โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียให้ผู้หญิงทั่วโลก ในขณะเดียวกันโรคมะเร็งเต้านมก็มีวิธีรักษาได้หลายวิธี ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหลายรายสามารถเอาชนะความร้ายแรงของโรคนี้ได้ โดยในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีรักษาโรคผ่าตัดด้วยการผ่าตัดว่ามีกี่วิธี และมีวิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างไรบ้าง
สารบัญ
ความหมายของโรคมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) หมายถึง โรคมะเร็งซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ภายในท่อน้ำนม และต่อมน้ำนม ทำให้เกิดเป็นก้อนมะเร็งภายในเต้านม รวมถึงท่อน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงด้วย
หากไม่รีบทำการรักษา เชื้อมะเร็งก็จะยิ่งลุกลามไปสู่อวัยวะส่วนอื่นๆ ด้วย
วิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านม
ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้มีวิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านมหลายวิธี ได้แก่
- วิธีผ่าตัด
- วิธีทำเคมีบำบัด
- วิธีฉายรังสีบำบัด
- วิธีใช้ยาต้านฮอร์โมน
- วิธีใช้ยาที่ออกฤทธิ์กำจัดเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ
วิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัด มักเป็นวิธีรักษาที่แพทย์แนะนำในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก เพราะทั้งช่วยให้พยากรณ์โรคได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำไปควบคุมโรคได้อย่างเหมาะสม
ระยะเวลาการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5 ชั่วโมง มีการดมยาสลบก่อนผ่าตัด และเมื่อผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยใส่เสื้อกระชับทรงพิเศษสำหรับการผ่าตัดเต้านมด้วย เพื่อให้ปากแผลไม่เปิด รวมถึงเลือดกับน้ำเหลืองข้างในแผลไม่ไหลออกมา
นอกจากนี้แพทย์จะใส่ท่อเล็กๆ 1-2 เส้นเข้าไปในแผลเพื่อระบายเลือดกับน้ำเหลืองออกจากแผล และผู้ป่วยจะนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน โดยในวันที่ 3 เป็นต้นไป แพทย์อาจถอดเอาท่อเล็กๆ เหล่านี้ออกให้แล้ว
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การผ่าตัดนำเต้านมออกทั้งเต้า (Total or Simple mastectomy)
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเต้านม รวมถึงผิวหนังเหนือบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง และหัวนมออกด้วย แต่ก่อนแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกราย แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ผู้ป่วยทุกรายจึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดนำเต้านมออกทั้งหมดเสมอไป
การผ่าตัดเพื่อนำเต้านมออกทั้งเต้าจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือมีก้อนมะเร็งในเต้านมหลายก้อนเท่านั้น
2. การผ่าตัดเอาเต้านมออกเพียงบางส่วน (Breast Conserving surgery)
มีอีกชื่อเรียกว่า “การผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้า” เป็นการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็ง และเนื้อเต้านมรอบก้อนมะเร็งประมาณ 1-2 เซนติเมตรออกไปด้วย ส่วนมากหากเลือกการผ่าตัดแบบนี้ แพทย์จะเลือกให้ผ่าตัดเหลือหัวนม ฐานหัวนม และเนื้อเต้านมส่วนอื่นๆ เอาไว้
การผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนมักใช้ในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก และมีตำแหน่งเดียว นอกจากนี้หลังจากผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยยังจะเข้ารับการฉายรังสีรักษาที่เต้านมร่วมด้วย
หลังจากการรักษาเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะยังรักษารูปร่างของเต้านมเอาไว้ได้ หรืออาจมีการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเพิ่มเติม
การผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองออก
นอกจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีผ่าตัด ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ด้วย โดยเป็นกระบวนการผ่าตัดเพื่อตัดชิ้นเนื้อมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเต้านมออกไป โดยแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary dissection)
เป็นการผ่าตัดเพื่อลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองไปยังอวัยะอื่นๆ โดยการนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณดังกล่าวออกไปทั้งหมด และยังช่วยให้แพทย์ต่อยอดเรื่องวางแผนการรักษาเพิ่มเติมได้อีกด้วย
2. การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymph node biopsy)
เป็นวิธีผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ระยะของโรคมะเร็งยังอยู่ในระยะแรก หรืออยู่ในระยะที่ไม่ร้ายแรง มีโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งน้อย
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลมีข้อดีตรงที่หากนำชิ้นเนื้อไปตรวจแล้วพบว่า เชื้อมะเร็งไม่มีการแพร่กระจาย แพทย์ก็จะไม่ตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆ ออก ทำให้ลดโอกาสการเกิดอาการแขนบวม (Lymphedema) ในผู้ป่วยได้
แต่หากผลการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลออกมาพบว่า เชื้อมะเร็งมีการลุกลามแพร่กระจายได้ แพทย์ก็จะดำเนินการรักษาด้วยการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดต่อไป
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเต้านม และต่อมน้ำเหลือง
การผ่าตัดต่อมเต้านม และต่อมน้ำเหลืองโดยแพทย์ที่ไม่ชำนาญการ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ดังต่อไปนี้
- มีอาการชาที่ต้นแขนด้านใน
- เส้นประสาทบางส่วนได้รับบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม
- เกิดภาวะแขนบวม หรือข้อไหล่ติด เนื่องจากมีของเหลวคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง แต่โดยปกติอาการจะหายไปเอง หรือสามารถดูดออกได้ด้วยเข็มฉีดยา
- การติดเชื้อที่บาดแผล
- ภาวะบวมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมของของเหลวข้างในแขนหลังผ่าตัด มักจะแสดงอาการหลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้นไปแล้วในระยะหนึ่ง หรืออาจระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน หรือหลายปีแล้ว
การดูแลตนเองหลังจากผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม
หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น โดยปกติแพทย์มักจะให้ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล 2-3 วัน แล้วค่อยกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน โดยผู้ป่วยจะต้องรู้จักการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาให้แผลผ่าตัดอยู่ในสภาพดี ไม่เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น
- พักผ่อนให้มากๆ หลีกเลี่ยงการไปออกกิจกรรมนอกบ้าน หรือขับรถชั่วคราวประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- อย่าใช้สาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือวัตถุใดๆ มารัดแขนข้างที่ผ่าตัด
- อย่าให้แขน และไหล่ส่วนที่ผ่าตัดถูกแสงแดดจัด หรือสัมผัสความร้อน
- งดการยกแขน ออกกำลังกาย รวมถึงใช้แขนยกของหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม และงดการสะพาย หรือแบกของบนไหล่ข้างที่ผ่าตัดด้วย
- ทำความสะอาดแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แขนข้างที่ผ่าตัด
- งดการวัดความดันโลหิต การฉีดยา เจาะเลือด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดที่แขนข้างที่ผ่าตัด
- รีบไปพบแพทย์หากแผลผ่าตัดมีอาการบวมแดง รู้สึกเจ็บปวดแผลมากผิดปกติ
- ทำท่ากายบริหารตามที่แพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดแนะนำ เพื่อให้แขนข้างที่ผ่าตัดสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติเร็วที่สุด
นอกจากนี้ถึงแม้จะผ่านการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแล้ว แต่ก็ยังต้องไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอื่นๆ เป็นประจำทุกปี เพราะโรคมะเร็งหลายชนิดยังมีโอกาสเกิดขึ้นกับร่างกายคุณได้อีก ยังควรต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายที่คุณยังไม่รู้ด้วย
การผ่าตัดสร้างเต้านม (Breast reconstruction)
หลังจากผ่าตัดนำก้อนเนื้อร้ายออก ผู้ป่วยหลายรายจะรู้สึกเสียความมั่นใจขนาด และลักษณะหน้าอกที่อาจเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงมีการผ่าตัดสร้างเต้านมเกิดขึ้น
ดังนั้นจึงมีการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเต้านมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในรูปร่าง และทำให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ
- การผ่าตัดนำผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน และกล้ามเนื้อหน้าท้องมาทดแทนเต้านมส่วนที่ถูกผ่าตัดออกไป (Transverse Rectus Abdominis Myocutaneous flap: TRAM flap) ทำให้ลักษณะหน้าอกของผู้ป่วยยังคงแบบเดิมเอาไว้ นอกจากนี้การผ่าตัดโดยใช้ผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องยังช่วยทำให้ผิวหน้าท้องผู้ป่วยดูแบนราบลงอีกด้วย และไม่ต้องรับรังสีรักษาเพิ่ม
- การผ่าตัดนำผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน และกล้ามเนื้อบริเวณสะบักมาทดแทนเต้านมส่วนที่ถูกผ่าตัดออกไป (Latissimus Dorsi myofascial flap: LD flap) เป็นการผ่าตัดที่ยังต้องอาศัยการทำรังสีรักษาร่วมด้วย มักใช้ในผู้ป่วยที่สูญเสียเนื้อเต้านมมากจนไม่สามารถคงลักษณะเต้านมเดิมไว้ได้
- การผ่าตัดใส่เต้านมเทียมแทนที่เต้านมส่วนที่ผ่าตัดออกไป (Prosthesis) เป็นการผ่าตัดนำวัสดุเทียมที่ไม่ใช่เนื้อเยื่อ หรือผิวหนังบนร่างกายมาแทนที่เต้านม แต่อาจมีผลข้างเคียงหากผู้ป่วยต้องเข้ารับรังสีรักษา เนื่องจากเนื้อเยื่อรอบๆ เต้านมเทียมอาจหดรั้ง ทำให้เต้านมเสียรูปได้
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมอาจดูน่ากลัว แต่เพื่อตัดเนื้อร้ายที่อาจลุกลามสร้างความเสียหายต่อร่างกายออกไป การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจึงจำเป็นในผู้ป่วยหลายราย
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยดูแลตนเองหลังเข้ารับการผ่าตัดอย่างเหมาะสม ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการทุกครั้ง รวมถึงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ผู้ป่วยก็อาจหายขาดจากโรคมะเร็งร้ายชนิดนี้ได้เช่นกัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา