betahistine scaled

Betahistine (เบตาฮีสทีน)

เบตาฮีสทีน (Betahistine) เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเมเนียร์ โรคหูชั้นในอักเสบ โรคหูชั้นในเสื่อม โรคพาร์กินสัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง โดย​​ยารูปแบบรับประทาน ยาเม็ด ประกอบด้วยเบตาฮีสทีน ขนาด 6 12 16 และ 24 มิลลิกรัม

ยา Betahistine ใช้รักษาโรคอะไร

ยาเบตาฮีสทีนใช้รักษาผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคเหล่านี้ได้ เช่น

  • โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) คือโรคที่ส่งผลต่อหูชั้นใน เช่น โรคหูชั้นในอักเสบหรือหูชั้นในเสื่อม ทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ ส่งผลต่อการทรงตัว  อาจมีอาการบ้านหมุน หูอื้อ และคลื่นไส้
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ลดอาการเวียนศีรษะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางราย
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อาจช่วยลดอาการเวียนศีรษะในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางราย

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Betahistine

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ ยาเบตาฮีสทีนออกฤทธิ์แบบอะโกนิสที่ตัวรับฮีสตามีน เอช-1 (Histamine H-1 receptor agonist) และออกฤทธิ์แบบแอนทาโกนิสที่ตัวรับฮีสตามีน เอช-3 (Histamine H-3 receptor antagonist) ที่เนื้อเยื่อระบบประสาท ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดฝอย และลดความดันของน้ำในหูชั้นใน

ปริมาณการใช้ยา Betahistine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคเมเนียร์สำหรับผู้ใหญ่

  • ยารูปแบบเบตาฮีสทีน ไฮโรคลอไรด์ (Betahistine hydrochloride) ให้กินปริมาณเริ่มต้น 8-16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง จากนั้นกินต่อเนื่อง 24-48 มิลลิกรัม/วัน
  • ยารูปเบตาฮีสทีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Betahistine dihydrochloride) ยาเม็ดขนาด 16 มิลลิกรัม ให้กิน ½ เม็ด–1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 3 ครั้ง และยาเม็ดขนาด 24 มิลลิกรัม ให้กิน 48 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด
  • ยารูปแบบเบตาฮีสทีน เมซิเลท (Betahistine mesylate) ขนาด 6–12 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

ยาเบตาฮีสทีนต้องกินในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้กินพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร และควรระวังในการใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ถ้าลืมกินยา Betahistine ต้องทำยังไง

เมื่อลืมกินยา ให้กินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ตามปกติ แต่หากใกล้เวลากินยารอบถัดไป ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และกินยาของมื้อถัดไปแทนได้เลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เพื่อทดแทนยาในมื้อที่ลืมไป

ข้อควรระวังในการใช้ยา Betahistine

  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีประวัติการมีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงจากยา Betahistine

ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเบตาฮีสทีน เช่น อาจมีผื่นแดงขึ้น อาการแพ้แบบกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Steven-Johnson syndrome)  อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ สับสน ชัก ง่วงซึม เห็นภาพหลอน ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด แผลในกระเพาะอาหาร อาเจียน หรือหายใจลำบาก

การใช้ยา Betahistine ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

ยาเบตาฮีสทีนจัดอยู่ในกลุ่ม Category B หมายความว่า ยาค่อนข้างปลอดภัยในการใช้กับสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

ประเภทของยา Betahistine ตามองค์การอาหารและยาประเทศไทย

ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น


ลองดูวิธีรักษาอาการหูอื้อง่าย ๆ ด้วยตัวเองได้ที่นี่

Scroll to Top