common stomach ache causes disease definition

ปวดท้องบ่อย ปวดท้องเรื้อรัง สัญญาณเตือน 6 โรคระบบทางเดินอาหาร

ปวดท้องเป็นอาการยอดฮิตที่พบได้บ่อย อาการปวดก็มีอยู่หลายแบบ ไม่ว่าปวดเกร็ง ปวดหน่วง ๆ ปวดบิด หรือปวดจี๊ด ๆ อาการเหล่านี้เหมือนเป็นอาการไม่ร้ายแรง แท้จริงแล้ว อาจเป็นสัญญานเตือนถึงโรคระบบทางเดินอาหารได้หลายโรคมากกว่าที่คิด

อาการปวดท้องกับ 6 โรคในระบบทางเดินอาหาร 

โรคระบบทางเดินอาหารส่วนมากจะมีอาการคล้ายกัน หนึ่งในนั้นจะมีอาการปวดท้องแน่ ๆ ไปดูกันว่ามีโรคอะไรบ้าง

1. โรคกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารจะเป็นลักษณะปวดท้องจุก ๆ ปวดแน่น ๆ บริเวณลิ้นปี่ (เหนือสะดือ) บางคนอาจปวดขึ้นไปถึงหน้าอก อาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ มักจะปวดก่อนกินอาหาร เมื่อกินอาหาร อาการจะดีขึ้น หรือปวดหลังกินอิ่มแล้ว 

ในระยะรุนแรงหรือปล่อยให้เรื้อรังอาจอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวซีดเหลืองหรือดีซ่าน อาการปวดท้องรุนแรงนานเป็นชั่วโมง หรือมีก้อนในท้อง ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน 

2. โรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหารคลายตัวผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยที่มีฤทธิ์เป็นกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แม้อาการจะคล้ายกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แต่ก็มีความต่างกันอยู่

อาการหลักของโรคกรดไหลย้อนจะทำให้ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ อาจลามขึ้นมาขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ มักเป็นหลังกินอาหารประมาณ 30–60 นาที หรือหลังกินมื้อหนัก ๆ มีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว หรือมีน้ำรสขมไหลในปากและลำคอ

นอกจากนี้ ยังมีอาการจุกแน่นกลางอก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง กลืนลำบาก  กลืนแล้วเจ็บ รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ ไอเรื้อรัง เสียงแหบ หากปล่อยไว้จะทำให้หลอดอาหารอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ 

3. โรคลำไส้แปรปรวน

เป็นภาวะผิดปกติที่ลำไส้บีบตัวมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องหรือแน่นท้อง ร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติไป อาจจะท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย และอาการปวดท้องมักจะดีขึ้นหลังจากหยุดถ่าย  

ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูกเกิดสลับ ๆ กัน ไม่หายขาด โดยไม่ได้มีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย และไม่ได้มีความเสี่ยงที่กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ก็อาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณกำลังเป็นลำไส้แปรปรวน และควรไปพบแพทย์ 

4. แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการอักเสบของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลขึ้น โดยอาจจะเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นก็ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโรไล (H. pylori) และการใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน

อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร คือ ปวดท้อง แสบร้อน ตรงกลางท้องหรือท้องส่วนบน อาการเป็น ๆ หาย ๆ หน้าท้องแข็งตึงกดแล้วเจ็บ บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีอาการท้องอืด จุกแน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย และรู้สึกมีลมในท้อง 

นอกจากนี้ อาจพบอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ได้ตามปกติ น้ำหนักลด อุจจาระมีสีดำ ตัวซีด และอ่อนเพลีย หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ 

5. นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีส่วนมากจะไม่พบอาการผิดปกติ มักตรวจเจอจากการไปพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น ๆ หรือบางรายที่ก้อนนิ่วไปอุดตันส่วนต่าง ๆ ในถุงน้ำดีจะทำให้เกิดอาการขึ้น

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี คือ มีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาจปวดร้าวไปยังไหล่ขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน บางคนมีอาการตาเหลืองเกิดขึ้นภายหลังมีอาการปวดท้องด้วย

นอกจากนี้ จะมีอาการทางเดินอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเฟ้อ ท้องอืด คล้ายอาหารไม่ย่อย มักเป็นหลังกินอาหารมื้อหนัก หรืออาหารมัน ๆ 

6. มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของกระเพาะอาหาร ระยะแรกมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร คือ ท้องอืด จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ทำให้คนส่วนมากไม่ทันได้ระวังและไปตรวจ เพราะคิดว่าเป็นแค่โรคกระเพาะ

ในระยะที่มะเร็งลุกลามจะพบอาการอื่น ๆ คือ ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด กินไม่ได้ น้ำหนักตัวลดลงเยอะ ไอ เหนื่อย หรือปวดหลัง ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ระบบไหน 

ปวดท้องแบบไหน ควรไปพบแพทย์

อาการปวดท้องไม่ว่าแบบใดก็อาจเป็นอันตราย ถ้ามีอาการปวดท้อง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน หรือปวดไม่มาก ก็อย่าละเลยที่จะไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอาการปวดท้องต่อไปนี้ 

  • ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมง และอาการไม่ดีขึ้น
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถกินข้าวหรือนอนหลับไม่ได้
  • ปวดท้องและอาเจียน มากว่า 34 ครั้ง
  • ปวดท้องมากขึ้นเมื่อขยับตัว
  • ปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวา
  • ปวดท้องมากจนปวดลามไปด้านหลัง
  • ปวดท้องร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เลือดออกจากช่องคลอด มีไข้ หอบเหนื่อย หน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ

โรคระบบทางเดินอาหารมักสังเกตยากกว่าโรคในระบบอื่น และอาการเบื้องต้นจะค่อนข้างคล้ายกัน ถ้ามีอาการปวดท้อง ควรไปพบแพทย์ หรือตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยให้รู้ต้นตอ และรับการรักษาให้หายขาด

นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับลักษณะอาการปวดท้อง ตำแหน่งที่ปวด และความรุนแรงของอาการปวด รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมด้วย เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยโรค

โรคระบบทางเดินอาหารตรวจคัดกรองได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการรุนแรง สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจที่เหมาะสมกับอาการและความเสี่ยงได้ 

ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียดท้อง เป็นมาหลายอาทิตย์ไม่หายสักที ปวดแบบนี้อันตรายหรือเปล่า? เช็กให้รู้ คัดกรองให้ชัวร์ HDmall.co.th รวมแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหารหลากหลายแบบ คลิกเลย! 

Scroll to Top