รัก Crown flower scaled

รัก (Crown flower)

รัก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง พบได้ทั่วไป มีดอกออกตลอดปี ชาวไทยนิยมนำมาใช้ร้อยมาลัย จัดพาน หรือนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รักมีประโยชน์ทั้งสำหรับนำมาใช้ประดับตกแต่ง และใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea L. Dryandr ex W.T.Aiton
  • วงศ์ APOCYNACEAE (ASCLEPIADACEAE)
  • ชื่อสามัญ Milk weed, Crown flower, Giant Indian milk
  • ชื่ออื่นๆ ดอกรัก รักดอก ปอเถื่อน ป่านเถื่อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของรัก

รัก เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก พุ่มสูงประมาณ 1.5-3 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งมีขนสีขาวปกคลุม เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม ลักษณะเป็นรูปรี ปลายแหลม โคนเว้ากว้าง เนื้อใบหนาอวบน้ำ หลังใบและท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม

ดอก เป็นดอกช่อ ออกตามกิ่งหรือซอกใบ มีชนิดสีขาวและสีม่วง ดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีรยางค์เป็นสันคล้ายมงกุฏ มีกลีบเลี้ยงสีเทาเงิน 5 กลีบ

ผล เป็นฝักออกติดกันเป็นคู่ มีสีเขียว ขนาดกว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. ผิวเป็นคลื่น ผลแก่สีน้ำตาลและแตก เมล็ดแบนสีน้ำตาล มีขนสีขาวเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง เมล็ดสามารถปลิวไปตามลมเพื่อขยายพันธุ์ได้

สรรพคุณของรัก

ส่วนต่างๆ ของต้นรักมีสรรพคุณดังนี้

  • ยาง เป็นยาถ่ายอย่างแรง ขับพยาธิ ขับเลือด ใช้ภายนอกช่วยรักษากลาก เกลื้อน แก้ปวดฟัน
  • เปลือกต้นและราก แก้ไข้ ช่วยขับน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน
  • ดอก ช่วยย่อย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร แก้ไอ แก้หืดและหวัด
  • ใบสด รักษาริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยาพอกบรรเทาอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ

ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณ สารประกอบ ในดอกรักและใบรัก พบว่าสารสกัดจากดอกและใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด น้ำยางสามารถต้านการอักเสบ ลดปวด ต้านจุลชีพ ต้านมะเร็ง และลดไข้ได้

แต่การศึกษาดังกล่าวยังเป็นการศึกษาในห้องทดลอง การใช้รักเพื่อเป็นยาเพื่อรักษาโรคจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

ข้อควรระวังของรัก

แม้จะมีการศึกษาเรื่องสรรพคุณมาแล้ว แต่การนำรักไปใช้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น

  • ยาง มีส่วนประกอบกลุ่มกรด Resin ester complex acids ซึ่งระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา ทำให้เกิดผื่น แดง คัน อักเสบ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือหากมีการสัมผัสกับยางพิษในรักแล้ว ควรรีบล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อลดความเข้มข้นของพิษ ป้องกันการระคายเคืองที่รุนแรง
  • ยางและใบ มีสารกลุ่ม Cardiac glycoside ที่มีฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต อาการพิษจะเริ่มด้วยอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และต่อมีจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากได้รับเข้าไปปริมาณมาก เมื่อได้รับพิษควรไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทันที

เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์

Scroll to Top