ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ ผมบาง

ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ ผมบาง

ผมบางมีหลากหลายสาเหตุ โดยอาจบางเฉพาะที่ศีรษะ หรือมีขนที่บริเวณอื่นของร่างกายบางด้วย สาเหตุเป็นได้ทั้งกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โรคหรือภาวะต่างๆ ของร่างกาย หรือการใช้ยาบางชนิด โดยที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์

ผมร่วงบางแต่ละสาเหตุ อาการต่างกัน

อาการผมร่วงผมบาง จะมีลักษณะต่างๆ กันตามแต่สาเหตุ ดังนี้

  1. ผมบางแบบพันธุกรรม
    พันธุกรรมมีส่วนในการกำหนดความไวของเส้นผมต่อระดับของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ทำให้เส้นผมปกติเกิดการบางเล็กลงบริเวณด้านหน้าและด้านบนของหนังศีรษะโดยจะยิ่งพบบ่อยขึ้นและยิ่งบางรุนแรงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือทำให้ไรผมค่อยร่นขึ้นไปจากทางด้านหน้า
    ส่วนผมที่ด้านหลังของศีรษะหรือท้ายทอยจะไม่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน ทำให้ไม่บางแบบทางด้านหน้าและด้านบน
  2. ผมร่วงเป็นหย่อมๆ
    การที่ผมหลุดร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายรูปเหรียญ ตามบริเวณต่างๆ ของหนังศีรษะได้ทุกบริเวณ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกระทำต่อรากผม ในบางรายอาจมีขนร่วงเป็นหย่อมที่บริเวณคิ้ว หนวด หรือเครา ร่วมด้วย และอาจมีอาการคันหรือเจ็บก่อนที่ผมจะร่วงเป็นหย่อมๆ ได้
  3. ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะเนื่องจากมีเหตุมากระตุ้น
    เกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย ความเครียด หลังผ่าตัด หลังคลอดบุตร หรืออาจเป็นผลจากยาบางชนิด ทำให้ระยะวงจรของเส้นผมถูกกระตุ้นเร็วกว่าปกติและเกิดการหลุดร่วง

ข้างต้นเป็นสาเหตุของผมร่วงผมบางที่พบได้บ่อย หากเป็นแล้วยังมีโอกาสหายกลับเป็นปกติได้ แต่นอกจากนี้ยังมีโรคผมร่วงผมบางอีกหลายชนิด โดยบางชนิดอาจทำให้เกิดการร่วงอย่างถาวรได้

ผมร่วงผมบาง เกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือไม่?

สาเหตุของผมบางที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นเรื่องของผมบางแบบพันธุกรรม ร่วมกับภาวะฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ (Androgenetic alopecia) พบได้บ่อยในเพศชาย ส่วนในเพศหญิงสามารถพบผมบางประเภทนี้ได้เช่นกัน แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คาดว่าอาจมาจากหลายปัจจัยนอกเหนือจากสาเหตุทางพันธุกรรม

ปัจจุบันมีชื่อเรียกใหม่ในทางสากล นั่นคือ “โรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ” (Male pattern hair loss กับ Female pattern hair loss) นิยมใช้กันมากกว่าชื่อเดิมอย่าง “โรคผมบางแบบพันธุกรรม”

ผมบางชนิดดังกล่าวนี้มักจะพบในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป แต่หากพบในช่วงก่อนวัยรุ่น ผมจะบางที่บริเวณด้านบนของศีรษะ โดยที่ไม่มีการบางของผมบริเวณง่ามทั้งสองข้างของศีรษะ และผู้ที่มีผมบางในลักษณะนี้ตั้งแต่ก่อนวัยรุ่น มักจะมีประวัติครอบครัวในบิดาหรือมารดา อย่างน้อยคนใดคนหนึ่ง มีประวัติผมบาง

ผมบาง ผมบางมาก ถ้ายิ่งตัดผมสั้นจะมีผลอะไรไหม?

เนื่องจากผมบาง ไม่ว่าจะเป็นผมบางพันธุกรรมหรืออื่นๆ เกิดจากสาเหตุจำเพาะที่กระทำต่อเส้นผมและหนังศีรษะ การตัดผมสั้นจึงไม่ได้มีส่วนในแง่ของพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดโรคผมบางชนิดต่างๆ เพียงอาจทำให้การดูแลง่ายขึ้น ทายาได้ถึงหนังศีรษะดีขึ้น หรือสังเกตการลุกลามของโรคผมบางได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

มีวิธีรักษาผมบางหรือไม่ ทำอย่างไร?

หากผมบางเนื่องจากกรรมพันธุ์ ควรรักษาให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ผมยิ่งบางลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยทั่วไปมักเริ่มการรักษาด้วยยา ยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาในการรักษาภาวะผมบางทางพันธุกรรม ได้แก่ ยาทาไมนอกซิดิล 2-5% (2-5% Minoxidil)

และยาชนิดรับประทานเพื่อลดระดับฮอร์โมนเพศชายที่ส่งผลต่อการบางของผมอย่างที่อธิบายไปแล้ว ยาตัวหลังนี้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและชาย แต่สำหรับผู้หญิงจะจำกัดกว่า

อย่างไรก็ตาม ยาทั้งหมดควรสั่งจ่ายและควบคุมติดตามอาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะ

ผลข้างเคียงของยาทาไมนอกซิดิล มักทำให้เกิดอาการศีรษะแห้งหรือระคายเคือง หรืออาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ รวมทั้งผู้ใช้ยาบางรายอาจมีเส้นผมระยะท้ายบางส่วนหลุดร่วงเมื่อใช้ยาระยะ 4-6 สัปดาห์แรก แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อใช้ยาต่อไป

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการรักษาผมร่วง ผมบาง ด้วยการใช้แสงบางชนิด เช่น Light emission diode ในความยาวคลื่นที่เหมาะสม ซึ่งผู้สนใจสามารถรับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล หรือใช้อุปกรณ์ในรูปแบบหมวกเลเซอร์ปลูกผม นำไปรักษาต่อเนื่องที่บ้าน (แต่การทำที่บ้านมักจะต้องใช้ความถี่ในการทำมากกว่าการรักษาที่โรงพยาบาล)

การปลูกผมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับโรคผมบาง แต่ต้องประเมินการรักษา บริเวณที่จะทำการรักษา และจำนวนเส้นผมที่ใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยทั่วไปมักต้องทำการรักษาด้วยยามาตรฐานมาระยะหนึ่ง เพื่อให้เส้นผมขึ้นเพิ่มเสียก่อน แล้วจึงจะรักษาด้วยการปลูกผม

การปลูกผมจะใช้วิธีย้ายเส้นผมในตัวผู้มีผมร่วง ผมบางเอง จากบริเวณท้ายทอย ซึ่งไม่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน มาปลูกในบริเวณศีรษะทางด้านหน้าหรือด้านบน เพื่อให้มีความหนาแน่นขึ้น

ควรใช้อะไรบำรุงผม ผมจึงจะกลับมาหนาดังเดิม

การบำรุงผมโดยทั่วไปที่ไม่ใช่การรักษามาตรฐาน มักไม่สามารถทำให้ผมกลับมาหนาดังเดิมได้ ภาวะผมบางควรได้รับการรักษาที่มาตรฐานโดยแพทย์ จึงจะไปแก้ไขสาเหตุได้อย่างตรงจุด ทันเวลา การปล่อยไว้หรือพยายามรักษาเองอาจยิ่งทำให้ผมบางลง


เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top