ความเครียด ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่สนิท ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้คุณตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ทำให้มีสมาธิทำงานได้ไม่เต็มที่ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อีกทั้งทำให้คุณกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว มีภาวะซึมเศร้า หากคุณพบว่า ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไปถือว่า เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สารบัญ
แนวทางการลดความเครียด
การคลายเครียดในเบื้องต้นควรเริ่มจากการหาสาเหตุ และจัดการกับความเครียดโดยยังไม่ใช้ยาก่อน โดยอาจหาคนที่สนิทเพื่อระบาย และปรับทุกข์ด้วย นอกจากนี้การออกไปพบปะเพื่อนฝูง การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ชอบ ก็ช่วยบรรเทาความเครียดได้อีกทางหนึ่ง
หากคุณยังไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจจะพิจารณาให้ใช้ยานอนหลับ และยาคลายเครียด ลดความกังวล แก้เกรียด ร่วมด้วยตามความเหมาะสมในการรักษา
กลุ่มยาคลายเครียด
ยาคลายเครียดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์ (Tricyclic Antidepressants: TCAs)
ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทเอพิเนฟรีน (Epinephrine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดนี้ในสมองเพิ่มมากขึ้น การวิตกกังวลลดลง ส่งผลให้มีอารมณ์ดีขึ้น และนอนหลับได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์ยังมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคอื่นๆ เช่น ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน รักษาอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด และโรคสมาธิสั้น
ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ อาจทำให้ปากแห้งคอแห้ง อยากอาหารมากขึ้น และท้องผูกได้
ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เป็นยาที่ใช้คลายเครียด และรักษาอาการโรคซึมเศร้าที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง
ตัวอย่างยาอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ยานอร์ทริปไทลีน (nortriptyline)
- ยาโพรทริปไทลีน (protriptyline)
- ยาไทรมิพรามีน (trimipramine)
2. ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีน (Benzodiazepine)
ยานี้นิยมใช้ในการรักษาผู้ที่มีความเครียดแล้วนอนไม่หลับ มีความกระวนกระวาย โรควิตกกังวล โรคชัก และอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรักษาโรคมะเร็ง
ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์เร็ว ทำให้หลับหลังจากรับประทานยาประมาณ 15-30 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเริ่มหลับยาก แต่จัดเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท จึงต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป
เนื่องจากยากลุ่มนี้มีข้อควรระมัดระวังในการใช้ เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อมอมเมา และก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศด้วย หรือที่เรียกว่า “ยาเสียสาว” อีกทั้งอาจทำให้เสพติดได้
เบนโซไดอะซิพีนยังสามารถส่งผลข้างเคียงเป็นอาการบางอย่าง เช่น สูญเสียการทรงตัว สับสน และความทรงจำระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้เป็นยาที่แพทย์นิยมใช้เพื่อลดความกังวล และช่วยนอนหลับมากที่สุด
ยาลอราซีแพม (Lorazepam) เป็นยาที่นิยมใช้คลายเครียดมากที่สุด ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยลดการทำงานของประสาท ทำให้คลายความวิตกกังวล ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน ต้านอาการชัก และช่วยคลายกล้ามเนื้อ
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ยาคลอราซีแพม (Clonazepam)
- ยาไดอะซีแพม (Diazepam)
- ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam)
- ยาไมด้าโซแลม (Midazolam)
- ยาคลอราซีเพต (Clorazepat)
3. ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง (Selective serotonin reuptake inhibitors)
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง ทำให้มีปริมาณสารซีโรโทนินค้างอยู่ในสมองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีอารมณ์ดีขึ้น ช่วยคลายวิตกกังวล และรักษาอาการซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้สามารถส่งผลทำให้มีอาการข้างเคียงต่อร่างกายบางอย่างได้ คือ ทำให้ปวดหัว ปากแห้ง คอแห้ง และนอนไม่หลับได้
ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) เป็นยาในกลุ่มที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายเพื่อคลายเครียดมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง
ตัวอย่างยาอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ยาพาโรซีทีน (paroxetine)
- ยาฟลูอ็อกซีทิน (fluoxetine)
- ยาเอสซิทาโลแพรม (escitalopram)
- ยาฟลูว็อกซามีน (fluvoxamine)
- ยาซิทาโลแพรม (citalopram)
ข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาคลายเครียด
- การใช้ยาคลายเครียดควรใช้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ การใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้การตอบสนองกับยาลดลง จึงต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้นอนหลับได้ และหายเครียด จึงอาจทำให้เกิดการติดยาได้
- การใช้ยาคลายเครียดควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดสามารถกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ จนอาจทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงประวัติโรคเดิมที่เป็นอยู่ รวมถึงประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน เพื่อให้แพทย์พิจารณาการรักษาร่วมกับโรคเดิมของคุณได้อย่างเหมาะสม
- ไม่ควรหยุดยาทันทีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาจมีอาการถอนยา เช่น นอนไม่หลับมากขึ้น กระสับกระส่าย มือสั่น ใจสั่น และวิตกกังวลได้
- ต้องระมัดระวังการใช้ยาคลายเครียดเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้สูงอายุ โดยต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดยา เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีการตอบสนองต่อยา และการกำจัดยาแตกต่างจากคนปกติทั่วไป
- หลีกเลี่ยงใช้ยาคลายเครียดในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทอื่นๆ การใช้ยาในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
- ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ใช้ยาคลายเครียด เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์ยาคลายเครียด อาจกดการหายใจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ห้ามขับขี่รถ หรือควบคุมเครื่องจักรหลังรับประทานยาคลายเครียด เนื่องจากทำให้ง่วงจึงอาจเกิดอุบัติเหตุ และอันตรายถึงชีวิตได้ ควรรับประทานยาคลายเครียดตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ระหว่างการใช้ยาคลายเครียดควรปฏิบัติตัวตามสุขอนามัยที่ดีร่วมด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่บริโภคแอลกอฮอลร์ หรือสูบบุหรี่เพื่อระบายความเครียด แต่ให้หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียดแทน ปรึกษาจิตแพทย์ว่า จะมีวิธีจัดการกับอาการเครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไปได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะช่วยให้หลั่งสารความสุขได้มากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมเภสัชกร HD