Alpha Fetoprotein AFP Tumor Marker scaled

Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

การตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker หรืออาจเรียกว่า AFP, Total AFP, AFP-L3%, alpha-fetoglobulin, หรือ alpha fetal protein เป็นการเก็บตัวอย่างจากเลือดเพื่อไปตรวจวินิจฉัยเนื้องอกและโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งอัณฑะ และโรคมะเร็งรังไข่

จุดประสงค์ของการตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

การตรวจ Alpha-fetoprotein (AFP) จากเลือด ทำเพื่อตรวจหาเนื้องอกและวินิจฉัยบางโรคดังนี้

กลุ่มที่ 1 ความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่าง เช่น neural tube defect

กลุ่มที่ 2 เนื้องอกบางชนิด เช่น

  • โรคมะเร็งตับ หรือ การแพร่กระจายของมะเร็งที่ไปที่ตับ
  • โรคมะเร็งอัณฑะ
  • โรคมะเร็งรังไข่

กลุ่มที่ 3 โรคบางอย่างที่ทำให้ค่า AFP ผิดปกติ เช่น ataxia telengiectasia

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจ AFP ควบคู่กับการตรวจอื่นๆ เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งตับระยะแรก ซึ่งยังเป็นระยะที่สามารถรักษาได้

หากวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma หรืออีกรูปแบบหนึ่งของโรค AFP-Producing cancer แพทย์อาจให้ตรวจ AFT เป็นระยะ เพื่อช่วยติดตามการตอบสนองต่อการรักษาและติดตามการเกิดโรคมะเร็งซ้ำ

เมื่อไรที่ต้องตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker?

แพทย์มักจะให้มีการตรวจ AFP เมื่อพบสถานการณ์ดังนี้

  • สงสัยว่า คนไข้เป็นโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งรังไข่บางชนิด โดยพบก้อนนูนที่บริเวณท้องในระหว่างที่ตรวจร่างกาย หรือเมื่อตรวจโดยใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพเพื่อตรวจหาเนื้องอก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งรังไข่ อยู่ในช่วงที่แพทย์ติดตามอาการเพื่อดูประสิทธิผลของการรักษา
  • อยู่ในช่วงที่แพทย์ติดตามอาการเพื่อหาการกลับมาเกิดโรคซ้ำ
  • อยู่ในช่วงติดตามผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะตับแข็ง

ในบางครั้งแพทย์อาจสั่งให้ตรวจ AFP-L3% ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ประเมินความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma
  • ผู้ป่วยเป็นโรคตับเรื้อรัง
  • ทดสอบประสิทธิผลของการรักษาโรคมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma
  • ติดตามการกลับมาเป็นโรคซ้ำ

วิธีเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

แพทย์จะตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker จากเลือด โดยการแทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำที่แขน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า

รายละเอียดการตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

ปกติแล้ว ตับจะผลิตโปรตีน AFP เมื่อมีการสร้างเซลล์ใหม่ แต่การเกิดความผิดปกติขึ้นที่ตับ หรือการเป็นโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง อาจทำให้ AFP เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เนื้องอกบางชนิดในตับ ก็อาจทำให้ตับผลิต AFP ในปริมาณมากด้วยเช่นกัน

แพทย์สามารถตรวจพบโปรตีน AFP เพิ่มขึ้นในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งตับที่เรียกว่า “Hepatocellular carcinoma” และในทารกที่เป็นโรคมะเร็งตับที่เรียกว่า “Hepatoblastoma” นอกจากนี้ยังพบ AFP ได้ในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งรังไข่

วิธีที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งตับได้ดี ควรเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพตับให้ดีก่อน ทั้งการดูแลอาหารการกินให้สะอาดถูกสุขลักษณะ งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะต่างๆ

รวมทั้งการไปตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจสุขภาพตับด้วยก็จะดีไม่น้อย

ความหมายของผลตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

ระดับของโปรตีน AFP ที่เพิ่มขึ้น อาจบ่งชี้ถึงการเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งอัณฑะ แต่การเป็นโรคมะเร็งก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะมีปริมาณของ AFP มากเสมอไป

โปรตีน AFP สามารถเพิ่มขึ้นในคนที่เป็นโรคหรือภาวะดังนี้

  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • โรคมะเร็งปอด
  • โรคมะเร็งเต้านม
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคตับแข็ง
  • โรคไวรัสตับอักเสบ

เมื่อนำ AFP มาใช้เป็นเครื่องมือติดตาม การลดลงของ AFP สามารถบ่งชี้ได้ว่า ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษา แต่ถ้าหากความเข้มข้นของ AFP เพิ่มขึ้น อาจหมายความว่า มีแนวโน้มที่โรคมะเร็งจะกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง

เนื่องจากแพทย์สามารถพบ AFP ปริมาณมากในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบ หรือมีภาวะตับแข็ง เมื่อคนที่เป็นโรคตับเรื้อรังมีความเข้มข้นของ AFP เพิ่มขึ้นมาก ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งตับก็จะเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) Tumor Marker

1.การมีผล AFP และ AFP-L3% เพิ่มขึ้นไม่ได้บ่งชี้ถึงโรคมะเร็ง หรือโรคมะเร็งตับเสมอไป การตรวจ AFP และ AFP-L3% เป็นแค่ตัวบ่งชี้ ซึ่งเราจะต้องนำมาใช้พิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ดังนี้

  • การรักษาโรคในอดีต
  • การตรวจร่างกาย
  • การตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การศึกษาภาพถ่ายในร่างกายเพื่อตรวจหาการเจริญเติบโตของเนื้องอก
  • มะเร็งทุกชนิดไม่ได้ทำให้ AFP เพิ่มขึ้น การตรวจ AFP จึงเป็นวิธีตรวจที่ไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้คัดประชากรที่เป็นโรคมะเร็ง

2.ผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่ตับเรื้อรังจนทำให้ AFP เพิ่มขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือ AFP เพิ่มขึ้นมาก แพทย์อาจใช้วิธีอื่นๆ ตรวจควบคู่เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งตับ ดังนี้

  • การตรวจอัลตราซาวด์
  • การใช้ CT scan
  • การใช้ MRI scan
  • การตรวจชิ้นเนื้อ

ไม่ว่าการตรวจวิธีใดก็ตามแต่ล้วนมีประโยชน์และเอื้อต่อการวินิจฉัยโรคแต่ละโรคแตกต่างกันไป อีกทั้งแต่ละบุคคลก็มีเงื่อนไขในการตรวจโรคที่แตกต่างกันทั้งด้วยสภาพร่างกาย ความรุนแรงของอาการ รวมถึงความพร้อมด้านทุนทรัพย์

ดังนั้นการไปพบแพทย์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณรู้ว่า ความผิดปกติในร่างกายที่เป็นอยู่นั้น สมควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม และไม่ควรเลือกการตรวจวินิจฉัยด้วยตนเอง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top