อาการท้องอืดและการผายลม Flatulence

วิธีแก้ท้องอืด แน่นท้อง ท้องแข็ง ท้องบวม รักษาอย่างไร

อาการท้องอืดและการผายลม หมายถึง การปลดปล่อยแก๊สจากระบบทางเดินอาหารผ่านทางทวารหนัก โดยเกิดขึ้นเมื่อมีการสะสมของแก๊สภายในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติของร่างกาย อาจมีอาการแน่นท้อง ท้องแข็ง ท้องบวมร่วมด้วย

ปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์จะสะสมแก๊สผ่าน 2 วิธีการหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องอืดและการผายลม ได้แก่

  1. การกลืนอากาศลงไปเมื่อรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่ม ทำให้ออกซิเจนและไนโตรเจนเข้าไปสะสมในทางเดินอาหาร โดยสาเหตุที่อาจทำให้มีการกลืนอากาศมากกว่าปกติ ได้แก่ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ การดื่มน้ำอัดลม และการรับประทานอาหารอย่างรีบร้อนเกินไป
  2. เกิดขึ้นระหว่างการย่อยอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สสะสมขึ้น เช่น ไฮโดรเจน มีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ หากรับประทานถั่ว กะหล่ำปลี ลูกเกด บร็อคโคลี แอปเปิ้ล และอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโทสมาก ก็จะยิ่งเพิ่มแก๊สในระบบทางเดินอาหาร และอาจทำให้ผายลมเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วย

สาเหตุของอาการท้องอืด ท้องบวม ผายลม

หากไม่ได้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลมากเกินไป และไม่ได้กลืนอากาศมากเกินไปด้วย อาการท้องอืด แน่นท้อง ผายลม ที่เกิดขึ้นมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน อาจมีสาเหตุมาจากโรคบางอย่างได้ เช่น

  • ท้องผูก
  • กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
  • แพ้ต่ออาหารบางชนิด เช่น แพ้น้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance)
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome (IBS))
  • โรคโครนส์ (Crohn’s disease)
  • โรคซีลิแอก (Celiac disease)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • ภาวะผิดปกติในการรับประทานอาหาร
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis)
  • ภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้ (Dumping Syndrome)
  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease (GERD))
  • ตับอ่อนอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Pancreatitis)
  • เป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร (Peptic Ulcers)

ท้องอืดขนาดไหน ต้องไปพบแพทย์

หากมีอาการท้องอืด ท้องบวม และการผายลมมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือพบอาการเหล่านี้ร่วมด้วย สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยได้

  • ท้องบวม
  • ปวดท้อง
  • มีแก๊สตลอดเวลาและมีอาการรุนแรง
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ท้องผูก
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • แสบร้อนกลางอก
  • มีเลือดในอุจจาระ

การมีอาการท้องอืดและการผายลมมากเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีปัญหาในการเข้าสังคม

หากอาการที่เกิดขึ้นรบกวนชีวิตประจำวันมากๆ เข้า ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์สภาพจิตใจได้เช่นกัน

ดังนั้นถ้าเริ่มรู้สึกว่า ปัญหาท้องอืด ท้องแข็งและการผายลมมากนี้ส่งผลเชิงลบต่อชีวิตแนะนำให้ไปพบแพทย์

การรักษาอาการท้องอืดและท้องบวมด้วยตนเอง

  • ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน ถ้าอาหารที่รับประทานอยู่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยากให้เปลี่ยนไปรับประทานคาร์โบไฮเดรตประเภทอื่นที่ย่อยง่ายกว่า เช่น มันฝรั่ง ข้าว กล้วย
  • จดบันทึกรายการอาหารที่รับประทาน การจดบันทึกจะช่วยวิเคราะห์ได้ว่า อะไรคือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดและการผายลมมากกว่าปกติ
  • แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ พยายามแบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานง่ายขึ้น
  • เคี้ยวอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีอากาศที่ถูกกลืนลงไปมากกว่าปกติ และควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือการสูบบุหรี่ การพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
  • การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร ทำให้ลำไส้ได้ขยับ ช่วยป้องกันอาการท้องอืดและการผายลมได้

กินยาเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องบวม

  • การใช้ยาเม็ดถ่านจะช่วยดูดซับแก๊สในระบบทางเดินอาหาร
  • การใช้ยาลดกรด
  • การรับประทานอาหารเสริมบางชนิด เช่น Alpha-Galactosidase สามารถบรรเทาอาการชั่วคราวได้

อาการท้องอืด ท้องแข็ง และอาการผายลมบ่อย แม้ไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติที่รุนแรง แต่อาจรบกวนคุณภาพชีวิตได้ รวมทั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรคได้ จึงควรหมั่นสังเกตตนเองว่า อยู่ในข่ายนี้หรือไม่


คำถามที่เกี่ยวข้อง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top