จมูกไม่ได้กลิ่น อันตรายหรือไม่

จมูกไม่ได้กลิ่น อันตรายหรือไม่

การได้กลิ่นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การได้กลิ่น และการสัมผัส หากมีการสูญเสียประสาทสัมผัสด้านใดด้านหนึ่งไปก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปแล้วคนปกติคงเคยประสบปัญหาจมูกไม่ได้กลิ่นตอนเป็นไข้หวัด ซึ่งการไม่ได้กลิ่นเป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ เช่น หากเกิดควันไฟจากไฟไหม้ เกิดแก๊สรั่ว สารเคมีอันตรายรั่ว จะไม่สามารถรับรู้ได้

คงกำลังสงสัยกันแล้วว่ามีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น การที่ไม่ได้กลิ่นเป็นเพราะอะไร การไม่ได้กลิ่นจากการเป็นไข้หวัดอันตรายหรือไม่ มีวิธีการรักษาภาวะนี้อย่างไรบ้าง และผู้ป่วยที่ไม่ได้กลิ่นต้องปรับตัวอย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากบทความดังต่อไปนี้

สาเหตุของอาการจมูกไม่ได้กลิ่น

จมูกไม่ได้กลิ่นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น

  • อาการคัดจมูก (Nasal congestion) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดและพบได้ในคนปกติทั่วไป อาการคัดจมูกอาจเกิดจากการเป็นไข้หวัด (Common cold) การแพ้ (Allergy) การเป็นไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ทำให้เนื้อเยื่อภายในจมูกบวมขัดขวางการเข้าของอากาศที่พากลิ่นเข้ามาด้วย จึงไม่สามารถรับกลิ่นได้
  • ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp) เป็นติ่งเนื้อที่อยู่ภายในจมูก เป็นเนื้อดี ไม่ใช่มะเร็ง แต่สามารถขัดขวางทางเดินหายใจทำให้หายใจไม่สะดวก และไม่สามารถรับกลิ่นได้
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ (Head injury) หากรุนแรงและกระทบบริเวณที่ทำหน้าที่รับกลิ่น จะทำให้เซลล์ประสาทรับกลิ่นได้รับความเสียหาย เป็นสาเหตุให้ไม่ได้กลิ่น
  • การผ่าตัดสมอง (Brain surgery) เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทรับกลิ่นได้รับความเสียหายได้
  • การได้รับสารพิษ (Toxic chemicals) เช่น โคเคน ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) นิโคติน (Nicotine) เป็นต้น
  • โรคทางระบบประสาท บางโรคสามารถทำให้รับกลิ่นไม่ได้ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease)
  • ความเสื่อมตามอายุ (Presbyosmia) เป็นสาเหตุของการไม่ได้กลิ่นที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดได้เช่นเดียวกับการเป็นประสาทหูเสื่อมในผู้สูงอายุ คือ อายุที่มากขึ้นจะสัมพันธ์กับการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทรับกลิ่นทำให้รับกลิ่นได้น้อยลง หรือรับกลิ่นไม่ได้

จมูกไม่ได้กลิ่นจากการเป็นไข้หวัด อันตรายหรือไม่?

การไม่ได้กลิ่นจากการเป็นไข้หวัดธรรมดาเกิดจากการบวมของเนื้อเยื่อจมูก ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจ อากาศที่พากลิ่นเข้ามาด้วยจึงไม่สามารถไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นได้ การที่ไม่ได้กลิ่นจากการเป็นไข้หวัดจึงไม่อันตราย เนื่องจากเมื่อหายจากการเป็นไข้หวัดแล้ว เนื้อเยื่อจมูกจะกลับสู่สภาพเดิมและการได้กลิ่นจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

เวลาจมูกไม่ได้กลิ่นอะไรเลย ทำไมถึงรับรู้รสชาติได้ไม่ดี?

เนื่องจากเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นกับเซลล์ประสาทรับรู้รสมีลักษณะพื้นฐานของเซลล์และหน้าที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเรารับประทานอาหาร โมเลกุลของอาหารจะสัมผัสกับเซลล์ประสาทรับรู้รสบนลิ้น ร่วมกับเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นที่จมูก ซึ่งจะสามารถจับโมเลกุลของอาหารที่อยู่ในอากาศได้ ทำให้ส่งสัญญาณไปสมอง แปรผลการรับรู้รสชาติร่วมกันว่าออกมาเป็นลักษณะไหน เป็นเหตุให้เวลาที่ไม่สามารถรับกลิ่นได้ เซลล์ประสาทรับรสบนลิ้นจะถูกกระตุ้นอย่างเดียว ไม่มีการกระตุ้นเซลล์ประสาทรับกลิ่น สัญญาณที่ส่งไปยังสมองจึงสร้างความรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติที่ต่างออกไปได้

วิธีรักษาจมูกไม่ได้กลิ่น

อาการจมูกไม่ได้กลิ่นสามารถรักษาได้ที่ต้นเหตุ เช่น

  • สาเหตุจากอาการคัดจมูก (Nasal congestion) รักษาโดยการลดอาการบวมของจมูกโดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ร่วมกับการใช้ยา เช่น ยาซูโดเฟดรีน (Pseudoephedrine) ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) หรือรู้จักในชื่อทางการค้าว่า อิลิอาดีน (Illiadin) เป็นต้น
  • สาเหตุจากริดสีดวงจมูก (Nasal polyp) พิจารณาผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทาง
  • สาเหตุจากการได้รับสารพิษ (Toxic chemicals) หลีกเลี่ยงการได้รับสารอันตราย และไม่สูบบุหรี่

ผู้ป่วยที่ไม่ได้กลิ่นต้องปรับตัวอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าประสาทรับกลิ่นมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ เนื่องจากใช้เตือนอันตรายรอบข้างได้ เมื่อสูญเสียประสาทด้านนี้ไป จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น

  • ติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน (Smoke detector) ภายในที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งอันตรายจากควันที่ผู้ป่วยโรคนี้ไม่สามารถรับรู้ได้
  • ติดฉลากแสดงวันหมดอายุของอาหารต่างๆ ป้องกันการบริโภคอาหารที่เน่าเสีย
  • ฝึกการดมกลิ่น (Olfactory training) ซึ่งในผู้ป่วยที่มีการเสียของเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่พยาธิสภาพไม่ได้รุนแรงมากนัก มีงานวิจัยพบว่าการฝึกการดมกลิ่นสามารถกระตุ้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นให้ทำงานดีขึ้นได้บ้าง

เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล

Scroll to Top