วัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในวัคซีนที่สำคัญสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและหูดที่อวัยวะเพศได้
ก่อนจะไปฉีดวัคซีนชนิดนี้ มาเตรียมตัวศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีน HPV ทั้งประโยชน์และข้อจำกัดของมันกันดีกว่า
สารบัญ
- 1. วัคซีน HPV คืออะไร
- 2. วัคซีน HPV มีกี่ชนิด ต่างกันอย่างไร
- 3. ทำไมวัคซีน HPV ควรฉีดตั้งแต่เด็ก ควรฉีดตอนอายุเท่าไร
- 4. วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
- 5. วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกตลอดชีวิต
- 6. ฉีดวัคซีน HPV แล้วต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไหม
- 7. เคยมีเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อ HPV มาก่อน ฉีดวัคซีนแล้วจะได้ผลไหม
- 8. ฉีดวัคซีน HPV ไม่ครบจะเป็นอะไรไหม
- 9. มีคู่นอนคนเดียว ไม่ต้องฉีดวัคซีน HPV
- 10. ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์แล้ว ต้องฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ไหม
- 11. คนท้องและให้นมบุตร ฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม
- 12. วัคซีน HPV ฉีดได้ทุกคนจริงไหม
- 13. วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงหรือเปล่า
1. วัคซีน HPV คืออะไร
ตอบ: วัคซีน HPV เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และโรคมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งผนังช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งศีรษะและลำคอบางชนิด และมะเร็งองคชาติ
เชื้อ HPV มีเป็นร้อยสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบได้บ่อยกว่า 70% รองลงมาคือสายพันธุ์ 31, 33, และ 45
ส่วนหูดที่อวัยวะเพศกว่า 90% มักมีสาเหตุมาจากเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างสายพันธุ์ 6 และ 11
โดยเชื้อ HPV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงออกมา และส่วนใหญ่มักหายได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจกลายไปเป็นโรคร้ายได้
2. วัคซีน HPV มีกี่ชนิด ต่างกันอย่างไร
ตอบ: ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีทั้งหมด 3 ชนิด ซึ่งแตกต่างกันตามจำนวนสายพันธุ์ที่ป้องกันได้ และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่จะครอบคลุมทั้งโรคมะเร็งและหูดที่อวัยวะเพศ ได้แก่
- ชนิด 2 สายพันธุ์ (ชื่อทางการค้า Cervarix) คือ สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 16 และ 18 ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- ชนิด 4 สายพันธุ์ (ชื่อทางการค้า Gardasil) คือ สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 16 และ 18 และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ 6 และ 11 ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ราว
- ชนิด 9 สายพันธุ์ (ชื่อทางการค้า Gardasil 9) คือ สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ 6 และ 11 ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งผนังช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่
3. ทำไมวัคซีน HPV ควรฉีดตั้งแต่เด็ก ควรฉีดตอนอายุเท่าไร
ตอบ: วัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่ร่างกายยังไม่ติดเชื้อ การฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เลยจะให้ผลดีกว่า เพราะเป็นวัยที่มักยังไม่มีเพศสัมพันธ์ โอกาสได้รับเชื้อก็มีน้อยลง
ขณะเดียวกันเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายได้นานเป็น 10 ปี โดยไม่แสดงอาการ กว่าจะแสดงอาการหรือรู้ตัว เชื้อก็อาจลุกลามจนเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นการป้องกันโรคที่ดี
วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 45 ปี ทุกเพศ ส่วนใหญ่แนะนำให้เริ่มฉีดครั้งแรกตอนอายุ 11–12 ปี จำนวน 2 เข็ม คือเข็มแรกเดือนที่ 0 และเข็มถัดมาในเดือนที่ 6–12
หากอายุเกิน 15 ปี จะแนะนำให้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม คือเข็มแรกเดือนที่ 0 และเข็มถัดมาในเดือนที่ 1–2 แและเข็มสุดท้ายที่เดือน 6 เช่นเดียวกับคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็แนะนำให้ฉีด 3 เข็มเช่นเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงอายุ
การฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 26–45 ปี หรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะลดลง สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมถึงความเสี่ยงและความจำเป็นได้
4. วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
ตอบ: ตามกระบวนการปกติวัคซีน HPV จะไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยตรง แต่จะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก
เมื่อร่างกายไม่ติดเชื้อไวรัส HPV ความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกก็ลดลง หลายคนจึงเรียกวัคซีน HPV ว่า วัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง
5. วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกตลอดชีวิต
ตอบ: วัคซีน HPV อาจไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตลอดชีวิต แต่วัคซีนชนิดนี้ก็มีประสิทภาพในการป้องกันที่ยาวนานกว่า 10–12 ปี
หลังผ่าน 10 ปีไปแล้ว ก็ยังมีผลการวิจัยว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกกว่า 90% ส่วนมากก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในอนาคต
6. ฉีดวัคซีน HPV แล้วต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไหม
ตอบ: เนื่องจากวัคซีน HPV ไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% จึงแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี
หรือตามที่แพทย์เห็นสมควร เช่น การตรวจภายใน การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือการตรวจตินเพร็พ (Thin Prep)
มะเร็งปากมดลูกก็ต้องคัดกรอง วัคซีน HPV ก็ต้องฉีด ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี? มานี่สิ HDmall.co.th รวมให้ครบ แพ็กเกจคัดกรองมะเร็ง ที่นี่ และฉีดวัคซีน HPV ทุกชนิด ตรงนี้เลย ราคาโปรทุกแพ็กเกจ พร้อมส่วนลดเพิ่มจุก ๆ
7. เคยมีเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อ HPV มาก่อน ฉีดวัคซีนแล้วจะได้ผลไหม
ตอบ: วัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือฉีดตอนอายุน้อยที่มักจะไม่มีเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดเลยอยู่ในร่างกาย กรณีมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังฉีดวัคซีน HPV ได้ เพียงแค่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะน้อยลง
ส่วนคนที่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน การฉีควัคซีน HPV จะมีประโยชน์ในแง่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดเชื้อ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำได้
รวมถึงผู้ชายอายุน้อย ๆ การฉีดวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันหูดหงอนไก่ และป้องกันการแพร่เชื้อ HPV ไปสู่ผู้อื่นได้หากติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าควรฉีดวัคซีน HPV หรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและความจำเป็นก่อนได้
8. ฉีดวัคซีน HPV ไม่ครบจะเป็นอะไรไหม
ตอบ: การฉีดวัคซีน HPV ให้ครบจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการฉีดวัคซีน 2 เข็มในคนอายุต่ำกว่า 15 ปี (เดือนที่ 0 และ 6–12 ตามลำดับ) และการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มในคนอายุมากกว่า 15 ปี (เดือนที่ 0, 1–2, และ 6 ตามลำดับ)
หากได้รับวัคซีนไม่ครบภายใน 1 ปี ประสิทธิภาพก็อาจลดลง หรือกรณีต้องการกลับมาฉีดวัคซีนอีกครั้ง ก็อาจต้องเริ่มต้นฉีดเข็มแรกใหม่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น
9. มีคู่นอนคนเดียว ไม่ต้องฉีดวัคซีน HPV
ตอบ: แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ตาม ก็ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV เพราะเชื้อชนิดนี้ติดต่อกันง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนเลยก็อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อ HPV ในร่างกาย และแพร่ไปสู่คู่นอนได้
10. ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์แล้ว ต้องฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ไหม
ตอบ: การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ครบทุกเข็ม มักครอบคลุมต่อการป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เสี่ยงสูงแล้ว จึงไม่ได้มีคำแนะนำให้ฉีดชนิด 9 สายพันธุ์เพิ่ม ยกเว้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV สูง
กรณีต้องการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ก็สามารถปรึกษาแพทย์และฉีดได้ ส่วนมากจะแนะนำให้เว้นระยะห่างจากเข็มก่อนหน้าอย่างน้อย 12 เดือน
11. คนท้องและให้นมบุตร ฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม
ตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาด้านความปลอดภัยของวัคซีน HPV ในคนท้องอย่างเพียงพอ จึงควรหลีกเลี่ยงฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์
หากวางแผนจะฉีดวัคซีน HPV แนะนำให้คุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ กรณีฉีดวัคซีน 1–2 เข็ม แล้วบังเอิญตั้งครรภ์ ในระหว่างนั้นสามารถฉีดเข็มต่อไปหลังคลอดบุตรได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
สำหรับหญิงให้นมบุตรสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV ได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อทารก
12. วัคซีน HPV ฉีดได้ทุกคนจริงไหม
ตอบ: แม้วัคซีน HPV จะมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางคน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ตั้งแต่ฉีดเข็มแรก หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน อย่างยีสต์ที่มีในวัคซีนยี่ห้อ Gardasil และ Gardasil 9
13. วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงหรือเปล่า
วัคซีน HPV อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย และมักหายดีได้เองใน 3–5 วัน เช่น เจ็บ บวมแดง คันบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว หรืออ่อนเพลีย ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงมักพบได้น้อยมาก
วัคซีน HPV เป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยควรฉีดตั้งแต่อายุยังน้อยหรือก่อนวัยมีเพศสัมพันธ์ หากยังไม่เคยฉีดวัคซีน HPV มาก่อน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ประสิทธิภาพการป้องกัน รวมถึงความจำเป็นก่อนฉีด เนื่องจากวัคซีน HPV อาจมีค่าใช้จ่ายสูง แม้ฉีดครบแล้วก็ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคให้ได้มากที่สุด
ค้นหาแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2-4-9 สายพันธุ์ จากสถานพยาบาลใกล้บ้านได้เลย ที่นี่ HDmall.co.th คัดโปรราคาดีแถมส่วนลดเพิ่มเติม มีที่นี่ที่เดียว!