แผลเป็นคีลอยด์ หรือคีลอยด์ เป็นแผลเป็นที่ไม่มีใครอยากเป็น โดยเฉพาะคีลอยด์ใบหู หรือคีลอยด์ที่หู แม้จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่กระทบกับความสวยงามของผิว และอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ อย่างคันผิว เจ็บจี๊ด ๆ ให้รำคาญใจอยู่บ้าง
คีลอยด์ที่หูเกิดได้อย่างไร เจาะหูแล้วจะเป็นคีลอยด์จริงไหม อันตรายมากน้อยแค่ไหน หากอยากกำจัดคีลอยด์ที่หูออก ทำเองได้ไหม หรือควรไปพบแพทย์ รวมคำถามที่คุณอาจสงสัยเกี่ยวกับคีลอยด์ที่หูในบทความนี้
สารบัญ
คีลอยด์คืออะไร เป็นเฉพาะที่หูหรือเปล่า
คีลอยด์ (Keloids) เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่งที่นูนกว่าผิวหนังปกติ ลักษณะเป็นมัน เงา ไม่มีขนขึ้น ช่วงแรกจะเป็นสีชมพูหรือแดงคล้ำ พอเวลาผ่านไปจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือสีอาจจางลง มักมีขนาดใหญ่กว่ารอยแผลเดิม และขนาดมักขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
คีลอยด์เป็นผลมาจากกลไกของร่างกายพยายามซ่อมแซมบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บ แต่เกิดการสร้างเนื้อเยื่อมากเกินไป จนเกิดแผลเป็นคีลอยด์ขึ้น เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายที่มีบาดแผล
ส่วนใหญ่จะพบคีลอยด์ตรงหน้าอก ไหล่ หลังด้านบน และใบหู เพราะเป็นบริเวณที่เสี่ยงเกิดการบาดเจ็บหรือบาดแผลได้ง่าย กรณีคีลอยด์ที่หูมักจะเป็นเกิดจากการเจาะหู การระเบิดหู หรือการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดแผลตรงใบหู
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดคีลอยด์ที่หู
แผลเป็นคีลอยด์เกิดได้กับทุกคน ยิ่งคนที่มีปัจจัยต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าคนทั่วไปหลังเกิดบาดแผลหรือการบาดเจ็บ
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นคีลอยด์ จะมีแนวโน้มเป็นแผลเป็นชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน
- อายุอยู่ในช่วงวัย 10–30 ปี ร่างกายมีการสร้างคอลลาเจนสูงกว่าช่วงวัยอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ร่างกายใช้ซ่อมแซมแผล จึงมีแนวโน้มที่เกิดแผลคีลอยด์ขึ้นได้
- คนเอเชียมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลคีลอยด์ได้สูงกว่าคนผิวขาว
- การดูแลแผลไม่เหมาะสม แกะเกาแผล ไม่รักษาความสะอาดจนเกิดการติดเชื้อ
- ตำแหน่งที่เป็นคีลอยด์ หากเกิดแผลบริเวณผิวที่มีการตึงรั้งมาก หรือเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวบ่อย มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น เช่น หัวไหล่ หน้าอก หลังส่วนบน ติ่งหูและใบหู
คีลอยด์ที่หูอันตรายไหม ต้องรักษาหรือเปล่า
คีลอยด์ที่หูก็เหมือนคีลอยด์ส่วนอื่นบนร่างกาย ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ไม่สร้างความเจ็บปวด แต่อาจก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองเล็กน้อยในบางครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องรักษา
ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นด้านภาพลักษณ์ และความมั่นใจมากกว่า โดยเฉพาะคีลอยด์ตรงหูที่มีขนาดใหญ่ สังเกตเห็นได้ชัดเจน หากรู้สึกไม่มั่นใจ ใช้ชีวิตได้ไม่สะดวก สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเอาคีลอยด์ตรงใบหูออกได้
คีลอยด์ที่หูรักษาได้ไหม รักษาวิธีไหนได้บ้าง
หากรักษาอย่างถูกวิธี คีลอยด์ที่หูรักษาให้หายได้ แต่อาจรักษาแล้วหายสนิท หรือทิ้งร่องรอยของแผลไว้บ้าง เช่น ขนาดคีลอยด์เล็กลง สีผิวบริเวณคีลอยด์จางลง ขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลคีลอยด์ สภาพผิว และวิธีรักษาที่เลือกใช้
คีลอยด์มักขยายใหญ่ขึ้น มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก การรักษาเลยมีความซับซ้อน แนวทางการรักษาคีลอยด์ที่หูจะเน้นที่ขนาดของแผลเป็นหลัก
คีลอยด์ขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร
กรณีรักษาคีลอยด์ที่หูด้วยตัวเองจะเป็นการใช้ยาทาลดรอยแผลเป็น หรือยากลุ่มซิลิโคนเจล จะมีสารช่วยให้แผลมีความชุ่มชื้น และกระตุ้นการเซลล์ผิวใหม่ เหมาะกับคีลอยด์ที่เพิ่งเป็น หากเป็นมานานแล้วอาจไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีรักษาอื่นแทน
นอกจากนี้ ยังมีแผ่นแปะซิลิโคนชนิดพิเศษ เพื่อปิดทับบริเวณคีลอยด์ และลดการสร้างเนื้อเยื่อส่วนเกิน แต่อาจใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเห็นผล
ส่วนการรักษากับแพทย์จะใช้เป็นการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่ตัวก้อนคีลอยด์โดยตรง ไม่ผ่านเส้นเลือด เพื่อให้คีลอยด์ยุบตัวลง ซึ่งอาจช่วยลดขนาดของคีลอยด์ลงได้ 50–80% มักจะเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรก แต่จำเป็นต้องฉีดทุก 3–4 สัปดาห์ จนกว่าแผลจะยุบตัว
คีลอยด์ขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร
การรักษาคีลอยด์ที่หูขนาดใหญ่จะเป็นการผ่าตัดร่วมกับการฉีดยาสเตียรอยด์ แพทย์จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนคีลอยด์ออกไป อาจตัดออกทั้งหมดหรือบางส่วน ก่อนจะเย็บปิดแผลให้สนิท
หลังจากนั้นจะฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแผล โดยแพทย์อาจนัดมาฉีดอีกครั้งตอนตัดไหมออก เพราะมีโอกาสเกิดคีลอยด์ซ้ำได้สูงจากการผ่าตัด
นอกจากนี้ ยังมีวิธีรักษาคีลอยด์ที่หูอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันกับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น
- การเลเซอร์รักษาคีลอยด์ที่หู เป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดบาดแผลมาก โดยใช้เครื่องเลเซอร์ปล่อยคลื่นความร้อนสูงกำจัดเนื้อเยื่อแผลเป็นส่วนเกินออก ช่วยให้คีลอยด์มีขนาดเล็กลง สีจางลงด้วย
- การรักษาคีลอยด์ที่หูด้วยความเย็น (Cryotherapy) เพื่อทำลายเนื้อเยื่อคีลอยด์ สามารถช่วยลดขนาด และความแข็งของคีลอยด์ มักใช้กับคีลอยด์ที่มีขนาดเล็ก และเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
- การฉายรังสีรักษาคีลอยด์ที่หู รังสีจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อแผลเป็น ช่วยลดความเสี่ยงกลับมาเป็นคีลอยด์ซ้ำ แต่จำเป็นต้องทำหลายครั้งเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
คีลอยด์ที่หูจะเกิดซ้ำไหมหลังรักษา
คีลอยด์เป็นปัญหาผิวหนังที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำหลังการรักษา เลยมักต้องใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน เช่น การผ่าตัดร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์ การเลเซอร์ การฉายแสง
คีลอยด์ที่หูหายเองได้ไหม
แผลเป็นคีลอยด์ที่หูไม่สามารถหายเองได้ เมื่อเวลาผ่านไปอาจขยายใหญ่ขึ้น มีอาการคัน และระคายเคือง แต่ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง
หากไม่ต้องการให้เกิดคีลอยด์ เมื่อเกิดแผลควรเริ่มดูแลทันที เลี่ยงการจับแผลบ่อยๆ ไม่แกะสะเก็ดแผลออกก่อน เพราะจะทำให้แผลหายช้า เสี่ยงเกิดการอักเสบของแผล จนมีโอกาสเกิดเป็นคีลอยด์ได้มาก
หลังจากแผลหายแล้ว ควรยาทารักษารอยแผลเป็นที่มีส่วนผสมของซิลิโคนเจลร่วมด้วย กรณีที่พบว่าแผลเริ่มนูนเล็กน้อย อาจเกิดคีลอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยลดการขยายตัวของคีลอยด์ รักษาได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
การรักษาคีลอยด์ที่หู หรือส่วนอื่น ๆ ค่อนข้างซับซ้อน รักษาได้ยาก คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดคีลอยด์ได้ง่าย ควรระวังการเกิดบาดแผลบริเวณใบหู หากเจาะหูหรือเกิดบาดแผลขึ้นแล้ว ควรดูแลแผลเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดคีลอยด์
คีลอยด์ที่หู อย่าเก็บเอาไว้ให้กวนใจ ปรึกษาคุณหมอเอาออกอย่างถูกวิธี เช็กแพ็กเกจรักษาคีลอยด์ ราคาสบายกระเป๋า โดยคุณหมอเฉพาะทางได้ที่ HDmall.co.th