ไซนัสอักเสบเป็นปัญหาสุขภาพที่หลายๆ คนเคยเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงหรือหลังจากเป็นหวัด อาการของไซนัสอักเสบอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทำให้หลายคนสงสัยว่าไซนัสอักเสบสามารถหายเองได้หรือไม่? หรือจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าไซนัสอักเสบประเภทใดสามารถหายเองได้ และเมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
สารบัญ
ไซนัสอักเสบคืออะไร?
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) คือภาวะที่โพรงไซนัสเกิดการอักเสบหรือบวมขึ้น ทำให้มีน้ำมูกสะสม ไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ นำไปสู่อาการแน่นจมูก ปวดบริเวณใบหน้า และอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสร่วมด้วย
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย: สาเหตนี้มักเกิดหลังเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
- ภูมิแพ้: การแพ้ฝุ่น ละอองเกสร หรือสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของไซนัสได้
- มลภาวะและควันบุหรี่: สารระคายเคืองในอากาศสามารถทำให้โพรงไซนัสบวมและอุดตันได้
- โครงสร้างของโพรงจมูกผิดปกติ: เช่น ผนังกั้นจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อในจมูก เพราะอาจส่งผลต่อการระบายของน้ำมูกและอากาศในโพรงจมูกและไซนัส
อาการของไซนัสอักเสบ
อาการของไซนัสอักเสบแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis)
- คัดจมูก
- หายใจไม่สะดวก
- น้ำมูกข้น เป็นสีเหลืองหรือเขียว
- ปวดหรือกดเจ็บบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม หรือรอบดวงตา
- ปวดศีรษะ
- ไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- มีไข้
- รู้สึกอ่อนเพลีย
2.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis)
ไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีอาการคล้ายไซนัสอักเสบเฉียบพลันแต่เป็นติดต่อกันนานกว่า 12 สัปดาห์ อาจไม่มีไข้แต่มีอาการแน่นจมูกและปวดใบหน้าตลอด
ไซนัสอักเสบหายเองได้ไหม?
ไซนัสอักเสบจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด สามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการด้วยการดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้ปวด
แต่ถ้าหากไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจหายเองได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 10 วัน หรือมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ปวดหน้าอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะทันที
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักจะไม่หายเอง และอาจต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้ยาพ่นจมูก ยาต้านการอักเสบ หรือในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
วิธีรักษาไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีอาการเกิดขึ้นควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เหมาะสมทันที ซึ่งโดยทั่วไปวิธีการรักษาหลักๆ จะแบ่งออกเป็น ดังนี้
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้น้ำมูกไม่ข้นเกินไป
- ใช้ น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อลดการอักเสบและขจัดน้ำมูก
- สูดไอน้ำหรืออบไอน้ำเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ
- พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงอากาศแห้ง
การรักษาด้วยยา
ไซนัสอักเสบจากเชื้อไวรัสมักรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดหรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ส่วนไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 10-14 วัน โดยเลือกชนิดของยาตามระดับความเสี่ยงต่อการดื้อยา
สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันซ้ำๆ และส่งตรวจเพาะเชื้อเพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ดังนั้น ถ้าหากเป็นไซนัสอักเสบควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ถ้าหากผู้ป่วยกลับมาเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ รักษาด้วยก็ยาก็ไม่หาย มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนเกิดการอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในตาและอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในสมอง หรือสงสัยว่าเป็นเนื้องอก อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องโพรงจมูก ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดีและผู้ป่วยจะไม่แผลผ่าตัดเกิดขึ้นบริเวณหน้า
วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น
- รับประทานยาและพ่นยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้น้ำมูกไม่ข้นเกินไป
- ใช้ น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อลดการอักเสบและขจัดน้ำมูก
- สูดไอน้ำหรืออบไอน้ำเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ
- ล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน หรือมลภาวะที่อาจกระตุ้นการอักเสบ
- ใช้เครื่องทำความชื้น ช่วยให้จมูกไม่แห้งและลดการอักเสบ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
มาเช็กภูมิแพ้กันเถอะ! ไซนัสอักเสบของคุณอาจมีสาเหตุจากภูมิแพ้ เลือกดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้จาก HDmall.co.th ที่คัดสรรมาให้คุณแล้ว จองง่าย พร้อมรับส่วนลดสุดคุ้ม ตรวจสะดวกทั้งคลินิกและโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ!