andropause disease definition

เช็กสัญญาณเตือน “วัยทองในผู้ชาย” พร้อมวิธีรับมือกับฮอร์โมนที่ลดลง

เมื่อพูดถึงวัยทอง หลายคนมักนึกถึงวัยทองในผู้หญิง แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ชายเองก็มี “วัยทอง” เหมือนกัน เป็นภาวะฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้ผู้ชายเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกับผู้หญิงสูงวัย 

บทความนี้ จะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าวัยทองในผู้ชายคืออะไร เกิดขึ้นเมื่อไร มีสาเหตุหรือปัจจัยมาจากอะไร อาการเตือนเป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 

สาเหตุของวัยทองในผู้ชาย

วัยทองในผู้ชายจะอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีเป็นต้นไป เกิดจากฮอร์โมนเพศชายลดลง อย่างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เลยเรียกอีกอย่างว่า “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” หรือทางการแพทย์เรียก “แอนโดรพอส” (Andropause) 

ฮอร์โมนเพศชายจะมีมากที่สุดตอนเป็นวัยรุ่น และค่อยลดระดับลงตามอายุ ตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป และยิ่งมีปัจจัยต่อไปนี้ ระดับฮอร์โมนเพศชายจะยิ่งลงเร็วยิ่งขึ้น 

  • ใช้ชีวิตหนัก มีความเครียดสะสม 
  • พักผ่อนน้อย อดนอน
  • เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือโรคอ้วน
  • ดื่มแอลกอฮอล์ 
  • สูบบุหรี่

อาการที่พบบ่อยของวัยทองในผู้ชาย

ฮอร์โมนเพศชายมีบทบาทหลายอย่าง ทั้งการควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูก กล้ามเนื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง เมื่อฮอร์โมนเพศชายลดลง ย่อมกระทบต่อร่างกายและจิตใจ 

การลดของฮอร์โมนเพศชายจะลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือราว 1% ต่อปี ไม่ได้ลดรวดเดียว และไม่ได้ลดจนหมดแบบผู้หญิง ทำให้อาการอาจไม่รุนแรงและชัดเจนเท่าผู้หญิง ผู้ชายส่วนมากเลยแทบไม่รู้ตัวว่าเข้าสู่วัยทอง หรือมีฮอร์โมนเพศชายลดลง 

เมื่อฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลงจนถึงระดับหนึ่ง ผู้ชายถึงเริ่มแสดงอาการออกมา โดยอาการวัยทองในผู้ชายที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เศร้าหมอง
  • อ้วนลงพุง ไขมันมากขึ้น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • นอนหลับยาก หรือมีปัญหานอนไม่หลับ
  • สมาธิสั้น ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • สมาธิและประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • ความต้องการทางเพศลดลง น้องชายไม่แข็งตัว สมรรถภาพทางเพศลดลง

อาการวัยทองในผู้ชายอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสุข รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันอุดตันหลอดเลือด โรคกระดูกบาง และโรคกระดูกพรุน 

หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่บ่งบอกถึงวัยทองในข้างต้น สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอรับการตรวจฮอร์โมน พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม 

ตรวจฮอร์โมนเพศชาย เช็กระดับฮอร์โมนที่ลดลง

ผู้ชายวัยทองมักมีอาการไม่ชัดเจนและรุนแรงเท่าผู้หญิงวัยทอง หนึ่งในวิธีวินิจฉัยวัยทองในผู้ชาย คือ การเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือด และฮอร์โมนตัวอื่นที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงจะมีการซักประวัติสุขภาพ ทำแบบสอบถาม ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป และการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ หากตรวจพบว่ามีระดับฮอร์โมนต่ำ แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจให้ยาหรือฮอร์โมนเพศชายทดแทน

ผู้ชายที่อยากเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยทอง สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจฮอร์โมนเพศชายได้ โดยรายการตรวจฮอร์โมนจะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่สถานพยาบาล มีทั้งฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนอื่นที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง เช่น 

  • ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศชายหลัก ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเพศชาย เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศ และมวลกล้ามเนื้อ
  • ฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นอัณฑะในเพศชายให้ผลิตอสุจิ
  • ฮอร์โมน Follicle Stimulating Hormone (FSH) คอยควบคุมการสร้างอสุจิ และกระตุ้น LH
  • ฮอร์โมน Estradiol (E2) ฮอร์โมนที่ผลิตจากลูกอัณฑะและต่อมหมวกไต มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของฮอร์โมน
  • ฮอร์โมน Sex Hormone Binding Globulin (SHBG) โปรตีนที่ผลิตโดยตับ ช่วยในการขนส่งและควบคุมระดับฮอร์โมนเพศในเลือด โดยเฉพาะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสตราไดออล (Estradiol)
  • Dehydroepiandrosterone Sulphate (DHEAs) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียด
  • Thyroid Stimulating Hormone (TSH) กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน T3 และ T4 มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต พัฒนาการของร่างกาย และควบคุมการเผาผลาญพลังงาน
  • ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีบทบาทในการเผาผลาญ

เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย

วิธีรับมือให้พร้อมกับวัยทองในผู้ชาย

การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมจะช่วยในการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยได้ดีขึ้น 

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30–45 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง หรือ 150–300 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และยังทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นด้วย 
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี และวิตามินดี เช่น ปลา ถั่ว เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เพื่อช่วยสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และลดการทานน้ำตาล ของหวาน ของทอด และแอลกอฮอล์
  • นอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เต็มที่ และช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย
  • จัดการความเครียด โดยอาจจะหากิจกรรมผ่อนคลายที่ชื่นชอบ อย่างการทำสมาธิ ฝึกโยคะ เล่นกีฬา ฟังเพลง อย่าลืมแบ่งเวลาในการทำงาน และพักผ่อน 
  • ปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการเข้าข่ายวัยทองแล้วรบกวนการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็กฮอร์โมน บางคนอาจได้รับยาหรือฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

วัยทองเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผู้ชายทุกคนต้องเผชิญไม่ต่างจากการเปลี่ยนผ่าน ในช่วงวัยอื่น ๆ ที่เราผ่านมา การทำความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ จะช่วยให้ก้าวผ่านช่วงเวลานี้ได้อย่างมั่นใจ

สิ่งสำคัญคือการมองวัยทองในแง่บวก นี่คือโอกาสที่จะได้ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้น และดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน เรามีทางเลือกมากมายในการจัดการกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

เข้าสู่วัยทองอย่างสมดุล! ตรวจฮอร์โมนเพศชาย แบบครบวงจรกับโปรสุดคุ้ม จากรพ. ทั่วไทยที่ HDmall.co.th จองเลย ก่อนราคาเปลี่ยน

Scroll to Top