อาการแพ้อาหารเป็นเรื่องที่หลายคนอาจมองข้าม แต่สำหรับผู้ที่แพ้ถั่วแล้ว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อย เพราะการได้รับถั่วเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง ตั้งแต่ผื่นคันไปจนถึงภาวะช็อกที่เป็นอันตรายถึงชีวิต การแพ้ถั่วเป็นหนึ่งในอาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเด็กและคนที่มีภูมิคุ้มกันไวต่อสารก่อภูมิแพ้
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับสาเหตุของอาการแพ้ถั่ว อาการที่อาจเกิดขึ้น วิธีป้องกันตัวเอง และวิธีรักษาหากเกิดอาการแพ้ เพื่อให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
สารบัญ
อาการแพ้ถั่วคืออะไร?
อาการแพ้ถั่ว เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกายต่อโปรตีนในถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลิสง หรือ ถั่วเปลือกแข็ง อย่างเช่น อัลมอนด์ วอลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าโปรตีนในถั่วเป็นสารอันตรายและตอบสนองด้วยการปล่อยสารฮิสตามีนและสารเคมีอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา
อาการแพ้ถั่วเป็นอย่างไร?
อาการแพ้ถั่วแบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากรับประทาน หรือสัมผัสกับถั่ว อาการทั่วไป ได้แก่
- อาการทางผิวหนัง: ผื่นลมพิษ คัน ผิวหนังบวมแดง
- อาการทางเดินหายใจ: คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หายใจลำบาก หรือหอบ
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร: ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน
- อาการรุนแรง: หายใจติดขัด หน้าบวม คอบวม ความดันโลหิตลดลง หมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีรักษาอาการแพ้ถั่ว
หลีกเลี่ยงการกินถั่วและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่ว
ผู้ที่แพ้ถั่วควรอ่านฉลากอาหารอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคถั่วหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจ ควรระวังอาหารแปรรูปและอาหารนานาชาติบางประเภทที่มักมีถั่วเป็นส่วนผสม รวมถึงแจ้งให้พนักงานร้านอาหารทราบก่อนสั่งอาหารเสมอ
ใช้ยาแก้แพ้สำหรับอาการแพ้เล็กน้อย
หากมีอาการแพ้เล็กน้อย เช่น ผื่นคัน ปากบวม หรือคัดจมูก สามารถรับประทานยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีน เช่น Cetirizine หรือ Loratadine ซึ่งจะออกฤทธิ์ลดอาการแพ้โดยไม่ทำให้ง่วงซึมมาก และควรอ่านฉลากยาและปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ฉีดยาอะดรีนาลีนสำหรับอาการแพ้รุนแรง
ในกรณีที่เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจลำบากหรือช็อก ควรฉีดยาอะดรีนาลีนทันที โดยใช้ EpiPen หรืออุปกรณ์ฉีดอัตโนมัติ จากนั้นรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงควรพก EpiPen ติดตัวเสมอและแจ้งให้คนรอบข้างทราบวิธีใช้ในกรณีฉุกเฉิน
วิธีป้องกันอาการแพ้ถั่ว
- ตรวจสอบฉลากอาหารเสมอ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “อาจมีถั่ว” หรือ “ผลิตในโรงงานที่มีถั่ว”
- ให้คนรอบข้างรับรู้ว่าแพ้อะไร เพื่อให้ช่วยเหลือได้ถูกต้องหากเกิดอาการ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานถั่วในทุกรูปแบบ
- แจ้งให้ร้านอาหารหรือผู้เตรียมอาหารทราบ เกี่ยวกับอาการแพ้
- พกยาแก้แพ้หรือ EpiPen ตติดตัวเสมอในกรณีที่เกิดอาการแพ้รุนแรง
แพ้ถั่วแต่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า? เช็กให้ชัวร์ด้วยแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ ที่ HDmall.co.th ตรวจได้จากคลินิกและรพ. ใกล้บ้านคุณ พร้อมรับส่วนลดพิเศษสุดคุ้ม ถ้าสนใจ คลิกเลย!