง หรืออ่างแช่เท้าขนาดเล็ก จากนั้นเพิ่มน้ำอุ่นเข้าไปจนพอท่วมกระเทียม
  • แช่เท้าที่มีเล็บเป็นเชื้อราลงในกะละมัง หากปริมาณน้ำไม่ท่วมเล็บเท้าให้เพิ่มน้ำเปล่าเข้าไปอีก แล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที
  • ซับเท้า และเล็บเท้าให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก

3. น้ำมันมะพร้าว

กรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวนั้นสามารถใช้เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ อีกทั้งยังช่วยรักษาเล็บเท้าที่เป็นเชื้อราให้กลับมามีสภาพปกติได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

วิธีการใช้น้ำมันมะพร้าว

  • ทาน้ำมันมะพร้าวลงไปที่เล็บที่เป็นเชื้อรา จากนั้นนวดเบาๆ ให้น้ำมันซึมเข้าไปในเล็บเท้า
  • ปล่อยให้น้ำมันแห้งไปเองโดยไม่ต้องล้างออก

4. น้ำมันจากต้นชา

น้ำมันจากต้นชา หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tea tree oil อุดมไปด้วยสารต่อต้านเชื้อโรคทั่วไป และเชื้อรา ดังนั้นน้ำมันจากต้นชาก็สามารถนำมารักษาเล็บเท้าที่เป็นเชื้อราได้เช่นกัน

วิธีการใช้น้ำมันจากต้นชา

  • หยดน้ำมันจากต้นชาลงให้ทั่วเล็บที่เป็นเชื้อรา หรือแช่เท้าลงในน้ำมันจากต้นชาที่ผสมกับน้ำอุ่นแล้วประมาณ 15 นาที
  • ซับให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก

5. น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล

น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล หรือแอปเปิลไซเดอร์ (Apple cider) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักในประเทศไทย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปราบเชื้อราได้อย่างอยู่หมัด

วิธีการใช้น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล วิธีที่ 1

  • ผสมน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิลให้เข้ากันกับน้ำอุ่น โดยใช้อัตราส่วน 1:1
  • แช่นิ้วเท้าที่มีเล็บเป็นเชื้อรา (หรือแช่ทั้งเท้า) ไว้ในน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิลที่ผสมน้ำแล้ว แช่ทิ้งไว้ 30 นาที
  • ซับให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก

วิธีการใช้น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล วิธีที่ 2

  • ผสมน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล 2 ช้อน ให้เข้ากับแป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคนให้เข้ากันจนค่อนข้างเหนียว
  • ใช้แปรงสีฟันที่ไม่ใช้แล้วปาดส่วนผสมลงบนเล็บที่เป็นเชื้อรา จากนั้นขัดเบาๆ ให้ทั่วเล็บประมาณ 5 นาที
  • ล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง

6. น้ำยาบ้วนปาก

ปิดท้ายด้วยผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวอย่างน้ำยาบ้วนปาก ที่สามารถผันตัวเองมาเป็นยากำจัดเชื้อราในเล็บเท้าได้ด้วย เพราะมีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อโรค และจุลินทรีย์อยู่ไม่น้อย ซึ่งผลลัพธ์จะออกมาดีที่สุดเมื่อใช้คู่กับน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล

วิธีการใช้น้ำยาบ้วนปาก

  •  ผสมน้ำยาบ้วนปากให้เข้ากันกับน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล โดยใช้อัตราส่วน 1:1
  • ชุบสำลีแผ่นลงในส่วนผสม จากนั้นวางลงบนเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา
  • พันสำลีไว้กับนิ้วเท้า โดยใช้พลาสเตอร์ ผ้าพันแผล หรือเทปใส จากนั้นทิ้งไว้ 45 นาที
  • แกะสำลีออก และใช้แปรงสีฟันขัดเบาๆ ที่บริเวณเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา
  • ล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง

วิธีการรักษาเล็บเท้าที่เป็นเชื้อราด้วยของกินและของใช้ใกล้ตัวทั้ง 6 อย่างนี้ จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลานานติดต่อกันประมาณ 1-2 เดือน และอย่าลืมใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยของเล็บเท้าโดยรวมในระหว่างการรักษา และหลังจากการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

แต่หากรักษาด้วยตัวเองแล้วไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การรับประทานยาต้านเชื้อรา หรือการใช้ยาทาเฉพาะที่ เป็นต้น


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top