corns cause and treatment

ตาปลาเกิดจากอะไร วิธีการรักษาตาปลา

ตาปลา (Corns) คือ ตุ่มนูนเล็กๆ มักพบที่เท้าและมือโดยเฉพาะบนนิ้ว ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า ฝ่ามือ ตาปลาเกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นบนบริเวณนั้นมีการหนาตัวขึ้น พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แม้จะไม่มีอันตรายรุนแรงใดๆ แต่ตุ่มตาปลาเหล่านี้อาจทำให้ระคายเคืองเวลาสัมผัส หรือสวมใส่รองเท้า อีกทั้งยังทำให้มือและเท้าดูไม่เรียบเนียน ไม่สวยงาม จนหมดความมั่นใจไม่อยากให้ใครเห็น ตาปลาเกิดจากอะไร จะป้องกันและรักษาได้อย่างได้ มาทำความเข้าใจกับอาการนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ตาปลาเกิดจากอะไร

สาเหตุหลักของการเกิดตาปลา มักมาจากการเสียดสีซ้ำไปซ้ำมาของผิวหนังบริเวณนั้น โดยทั่วไปก็เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง เช่น

  • ชอบสวมใส่รองเท้าที่หลวม หรือคับแน่นเกินไป จนพื้นผิวรองเท้าเสียดสีกับผิวหนังมากกว่าปกติ
  • ชอบสวมรองเท้าส้นสูงที่มีการบีบรัดหน้าเท้ามากๆ
  • สวมรองเท้าหุ้มส้นโดยไม่ใส่ถุงเท้า
  • เดินลงน้ำหนักไม่เหมาะสม
  • เดินโดยไม่สวมรองเท้า
  • ใช้มือทำงานมากๆ เช่น เขียนหนังสือมาก หรือยกของหนักบ่อยๆ
  • เล่นกีฬาที่มีการเสียดสีบริเวณมือหรือเท้า เช่น ยิมนาสติก เตะฟุตบอล
  • มีผิวแห้ง เนื่องจากมีไขมันใต้ชั้นผิวหนังน้อย
  • เกิดจากความผิดปกติทางสรีระ เช่น มีนิ้วมือ นิ้วเท้าผิดรูป (ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (bunion) หรือนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (hammertoe)) ทำให้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ

อาการและลักษณะของตาปลา

  • เป็นตุ่มหนานูน หยาบ และแข็งกว่าปกติ หรือเป็นตุ่มที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง
  • เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ เนื่องจากผิวหนังชั้นเคราตินลอกออกและสะสมกันจนไปกดทับผิวหนังชั้นในที่มีเส้นประสาทอยู่
  • ผิวบริเวณตุ่มจะแห้งและลอกเป็นขุย มีสีเหลือง และความวาวคล้ายขี้ผึ้ง
  • บางครั้งอาจพบตาปลาชนิดอ่อนซึ่งผิวบริเวณตุ่มจะนิ่มและชุ่มชื้น และมีการลอกตัวอยู่เสมอ

ตาปลาอันตรายหรือไม่ ?

ตาปลาไม่ใช่โรคและไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวันได้ เช่น ตาปลาที่เท้าทำให้เจ็บเวลาเดิน เคลื่อนไหวไม่สะดวก ตาปลาที่มือก็ทำให้เจ็บปวดเวลาทำงาน ตาปลาที่นิ้วมือ ทำให้หยิบจับสิ่งของลำบาก

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน หากปล่อยไว้นานและไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อและอักเสบที่แผลตาปลาได้

การรักษาตาปลา

วิธีรักษาตาปลาด้วยตนเอง

  • กำจัดตาปลาด้วยตนเอง หากตาปลามีขนาดเล็ก เราอาจรักษาด้วยตัวเองได้ โดยแช่มือ หรือเท้าในน้ำร้อน จนตุ่มตาปลานุ่มลง ใช้หิน หรือตะไบขัดเบาๆ เพื่อเอาผิวที่หนานูนออก จากนั้นจึงเช็ดมือหรือเท้าให้แห้ง และทาโลชั่นป้องกันผิวแห้งแตก วิธีนี้ควรทำเป็นประจำจนกว่าตาปลาจะหายไป แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรขัดผิวแรงเกินไปเพราะจะทำให้เกิดแผลได้
  • ใช้ยารักษาตาปลา โดยทั่วไปจะเป็นยาทา หรือแผ่นแปะที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (salicylic) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
  • ใช้สมุนไพรธรรมชาติ เช่น หั่นมะนาวเป็นซีกๆ แล้วนำมาถูที่ตาปลาจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ หากทำเป็นประจำประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ จะทำให้ผิวบริเวณตาปลานิ่มลงได้ แต่วิธีนี้ก็อาจไม่ได้ผลดีมากนัก

วิธีรักษาตาปลาโดยแพทย์

  • ตัดแต่งผิวหนังบริเวณตาปลา หากตาปลามีขนาดใหญ่ แพทย์จะใช้มีดตัดผิวหนังส่วนเกินออก เพื่อไม่ให้ตาปลานูนหนาและสร้างความเจ็บปวด แต่วิธีนี้ไม่ควรทำด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดบาดแผลมีเลือดออกและติดเชื้อได้
  • การผ่าตัด เป็นวิธีที่ใช้ไม่บ่อยนัก ส่วนมากจะใช้รักษาผู้ที่มีตำแหน่งของกระดูกนิ้วมือนิ้วเท้าผิดปกติ

การป้องกันไม่ให้เกิดตาปลา

  • สวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีและนุ่มเท้า โดยเฉพาะถ้าต้องเดินมากๆ และหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่บีบรัด เช่น รองเท้าส้นสูง
  • หลีกเลี่ยงการเดินโดยไม่สวมรองเท้าและหากสวมรองเท้าหุ้มส้นก็ควรสวมถุงเท้าด้วย
  • หากทำงานที่ต้องใช้มือมาก เช่น งานก่อสร้าง แบกหาม ควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันการเสียดสี
  • ใช้ครีม หรือโลชั่นทาบำรุงผิวบริเวณมือและเท้าให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้น เพราะหากเล็บเท้ายาวเกินไปจะไปเบียดรองเท้าจนทำให้นิ้วเท้าต้องเสียดสีกับรองเท้าจะทำให้เกิดตาปลาได้

เขียนบทความโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top