amenorrhea scaled

ประจำเดือนไม่มา มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง

ประจำเดือนไม่มา หรือการขาดประจำเดือน (Amenorrhea) เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดได้ทั้งความดีใจและความกังวล 

เมื่อประจำเดือนไม่มา 1 เดือน หลายคนอาจตื่นเต้น เพราะคิดว่าในที่สุดก็จะมีลูกแล้ว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับครอบครัวที่อยากมีลูก บางคนพอตรวจครรภ์แล้วไม่ท้อง แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการขาดประจำเดือนอยู่ดี 

บทความนี้จะพามารู้จักกับอาการขาดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง วินิจฉัยแบบใด และรักษาอย่างไรให้ถูกต้อง ปลอดภัย 

รู้จักกับอาการประจำเดือนไม่มา

ประจำเดือนไม่มา หมายถึง การหายไปของประจำเดือนในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เช่น อายุ 15 ปี แล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน หรือขาดประจำเดือนไปอย่างน้อย 3 รอบ 

หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประจำเดือนขาดไปคือการตั้งครรภ์ แต่ความคิดนี้ไม่จริงเสมอไป เพราะในบางรายที่ประจำเดือนหายไป 1–2 เดือน ก็อาจมาจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน  

ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การกินยาคุมกำเนิด สุขภาพไม่แข็งแรง น้ำหนักตัวน้อยไป ออกกำลังมากไป หรืออายุที่เพิ่มขึ้น 

8 สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา

1. ตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ คือข้อสันนิษฐานอันดับแรกเสมอเมื่อประจำเดือนไม่มา อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ประจำเดือนไม่มานั้น จะลากยาวไปจนถึงช่วงที่ให้นมบุตรด้วย 

วิธีแก้ปัญหาคาใจว่าตั้งครรภ์หรือเปล่า สามารถซื้อที่ตรวจครรภ์จากร้านขายยามาตรวจเองได้เลย หรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก็ได้เหมือนกัน เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นสาเหตุนี้ หรือต้องหาสาเหตุอื่น ๆ ต่อไป 

2. ความเครียด

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ คือความเครียด ยิ่งกับผู้ที่มีภาระชีวิตเยอะ เช่น สาว ๆ วัยทำงาน หรือบางคนที่มีเรื่องส่วนตัวมากมายจนทำให้เครียด

เนื่องจากความเครียดจะส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมฮอร์โมนเพศ ซึ่งทำให้การตกไข่และการมีประจำเดือนผิดปกติ  

3. กินยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดจะส่งผลโดยตรงกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้น ถ้ากินยาคุมกำเนิดนาน ๆ อาจส่งผลให้ประจำเดือนขาดได้ 

4. สุขภาพไม่แข็งแรง

สุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เช่น มีโรคประจำตัว หรือไม่สบายบ่อย อาจทำให้ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้างสลับเดือนกัน บางที เดือนที่ประจำเดือนไม่มากลับเยอะกว่าเดือนที่มา รวมถึงทำให้ประจำเดือนขาดหายไปด้วย 

กลุ่มคนเหล่านี้อาจกินยาตามแพทย์สั่งเพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ และต้องคอยติดตามผลการรักษาอยู่เรื่อย ๆ 

นอกจากเรื่องประจำเดือนแล้ว สุขภาพที่ไม่แข็งแรงจะส่งผลให้มีลูกยากได้ด้วย 

5. น้ำหนักตัวน้อยไป

คำว่า น้ำหนักตัวน้อยไป คือวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body mass index) แล้วต่ำกว่า 18.5 

ซึ่งหากน้ำหนักตัวน้อย จะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย จนมีผลต่อกระบวนการตกไข่และการมีประจำเดือน

6. ออกกำลังกายมากเกินไป

ผู้หญิงหลาย ๆ คนนิยมออกกำลังกายหนัก ๆ ที่ต้องใช้พลังงานมาก จนไขมันในร่างกายน้อยเกินไป

ร่างกายจะเกิดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงต่ำ ส่งผลให้ประจำเดือนขาด และอาจทำให้กระดูกไม่แข็งแรง

7. อายุที่มากขึ้น 

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ประจำเดือนเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มผลิตฮอร์โมนน้อยลงตามธรรมชาติ

โดยลักษณะรอบเดือนของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เช่น 

  • ประจำเดือนค่อย ๆ น้อยลง หรือมามากกว่าปกติ
  • ประจำเดือนขาด 
  • รอบเดือนสั้นลง
  • อาการก่อนเป็นประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการก่อนเป็นประจำเดือน ร่วมกับอาการของวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ หรือมีปัญหาด้านการนอน

8. ความผิดปกติที่อวัยวะอื่น ๆ

ถ้าไม่ตั้งครรภ์ สุขภาพดีไม่มีปัญหา แถมยังไม่มีเรื่องให้หนักใจ แต่ก็ยังขาดประจำเดือน อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้ เช่น 

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS: Polycystic ovary syndrome)
  • การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
  • ภาวะพังผืดในมดลูก (Asherman’s syndrome)

ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อฮอร์โมนเพศในร่างกาย ดังนั้น ถ้าประจำเดือนไม่มา ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที จะได้ทราบสาเหตุที่ถูกต้อง แน่ชัด 

ประจำเดือนไม่มา วินิจฉัยแบบใด 

การวินิจฉัยว่ามีภาวะขาดประจำเดือนจริงหรือไม่นั้นมีหลากหลายขั้นตอน เช่น ซักประวัติต่าง ๆ ในขั้นแรก ตรวจภายใน และตรวจการตั้งครรภ์ 

นอกจากนี้ยังอาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุอีกด้วย เช่น 

  • การตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน
  • การตรวจสารพันธุธรรม
  • การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) บริเวณท้องน้อย
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ประจำเดือนไม่มา รักษาอย่างไร 

การรักษาภาวะประจำเดือนไม่มา จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาจเป็นการใช้ยา การผ่าตัด หรือการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต หรือทั้ง 3 วิธีร่วมกัน

  1. การปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต
  • หากมีน้ำหนักมากไปหรือน้อยไป ค่อย ๆ ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักที่เหมาะสม และพยายามคงระดับน้ำหนักนั้นไว้ 
  • ลดความเครียด
  • กรณีที่เป็นนักกีฬา อาจต้องปรับการฝึกฝนร่างกาย หรือปรับเปลี่ยนอาหารที่กิน 
  1. การใช้ยา
  • ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทดแทน
  • ยาสำหรับรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS: Polycystic ovary syndrome)
  1. การผ่าตัด 
  • การตัดพังผืดภายในมดลูกออก
  • การตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมองออก

การที่ประจำเดือนไม่มาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยสำหรับผู้หญิงสมัยนี้ ถึงแม้จะทำให้เกิดความกังวลอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรึกษาแพทย์ 

จากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำแพทย์ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะช่วยให้เรากลับมามีสุขภาพที่ดี และมีวิถีชีวิตที่ปกติได้


เพราะ HDmall.co.th ห่วงใยคุณ หลังมีเพศสัมพันธ์ 3 ปี หรือเมื่อถึงวัย 30 อย่าลืมไป ตรวจภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าน้องสาวแข็งแรง และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ คลิกดูแพ็กเกจดี ๆ ที่เรารวบรวมไว้ให้ หรือจะแช็ตมาสอบถามกันก่อนก็ได้ ที่นี่


คำถามที่พบบ่อย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top