Default fallback image

4 โรคสมองพบบ่อยในผู้สูงอายุ: รู้สัญญาณและวิธีดูแลสุขภาพสมอง

สุขภาพสมองเป็นสิ่งที่เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิต คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และอาจนำไปสู่โรคสมองได้ อย่างอัลไซเมอร์ อัมพฤกษ์ อัมพาต

มาทำความรู้จักกับโรคสมองพบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีในการดูแลสุขภาพสมอง และวิธีลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้กัน

การเปลี่ยนแปลงของสมองและความจำตามในคนสูงวัย

เมื่ออายุมากขึ้น สมองของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง การเชื่อมต่อกันของระบบประสาท ไปจนถึงความแข็งแรงของโครงสร้างสมองที่ลดลง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและร่างกาย 

ตามมาด้วยปัญหาด้านความจำ เหตุผล ความคิด หรือแม้แต่การเคลื่อนไหว แม้ว่าความเสื่อมถอยเหล่านี้จะไม่เท่ากับการเป็นโรคเสมอไป แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องใส่ใจดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่เนิ่น ๆ

4 โรคสมองและความจำในผู้สูงอายุที่พบบ่อย

ความเสื่อมของสมองตามช่วงวัย และปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง อาจทำให้เกิดโรคสมองที่พบบ่อยในผู้สูงอายุต่อไปนี้

1. โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) 

โรคพาร์กินสันเกิดจากการสูญเสียเซลล์ประสาทในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสั่น กล้ามเนื้อแข็งตึง เกร็งตลอดเวลา เคลื่อนไหวช้า เดินลำบาก เท้าติดตอนด้าวขา ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่การบาดเจ็บร้ายแรง

นอกจากผลกระทบด้านการเคลื่อนไหวแล้ว ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจประสบปัญด้านความจำ ความจำไม่ค่อยดี อาจความจำเสื่อมในระยะสุดท้าย มีอาการทางจิตใจ อย่างซึมเศร้า และวิตกกังวล รวมถึงปัญหาทางร่างกายอื่น ๆ จนเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน 

ถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มาก ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาช่วยเพิ่มระดับโดพามีนในสมอง ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟูทางกายภาพ เพื่อบรรเทาอาการของโรค

2. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุนั้นมาจากการสะสมโปรตีนบางชนิดในสมองที่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาท ทำให้สมองเสื่อมลงต่อเนื่องนานหลายปี โดยสัญญาณแรกเริ่มจากมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ บ่อยครั้ง 

เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะส่งผลต่อกระบวนการคิด การตัดสินใน การสื่อสาร แม้แต่อารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ท้ายที่สุดจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ 

การได้รับการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในระยะยาว แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองให้เกิดช้าลง เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนที่ช่วยดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ 

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรตรวจสุขภาพประจำปี หากมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์จากพันธุกรรมหรือปัจจัยอื่น สามารถเข้ารับตรวจสุขภาพสมองเพิ่มเติม 

3. ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

ภาวะหลอดเลือดสมองแตกเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) ชนิดหนึ่ง สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมสะสมของหลอดเลือดในสมอง อาจเป็นอายุมาก การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ การใช้ชีวิต และปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพหลอดเลือด 

ภาวะหลอดเลือดสมองแตกจะทำให้สมองขาดเลือด ขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้เซลล์สมองตาย ส่งผลให้ใบหน้า แขน หรือขาเกิดอาการชาหรืออ่อนแรงแบบเฉียบพลัน มักเป็นซีกใดซีกหนึ่ง เช่น พูดติดขัด หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขน ขาไม่มีเรี่ยวแรง มักยกข้างใดข้างหนึ่งไม่เท่ากัน   

นอกจากนี้ ยังปัญหาในด้านการมองเห็น การเดิน การทรงตัว หรือการประสานงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด และหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที อาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้เลย 

4. อัมพฤกษ์ อัมพาต

อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่จากเซลล์สมองขาดเลือด หรือโรคเกี่ยวข้องกับสมองอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

ถ้าผู้ป่วยสูญเสียการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งจะเรียก “อัมพฤกษ์” ถ้าสูญเสียการเคลื่อนไหวทั้งหมดจะเรียก “อัมพาต” พูดง่าย ๆ คือ อัมพฤกษ์ยังพอสามารถขยับร่างกายได้ แต่อัมพาตจะไม่สามารถขยับได้เลย

ผู้ป่วยมักจะมีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง ตามัว ตามองไม่เห็น พูดไม่เข้าใจ ไม่สามารถสื่อสารได้ พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล ปวดศีรษะทันทีทันใดอย่างรุนแรง เดินเซ ทรงตัวลำบาก หากเกิดอาการขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

นอกจากโรคสมองเหล่านี้ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแล้ว ยังมีโรคทางสมองและระบบประสาทอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน การดูแลสุขภาพสมองเป็นอย่างดี เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจสุขภาพสมองเมื่อมีความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ

วิธีลดความเสี่ยง ดูแลสุขภาพสมอง ป้องกันโรคสมองในผู้สูงอายุ

วัยสูงอายุย่อมเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงสมองมากขึ้นตามอายุ การดูแลสุขภาพสมองตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งวิธีต่อไปนี้ช่วยได้

เข้ารับการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคสมอง

ร่างกายผู้สูงอายุผ่านการทำงานมาเนิ่นนาน ย่อมมีความเสื่อมของสมองและระบบต่าง ๆ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ช่วยให้วางแผนรับมือกับปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที มีโอกาสรักษา และควบคุมอาการได้ดีกว่า

คนที่มีปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมอง เช่น มีโรคประจำตัว สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจสุขภาพสมอง หรือการตรวจคัดกรองโรคสมองเพิ่มเติม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพ ความเสี่ยงแต่ละโรค และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายจะช่วยรักษาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ส่งผลดีต่อการทำงานของเซลล์สมอง และร่างกายโดยรวม โดยสามารถเลือกกิจกรรมหรือประเภทกีฬาที่เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้สูงอายุ เช่น เดินเล่น ว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายเบา ๆ 

ฝึกใช้งานสมอง

ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายสมองด้วยการอ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง เรียนรู้ภาษาใหม่หรือสิ่งใหม่ ๆ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยฝึกสมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเป็นปกติ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองได้อีกทาง

ดูแลอาหารและโภชนาการ

ผู้สูงอายุควรเน้นรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและไขมันดีในปริมาณเหมาะสม ซึ่งช่วยในการทำงานของเซลล์สมองและส่วนอื่นในร่างกาย เช่น ปลา ผักใบเขียว ผลไม้ และถั่ว   หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ลดอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือหวานจัด 

ดูแลสุขภาพของหลอดเลือด

สุขภาพหลอดเลือดที่ไม่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคทางสมองได้ จึงควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสม

นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับที่เพียงพอส่งผลต่อสุขภาพสมอง แต่ผู้สูงอายุมักพบเจอกับปัญหาการนอนหลับ อย่างนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือตื่นง่าย ซึ่งควรปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม เช่น ปิดห้องนอนให้มืด ลดเสียงรบกวน ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสม

การล่วงเลยของวัยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การดูแลสุขภาพทางร่างกายและสมองอย่างดี เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติด้วยการตรวจสุขภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคสมองในผู้สูงอายุลง หรืออย่างน้อยยังหาวิธีชะลอการเสื่อมสภาพของสมองให้เกิดช้าลงได้เมื่อตรวจพบได้ก่อน 

โรคสมองในผู้สูงอายุ เลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องเฝ้าระวัง HDmall.co.th คัดสรร โปรตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคสมอง ให้เลือดจองในราคาคุ้มค่า เปรียบเทียบราคาตามงบได้ก่อน คลิกเลย 

Scroll to Top