ปวดศีรษะ คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา ข้อควรระวัง

อาการปวดศีรษะ เป็นภาวะที่สร้างความเจ็บปวดและไม่สบายในศีรษะ หรือหนังศีรษะ อาการปวดศีรษะเกิดได้ทั้งแบบเบา หรือรุนแรงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตหรือทำงาน แต่อาการนี้สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต

อาการของภาวะปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น

  • อาการปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Headaches) เป็นชนิดของอาการปวดศีรษะที่พบได้มากที่สุด ส่วนมากจะเกิดกับผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป อาการปวดลักษณะนี้จะมีความรู้สึกเหมือนถูกยางรัดรอบศีรษะ ซึ่งเกิดจากการรัดตัวของกล้ามเนื้อที่คอและหนังศีรษะ มักจะเกิดขึ้นนานหลายนาที แต่ในบางกรณีก็อาจคงอยู่ได้หลายวัน และสามารถเกิดขึ้นซ้ำๆ ได้ด้วย
  • อาการปวดศีรษะเป็นชุด (Cluster Headaches) คืออาการปวดตุบๆ ที่ศีรษะ ซึ่งจะทำให้เกิดความทรมานและแสบร้อนที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะหรือข้างหลังดวงตา จึงทำให้มีน้ำตาไหลและมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย อาการปวดชนิดนี้สามารถคงอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง และอาจคงอยู่ได้ยาวนานกว่า 6 สัปดาห์ อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันและหลายๆ ครั้งต่อวัน สาเหตุการเกิดอาการปวดชนิดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักเกิดกับผู้ชายอายุระหว่าง 20-40 ปี
  • อาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headaches) เป็นอาการปวดศีรษะรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการปวดตุบๆ ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ สามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิด เช่น การปวดไมเกรนแบบเรื้อรัง (Chronic Migraines) ที่สามารถเกิดขึ้นได้มากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน และอีกชนิดคืออาการปวดไมเกรนแบบอ่อนแรงครึ่งซีก (Hemiplegic Migraines) เป็นอาการที่คล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไมเกรนอย่างคลื่นไส้ มีปัญหาการมองเห็น และวิงเวียนเท่านั้น แต่ไม่ได้ปวดศีรษะแต่อย่างใด
  • อาการปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (Rebound Headaches) คือการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นหลังการหยุดยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะทุกวัน ผู้ที่ใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะอย่าง Acetaminophen Triptans (Zomig, Imitrex) Ergotamine (Ergomar) และยาแก้ปวดอย่าง Tylenol มักจะประสบกับอาการปวดชนิดนี้
  • อาการปวดศีรษะเหมือนถูกฟ้าผ่า (Thunderclap Headaches) คืออาการปวดรุนแรงกะทันหัน ส่วนมากเป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ และคงอยู่ได้นานกว่า 5 นาที อาการปวดชนิดนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะหลอดเลือดในสมอง และมักต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

สาเหตุหลักของอาการปวดศีรษะ

แพทย์ได้จำแนกสาเหตุของอาการปวดศีรษะออกเป็นหลายสาเหตุ โดยอาการปวดไมเกรน อาการปวดศีรษะแบบชุด และการปวดศีรษะจากความเครียด มักเกิดจากกระบวนการของสมองเอง ส่วนสาเหตุทางการแพทย์ของอาการปวดศีรษะชนิดอื่นๆ ได้แก่

  • เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) หรือโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Brain Aneurysm) สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ เนื่องจากภายในกะโหลกจะมีพื้นที่ว่างอยู่เพียงเล็กน้อย เมื่อภายในกะโหลกเริ่มมีการสะสมกันของเลือดหรือเนื้อเยื่อส่วนเกิน จะทำให้เนื้อสมองถูกกดทับหรือถูกดันจนทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา
  • โรคปวดคอร่วมกับปวดศีรษะ (Cervicogenic Headaches) เกิดขึ้นเมื่อแผ่นหมอนรองกระดูก (Discs) เสื่อมสภาพและกดลงบนกระดูกสันหลังทำให้เกิดอาการปวดคอและปวดศีรษะร่วมกัน
  • การใช้ยามากเกิน หากได้รับยาแก้ปวดปริมาณค่อนข้างมากทุกวันและเริ่มลดปริมาณการใช้หรือหยุดยากะทันหัน จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น
  • ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) คือการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองชั้นบาง ๆ ที่กะโหลกซึ่งห่อหุ้มไขสันหลังและสมองไว้
  • การติดเชื้อที่โพรงจมูกหรือไซนัส การติดเชื้อที่โพรงจมูกสามารถสร้างแรงดันและความเจ็บปวดจนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ (Sinus Headache)
  • อาการปวดศีรษะจากกระดูกสันหลัง (Spinal Headache) เกิดขึ้นจากการรั่วซึมของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid) อย่างช้าๆ มักเกิดจากการระงับประสาททางไขสันหลังหรือการเจาะน้ำไขสันหลัง
  • การกระทบกระแทก บ่อยครั้งที่อาการปวดศีรษะ เกิดจากการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอาการปวดต่อเนื่องยาวนานได้

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?

อาการปวดศีรษะส่วนมากไม่ใช่อาการโรคร้ายแรง เว้นแต่จะเกิดจากการถูกกระแทกที่ศีรษะ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีไข้
  • อาเจียน
  • ใบหน้าชา
  • พูดจาติดอ่าง
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ชักกระตุก
  • สับสน
  • มีแรงดันรอบดวงตา

การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะ อาจเป็นอาการจากโรคหรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ ได้ ดังนั้น แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกาย ซึ่งอาจรวมไปถึงการตรวจประเมินระบบประสาทด้วย

การซักประวัติเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้แพทย์หาสาเหตุของอาการได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยบางคนอาจขาดยาหรือขาดการรับประทานอาหารบางอย่าง จึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น เช่น การขาดกาแฟสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ

แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมหากสงสัยว่ามีภาวะทางการแพทย์บางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น เช่น

  • การวัดจำนวนเม็ดเลือด (Complete Blood Count (CBC)) เพื่อตรวจหาสัญญาณของภาวะติดเชื้อ
  • การเอกซเรย์กะโหลก เพื่อให้เห็นภาพของกระดูกกะโหลก
  • การเอกซเรย์โพรงจมูก การถ่ายภาพที่ใช้กับการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
  • การทำ CT หรือทำ MRI บริเวณศีรษะ สำหรับกรณีที่คาดว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีเนื้องอกหรือมีลิ่มเลือดในสมอง

การรักษาอาการปวดศีรษะ

การรักษาอาการปวดศีรษะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด แต่ส่วนมากสามารถรักษาได้ด้วยยา เช่น Aspirin Acetaminophen หรือ Ibuprofen

หากการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำแนวทางในการรักษาดังนี้

  • การฝึกไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) เป็นเทคนิคผ่อนคลายที่ช่วยจัดการกับความเจ็บปวด
  • โปรแกรมควบคุมความเครียด (Stress Management Classes) นักจิตวิทยาจะสอนวิธีรับมือกับความเครียดและแนวทางบรรเทาความเครียดต่างๆ กรณีที่อาการปวดศีรษะเกิดจากความเครียด
  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการบำบัดพูดคุยที่ทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าสถานการณ์ใดบ้างที่สร้างความเครียดและความกังวลให้
  • การฝังเข็ม (Acupuncture) การบำบัดทางเลือกด้วยการจิ้มเข็มตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความเครียดลงได้
  • การออกกำลังความเข้มข้นน้อยถึงปานกลาง (Mild to Moderate Exercise) สามารถเพิ่มการผลิตสารเคมีบางตัวจากสมองที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและมีความสุขขึ้น
  • การบำบัดด้วยความเย็นหรือความร้อน (Cold or Hot Therapy) เป็นวิธีประคบร้อนและประคบเย็นสลับกันที่ศีรษะเป็นเวลา 5-10 นาทีหลายๆ ครั้งต่อวัน
  • การอาบน้ำหรือแช่น้ำร้อน สามารถลดความตึงของกล้ามเนื้อลงได้

สำหรับอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้น 3 ครั้งขึ้นไปภายในหนึ่งเดือน แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา Sumatriptan เพื่อควบคุมอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งก็มียาอื่นๆ มากมายที่สามารถใช้รักษาหรือป้องกันไมเกรนเรื้อรัง ดังนี้

การป้องกันอาการปวดศีรษะ

การใช้ชีวิตที่ดี และการพักผ่อนให้เพียงพอสามารถป้องกันอาการปวดศีรษะได้ โดยมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

  • เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แต่ละบุคคลจะมีอาการที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะแตกต่างกันไป แต่อาหารที่เชื่อว่าทำให้เกิดอาการนี้ ได้แก่ ชีส ไวน์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หัวหอม ช็อคโกแลต เนื้อหมัก เบียร์ดำ สารเติมแต่งในอาหาร อาหารจำพวกนม และข้าวสาลี
  • เลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนมากเกิน การดื่มกาแฟมากกว่า 6 แก้วขึ้นไปต่อวันสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังจากฤทธิ์ถอนคาเฟอีนได้ ดังนั้น การจำกัดคาเฟอีนเป็น 2-3 แก้วต่อวัน หรือไม่ดื่มเลย จะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้
  • นอนหลับไม่เพียงพอ การนอนไม่พอ เป็นตัวกระตุ้นอาการปวดศีรษะที่พบได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงควรพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงค่อวัน หรือนอนจนรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นในตอนเช้า
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 30 นาที สามารถบรรเทาความเครียดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

คำถามที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top