ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าคุณแม่ไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน หากไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลอย่างเหมาะสม จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสี่ยงอันตรายได้
บทความนี้ขอพาคุณแม่และว่าที่คุณแม่มารู้จักกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ให้มากขึ้น ทั้งสาเหตุ วิธีสังเกต ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน และการป้องกัน เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อย
สารบัญ
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำไมแม่ท้องถึงเป็น
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ระดับฮอร์โมนของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่มีส่วนในการจัดการพลังงานและระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
ทำให้ร่างกายของคุณแม่จัดการกับน้ำตาลได้ยากขึ้นหรือไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ถ้าไม่ควบคุมให้ดีหรือปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเกิดเป็นภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แม้ว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เสมอไป ส่วนมากแล้ว คุณแม่ที่มีความเสี่ยงมักจะมีปัจจัยต่อไปนี้
- อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปในตอนตั้งครรภ์
- น้ำหนักตัวมาก ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
- มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และภาวะก่อนเบาหวาน
- มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครั้งก่อน
- มีประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดที่ผิดปกติ เช่น คลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป แท้ง หรือทารกตายในครรภ์
- มีประวัติเป็นกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายไข่ใบหรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome)
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะญาติสายตรง
วิธีสังเกตสัญญาณเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการที่ชัดเจน หรือพบอาการเล็กน้อย เป็นอาการที่พบได้ในคนท้อง ไม่ได้เฉพาะเจาะจง คือ ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ กระหายน้ำหรือหิวน้ำบ่อย คุณแม่เลยมักรู้ตัวตอนไปตรวจครรภ์หรือตรวจสุขภาพ
ปกติแล้ว การตรวจครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ในช่วงที่ไปฝากครรภ์ คุณหมอมักจะตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 24–28 สัปดาห์ หรือไตรมาสที่สอง
ถ้าก่อนหน้านั้น คุณแม่มีสัญญาณของภาวะนี้ หรือรู้สึกเป็นกังวล ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถ้าคุณแม่มีความเสี่ยงสูง คุณหมออาจจะให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานก่อนในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ที่วางแผนจะมีลูก ควรปรึกษาคุณหมอหรือตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ปัจจัยเสี่ยง เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งจะช่วยให้การตั้งครรภ์ที่จะเกิดในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่น
เบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม
เบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ ทั้งตัวคุณแม่เองและตัวน้อยในครรภ์ เช่น
อันตรายต่อทารก
- น้ำหนักตัวทารกมากกว่าปกติ ส่งผลให้คลอดได้ยาก
- มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจลำบาก ปอดพัฒนาช้ากว่าเด็กปกติ
- เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจโต ตัวเหลือง หายใจลำบาก รวมถึงระดับน้ำตาล แคลเซียม และแมกนีเซียมต่ำ
- เสี่ยงพิการแต่กำเนิด
- เมื่อทารกโตขึ้นจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน
อันตรายต่อคุณแม่
- เสี่ยงกับการคลอดก่อนกำหนดจากภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ และมักต้องผ่าคลอด เพราะทารกตัวใหญ่และน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
- เพิ่มความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูก
- อาจเสี่ยงกับการแท้งบุตร หรือภาวะตายคลอด
- มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่ปรับไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสมตามที่คุณหมอแนะนำ และคุณแม่เองสามารถควบคุมอาการได้ ก็ยังสามารถคลอดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัย หากทารกมีความผิดปกติหลังคลอด ก็อาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในแผนกเด็กเล็กต่อ
วิธีป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถประเมินหรือคาดเดาก่อนได้ จึงไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่การดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะนี้ หรือหากเกิดภาวะนี้ขึ้นขณะตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้
คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้เลย
ตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร
การวางแผนตั้งครรภ์นั้นสำคัญ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการตั้งครรภ์ และตรวจเช็กความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุณแม่บางคนอาจเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว หรือมีภาวะเสี่ยงเบาหวานโดยไม่รู้ตัว คุณหมอจะได้ช่วยแนะนำวิธีดูแลสุขภาพตัวเอง และช่วยวางแผนการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้ยา การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
โดยเริ่มจากเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ ประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช เน้นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
ออกกำลังกาย และเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
การขยับร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายดึงพลังงานจากน้ำตาลในเลือดมาใช้ได้ดีขึ้น กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งในคุณแม่ และทารก
ควบคุมน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์
น้ำหนักตัวมากเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักก่อนเริ่มมีน้อง เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยลง
รวมถึงระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ก็ควรระวังการเพิ่มน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปด้วย โดยสามารถปรึกษาคุณหมอถึงน้ำหนักตัวที่เหมาะสมของคุณแม่ได้
ตรวจเบาหวานไม่ยุ่งยาก รอผลไม่นาน จองผ่าน HDmall.co.th ได้ราคาโปรสบายกระเป๋า เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน จากรพ. และคลินิกใกล้บ้านคุณ