Default fallback image

รวม 10 เรื่องฝากครรภ์และคลอดลูก คุณแม่มือใหม่ควรรู้

การตั้งครรภ์และการคลอดลูกเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณแม่ ยิ่งคุณแม่มือใหม่อาจต้องเตรียมตัวให้พร้อมในหลายด้านก่อนลูกน้อยลืมตาดูโลก ซึ่งมีหลายเรื่องที่คุณแม่ควรรู้ หรือเป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนสงสัย ไปดูกัน!

1. ก่อนตั้งครรภ์ควรวางแผนตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จะช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน อันตรายต่าง ๆ ที่กระทบต่อการตั้งครรภ์ และค้นหาโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ทารก เช่น โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย หรือพาหะธาลัสซีเมีย 

กรณีพบปัญหาสุขภาพ คุณแม่จะได้รักษาให้อาการอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือพร้อมจะมีบุตร เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว คุณหมอจะได้ติดตามและดูแลให้เหมาะสมกับปัญหาของคุณแม่ เพื่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์สูงสุด

2. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์กับตรวจสุขภาพทั่วไปต่างกัน

มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างการตรวจสุขภาพ 2 แบบ การตรวจสุขภาพทั่วไปเน้นการตรวจปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ หรืออาจเป็นโดยไม่รู้ตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน

ส่วนการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จะเน้นการตรวจคัดกรองความเสี่ยง และเช็กความพร้อมของร่างกายในการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งวางแผนป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในอนาคต เช่น การตรวจภูมิคุ้มกันของโรคบางชนิด การตรวจภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมัน

3. ผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี สามารถตั้งครรภ์ปลอดภัยได้ 

เนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ไข่และฮอร์โมนที่ลดลงเมื่อผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ทำให้คุณแม่และทารกเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มอาการดาวน์ การคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ หรือเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ โดยให้ปรึกษากับคุณหมอ ร่วมกับตรวจสุขภาพก่อนเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยง และวางแผนดูแลสุขภาพครรภ์ล่วงหน้า รวมถึงเข้ารับการฝากครรภ์และตรวจครรภ์อย่างเหมาะสม 

4. ฝากครรภ์เป็นสิ่งจำเป็น ลดอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์

ร่างกายของคุณแม่และทารกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายตลอดการตั้งครรภ์  การฝากครรภ์ช่วยดูแลสุขภาพของคุณแม่และติดตามพัฒนาการของทารกตลอดช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงช่วยตรวจหาภาวะแทรกซ้อนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และรักษาได้ทันท่วงที

กรณีคุณแม่ไม่เข้ารับการฝากครรภ์อาจเกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและรักษาภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณแม่และทารก จึงแนะนำให้คุณแม่ควรฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

5. ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์

แต่ละช่วงของการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไป การฝากครรภ์เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณแม่และทารกได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดีตลอดการตั้งครรภ์ ไปจนถึงวันคลอดและหลังการคลอด 

โดยทั่วไป แนะนำให้ควรฝากครรภ์ทันทีที่ทราบ หรือตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4–8 ของการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของทารกได้อย่างต่อเนื่อง หรือช้าสุดไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ และควรพบคุณหมออย่างน้อย 5 ครั้งตลอดระยะการตั้งครรภ์

6. พบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการผิดปกติ

ตลอดการตั้งครรภ์จะมีการนัดติดตามสุขภาพครรภ์คุณแม่เป็นระยะ ๆ หากพบอาการผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที ไม่ต้องรอ โดยเฉพาะอาการต่อไปนี้

  • มีมูกเลือด เลือดหรือน้ำใส ๆ ไหลจากช่องคลอด ไม่ว่าปริมาณจะน้อยหรือมาก
  • ปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง ปวดตลอดเวลา มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
  • ปวดท้องเป็นพัก ๆ ร่วมกับมดลูกหดรัดตัว หรือปวดหลังร้าวลงก้นกบ 
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจร้าวลงไปที่ต้นขา 
  • ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงหลัง 30 สัปดาห์ 
  • อาการอันตรายอื่น ๆ ไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หนาวสั่นอย่างรุนแรง หรือช็อก หมดสติ 

การพบแพทย์ทันทีจะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน

7. เจ็บท้องคลอด มีทั้งเจ็บท้องคลอดจริง และเจ็บท้องหลอก

การเจ็บท้องคลอดอาจเจ็บท้องคลอดจริง ๆ จากมดลูกหดรัดตัวก่อนเข้าสู่ระยะคลอด หรืออาจเจ็บท้องหลอกจากลูกดิ้นแรง คุณแม่ทำงานหรือเดินมากไป หรือมดลูกหดรัดตัวตามปกติระหว่างตั้งครรภ์ โดยเบื้องต้นสามารถสังเกตความต่างได้ ดังนี้

  • เจ็บท้องคลอดจริง ปวดท้องน้อย อาจปวดหลังใกล้บั้นเอวร้าวมาตรงหน้าท้อง ความถี่ของอาการปวดจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการมักไม่ดีขึ้น แม้ว่านอนพักหรือกินยาแก้ปวด มีมูกเลือดหรือเลือดไหลทางช่องคลอด
  • เจ็บท้องหลอก มักปวดบริเวณท้องน้อยอย่างเดียว อาการปวดเกิดไม่สม่ำเสมอ ความถี่และความรุนแรงของอาการเท่าเดิม ไม่รุนแรงขึ้น

คุณแม่ควรสังเกตลักษณะอาการว่าเป็นการเจ็บท้องแบบใด หากอาการไม่หายไป และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อให้ตรวจดูว่าปากมดลูดเปิดหรือไม่ กรณีไม่แน่ใจหรือมีอาการอื่นแม้จะไม่ปวดท้อง เช่น น้ำเดิน หรือลูกดิ้นน้อยลง ก็ควรไปพบคุณหมอเช่นกัน

8. ฝากครรภ์ควรพิจารณาหลายปัจจัย

การฝากครรภ์ทำได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสูตินรีเวชทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือรัฐบาล คุณแม่สามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย เช่น 

  • สถานพยาบาลมีคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจดูจากประวัติการทำงาน หรือสอบถามจากคนใกล้ตัวที่เคยฝากครรภ์ 
  • สถานพยาบาลมีเครื่องมือทางการแพทย์ครบครัน สภาพแวดล้อมสะอาดและปลอดภัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน  
  • มีบริการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนคลอด การดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ และการให้นมลูก 
  • ค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณที่ตั้งไว้
  • อยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการติดตามสุขภาพครรภ์ หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

9. คลอดลูกที่เดียวกับที่ฝากครรภ์เป็นทางเลือกที่ดี

การคลอดลูกในสถานที่เดียวกับที่ฝากครรภ์มีข้อดีตรงที่ แพทย์จะทราบข้อมูลการฝากครรภ์ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงกำหนดคลอด ช่วยให้การคลอดมีความปลอดภัยมากขึ้น และดูแลคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ คุณแม่จะคุ้นเคยกับการไปสถานพยาบาลและพบกับคุณหมออยู่แล้ว อาจช่วยลดความตึงเครียดของคุณแม่ในช่วงใกล้คลอดได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลที่คลอดได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก หรือข้อจำกัดต่าง ๆ

10. เลือกคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด ต้องดูความปลอดภัยเป็นหลัก   

การคลอดมี 2 วิธีหลัก คือ การคลอดธรรชาติ และการผ่าคลอด การเลือกคลอดวิธีใดนั้น จำเป็นต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอเฉพาะทางเสียก่อน เพื่อเลือกวิธีคลอดที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับคุณแม่มากที่สุด 

การคลอดเองเหมาะกับคุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ หลังคลอดจะฟื้นตัวได้เร็ว โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ทำให้คุณแม่เจ็บหรือปวดแผลคลอดน้อยลง เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก และลูกน้อยได้รับภูมิคุ้มกันธรรมชาติทางช่องคลอดของคุณแม่ 

การผ่าคลอดเหมาะกับคุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น สายสะดือย้อย รกต่ำกว่าปกติ หรือคลอดเองไม่ได้ ความเจ็บปวดขณะคลอดน้อยกว่า สามารถรู้วันและเวลาคลอดได้แน่นอน พร้อมทำหมันได้หลังคลอดทันที 

เตรียมรับทุกความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ HDmall.co.th รวมแพ็กเกจฝากครรภ์ คลอดบุตร จากรพ. และคลินิกฝากครรภ์มาตรฐาน ช่วยดูแลคุณแม่ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ไปจนถึงหลังคลอด 

Scroll to Top