เส้นเลือดฝอยในตาแตกหรือภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival Hemorrhage) มักทำให้เกิดอาการตาขาวแดงก่ำเป็นหย่อม ๆ หรือแดงก่ำทั้งหมด ใครเห็นก็ต้องตกใจ กลัวเป็นโรคตาแดง หรือสงสัยจะเป็นอันตรายร้ายแรงหรือเปล่า
แต่อันที่จริงแล้ว ภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกมักไม่มีอันตรายรุนแรง เว้นแต่ว่าจะมีอาการระคายเคืองตามมา แต่ทั้งหมดนี้หายเองได้ แค่อาจจะใช้เวลาหลายวันหน่อย
สารบัญ
เส้นเลือดฝอยในตาแตก เกิดจากอะไร
- การขยี้ตา การขยี้ตาแรง ๆ หรือขยี้จนเล็บไปสะกิดโดนดวงตา อาจทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ ลองสังเกตดูว่าบางทีหลังตื่นนอน ตาจะแดง ซึ่งก็มาจากการขยี้ตาตอนหลับนั่นเอง
- การเกิดอุบัติเหตุ เมื่อศีรษะหรือใบหน้าโดนกระแทก หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ฐานกะโหลกศีรษะอาจฉีกขาด เกิดแรงดัน แล้วทำให้หลอดเลือดฝอยในตาแตกได้ ถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ไม่รีบรักษา ดวงตาอาจมีแรงดันสูงมาก จนกลายเป็นต้อหิน และทำให้ตาบอดได้
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในตา เช่น น้ำหรือฝุ่นเข้าตา ทำให้เกิดการระคายเคือง
- ความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะเกิดอาการตาแดงได้บ่อย เนื่องจากแรงดันในหลอดเลือดส่งผลให้เส้นเลือดฝอยบริเวณดวงตาแตก
- การยกของหนัก การออกแรงยกของหนักจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นการเพิ่มแรงดันในลูกตา จึงอาจทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เช่นกัน
- การไอ จาม และอาเจียน ถ้าไอ จาม และอาเจียนอย่างรุนแรง จะทำให้แรงดันในร่างกายสูงกะทันหัน เป็นสาเหตุให้เส้นเลือดฝอยแตกได้
- การดำน้ำ การดำน้ำในระดับลึก ๆ จะเจอกับแรงดันน้ำภายนอก ทำให้แรงดันในตาสูงขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าบางคนที่เพิ่งดำน้ำมามักมีอาการตาแดง
- หลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น หลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงในสมองเชื่อมต่อกันผิดปกติ หรือหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ทำให้มีแรงดันเพิ่มขึ้นในสมองและลูกตา จนมีภาวะเลือดออกผิดปกติในสมองและตาได้ มักพบอาการปวดตา ปวดศีรษะ และอาจอันตรายถึงขึ้นชักและสมองฝ่อได้
- มีโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือต้องใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เช่น การรับประทานยาวาร์ฟาริน (Warfarin) และยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด การรับประทานสมุนไพรใบแปะก๊วย ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เยื่อบุตา ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับอาการปวดตา แสบเคืองตา หรือตาอักเสบ จนเผลอขยี้ตา และทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตกได้
เส้นเลือดฝอยในตาแตก อันตรายหรือเปล่า
ภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ มักจะไม่มีอันตรายรุนแรง ถ้าดูแลถูกวิธีจะหายเองได้ภายใน 1–2 อาทิตย์ บางทีอาจมีอาการระคายเคืองบ้าง แต่บรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น การใช้น้ำตาเทียม หรือยาหยอดตา
สำหรับยาหยอดตาให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อมาใช้เอง เพราะอาจทำให้ดวงตาระคายเคืองกว่าเดิมได้ หากมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น แสบตา เคืองตา ปวดตา มองเห็นแย่ลง ปวดศีรษะ ให้รีบไปหาจักษุแพทย์โดยด่วน
ภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกส่วนมากมักจะเกิดที่ตาขาว แต่บางทีก็พบในตาดำได้เหมือนกัน ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงกว่า เช่น การอักเสบ ติดเชื้อ หรือเกิดบาดแผลที่นัยน์ตา
ถ้าเส้นเลือดฝอยในตาดำแตก อาจทำให้มองเห็นแย่ลง เห็นภาพเป็นจุด ๆ หรือมีเลือดไหลออกจากตาได้ อาการแบบนี้ก็ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์เช่นกัน
อาการแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
- การมองเห็นแย่ลง เช่น ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
- ปวดตาอย่างรุนแรง
- มีน้ำตาไหลออกจากตาผิดปกติ
- มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
วิธีรักษาเส้นเลือดฝอยในตาแตก และการดูแลตัวเอง
ภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกที่ไม่เป็นอันตรายนั้น แค่พักผ่อนดวงตาให้เหมาะสมก็หายเองได้ แต่หากมีอาการระคายเคือง ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อขอยาหยอดตามาช่วยบรรเทาอาการ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตก เช่น ความดันโลหิตสูง หรือการไอเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และต้องรีบรักษา
ระหว่างที่ตายังแดงอยู่ ควรงดทำกิจกรรมที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น การยกของหนัก การว่ายน้ำ การดำน้ำ รวมถึงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ๆ เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะยิ่งกระตุ้นให้ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตารุนแรงขึ้นได้
เส้นเลือดฝอยในตาแตก ป้องกันยังไงได้บ้าง
ภาวะนี้ป้องกันได้ด้วยการดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตามากเกินไป และพักดวงตาเป็นระยะ ๆ
- ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตา ควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกัน
- ไม่ขยี้ตาแรง ๆ เพราะจะทำให้ดวงตาระคายเคืองได้
- หลีกเลี่ยงการออกแรงมากเกินไป เช่น การยกของหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม
- ระวังปัจจัยที่กระตุ้นให้เส้นเลือดฝอยในตาแตก เช่น ความดันโลหิตสูง และอาการไอจามเรื้อรัง
ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญไม่น้อย ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด และใช้งานดวงตาอย่างเหมาะสม ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจะดีที่สุด
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง