common diabetes complications disease definition

4 โรคแทรกซ้อนเรื้อรังอันตราย ภัยร้ายที่มาพร้อมโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรครักษาไม่หาย แต่ถ้ามีวินัยและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี หมั่นดูแลปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ผู้ป่วยก็สามารถชะลอโรค ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 ในทางกลับกันหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาแต่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีก็จะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว ซึ่งแต่ละปัญหาอันตรายทั้งนั้น

วันนี้คัดมาเตือนกัน 4 โรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่พบได้บ่อย จะมีอะไรบ้างไปดูกันในบทความนี้เลย   

โรคเบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรหรือมากกว่านั้นอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง จากที่ปกติควรอยู่ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

โดยสาเหตุมาจากตับอ่อนผิดปกติ จึงส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งทำหน้าที่แปลงน้ำตาลไปเป็นพลังงานไว้ใช้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยอาจผลิตออกมาไม่ได้เลย หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอและมีภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ร่วมด้วย ทำให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดในปริมาณมากนั่นเอง 

4 ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่มากับโรคเบาหวาน

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานแล้ว ปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงระยะยาวนี้เองที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนประเภทเรื้อรังที่อันตรายต่อหลายระบบอวัยวะได้ 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้ไม่ดี หรือไม่ดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น

1. ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

คนที่เป็นโรคเบาหวานมักเสี่ยงต่อปัญหาหัวใจและหลอดเลือดได้สูง ไม่ว่าจะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หัวใจ หรือกระทั่งหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่หล่อเลี้ยงอวัยวะอื่น อย่างแขน ขา เท้า ไต

โดยน้ำตาลในกระแสเลือดจะไปสร้างความเสียหายต่อผนังหลอดเลือด เร่งให้หลอดเลือดตีบเร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป ทำให้สมอง หัวใจ และอวัยวะส่วนอื่นขาดเลือดไปเลี้ยง

ตัวอย่างโรคหรือภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มนี้ก็เช่น 

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease: CAD) ส่งผลให้เจ็บหน้าอก (Angina) หัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว 
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป 
  • หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ทำให้ชาปลายมือเท้า ขาอ่อนแรง แผลหายยาก ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะ
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)   

2. เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy)

เบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากกว่า 80% ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมานานเกิน 10 ปี โดยดวงตาจะมีหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก 

หากน้ำตาลไปอุดตันหรือทำลายหลอดเลือดในจอประสาทตา ซึ่งทำหน้าที่รับแสงและทำให้มองเห็นภาพ อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี หรือก่อให้เกิดความเสื่อม การอักเสบ ตีบตัน โป่งพอง เลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกมาจากจอประสาทตาได้ 

ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงออกมา แต่ภายหลังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาสายตาอย่างช้า ๆ เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัดเวลากลางคืน วุ้นตาเสื่อม มีจุดเลือดออกในตา มีปัญหาในการอ่านหรือมองระยะไกล เสี่ยงเป็นต้อกระจกเร็ว 

กรณีที่ร้ายที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้  

3. เบาหวานลงไต (Diabetic nephropathy)

เช่นเดียวกับดวงตา ไตก็เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยหลอดเลือดฝอยจำนวนมากที่เรียกว่า กระจุกหลอดเลือดฝอย (Glomerulus) ทำหน้าที่ช่วยกรองของเสียจากกระแสเลือด 

หากกลุ่มหลอดเลือดในไตเหล่านี้ถูกทำลายจากระดับน้ำตาลสูง จะส่งผลให้เซลล์ไตเสียหาย ไตทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม มีของเสียและน้ำคั่งในร่างกาย ความดันโลหิตภายในไตที่สูงจะยิ่งทวีความเสียหายของไตให้มากขึ้น เป็นที่มาของโรคไตจากเบาหวานหรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า เบาหวานลงไต    

ผู้ป่วยเบาหวานลงไตในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่หากไตได้รับความเสียหายมากกว่า 80% อาจพบอาการผิดปกติ เช่น อาการบวมที่ใบหน้า มือ หรือขา ปัสสาวะเป็นฟอง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือไม่อยากอาหาร หากไม่ได้รักษาอาจเสี่ยงต่อภาวะไตวาย ซึ่งอาจรุนแรงและเรื้อรังจนต้องฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต

เบาหวานลงไตจัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากถึง 40% ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ในผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย

เบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต่างกันยังไง เบาหวานชนิดไหนที่คุณเสี่ยง? อ่านเพิ่มเติม 

4. แผลเบาหวานที่เท้า (Diabetic foot)

แผลเบาหวานที่เท้าเป็นผลจากปัญหาหลอดเลือดร่วมกับปัญหาเส้นประสาท ต้นเหตุจากการควบคุมและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องตัดขา เพื่อรักษาร่างกายส่วนอื่น ๆ ไว้ 

โดยปัญหาหลอดเลือดและเส้นประสาทจะส่งผลต่อร่างกายผู้ป่วย ดังนี้ 

  • หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงขา ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดี แผลหายช้าลง และเกิดแผลเรื้อรังได้ง่าย 
  • เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้า ส่งผลให้ชาปลายเท้า ขาอ่อนแรง หรือรู้สึกปวดคล้ายโดนเข็มทิ่ม

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานมักรู้สึกชาจนไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นแผล บวกกับแผลหายยาก และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วย 

ทำให้เป็นแผลเรื้อรัง และอาจลุกลามอย่างรวดเร็วจนต้องตัดนิ้วเท้าหรือเท้าออก เพื่อป้องกันอวัยวะใกล้เคียงได้รับความเสียหายไปด้วย และกรณีที่รุนแรงมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เลย 

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ยกมาในบทความนี้อันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างมาก ผู้ป่วยควรมีวินัยในตัวเอง ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร หมั่นออกกำลังกาย ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ร่วมกับเข้ารับตรวจสุขภาพเป็นประจำ และไปพบแพทย์ตามนัดหมายอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้ 

แม้บางคนจะยังไม่เป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ควรใส่ใจสุขภาพของตัวเองเช่นเดียวกัน ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ หรือออกกำลังให้น้ำหนักตัวสมส่วน ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อน ซึ่งจะช่วยให้เรารับรู้ความเสี่ยง เพิ่มการดูแลตัวเอง และอาจป้องกันโรคได้ทัน

เบาหวานขึ้นตา ลงไต ไปเท้า ย้อนเข้าสมอง จะอันไหนก็น่ากลัว… รู้แบบนี้ ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่อายุยังน้อยดีกว่า ให้แอดมินช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่เหมาะกับคุณที่ HDmall.co.th โปรดีมีส่วนลดทบเพิ่มทุกครั้งที่จอง คลิกเลย

Scroll to Top