โรคเอดส์ การติดต่อ

โรคเอดส์ การติดต่อ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้

โรคเอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า HIV ซึ่งไวรัสชนิดนี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อทำงานบกพร่อง ในปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการและรักษาแบบประคอง จึงทำให้โรคเอดส์ เป็นโรคที่ใครๆ ต่างกลัว เพราะคิดว่าเป็นแล้วต้องเสียชีวิต

แต่จริงๆ แล้วมีหนทางประคับประคองให้ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตยืนยาวได้นานนับสิบปี วันนี้เราจึงนำความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์มาฝาก เพื่อที่เราจะได้ทำความรู้จักโรคเอดส์อย่างลึกซึ้ง และวางแผนป้องกันโรคเอดส์ได้อย่างถูกต้อง

ความหมายของโรคเอดส์ 

โรคเอดส์ คือ อาการของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS) โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเชียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus: HIV)” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)”

ทั้งนี้โรคเอดส์จะเกิดขึ้นในระยะท้ายๆ ของการติดเชื้อ HIV ผู้ติดเชื้อ HIV จึงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไปหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลายมากขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลง

จนในที่สุดร่างกายไม่มีสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้

หลังจากนั้น ร่างกายของผู้ป่วยจะสามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคติดเชื้ออื่นๆ ตามมา เช่น วัณโรค ปอดบวม เชื้อรา โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคเอดส์มักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ

สายพันธุ์ของเชื้อ HIV

เชื้อไวรัสเอชไอวีถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศแถบแอฟริกามานานกว่า 70 ปีแล้ว ในปัจจุบันเชื้อไวรัสเอชไอวีมีหลายสายพันธุ์มาก

ปัจจุบันค้นพบมากกว่า 10 สายพันธุ์ กระจายอยู่ทั่วโลก แต่สายพันธุ์ดั้งเดิม คือ เอชไอวี 1 (HIV-1) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ในยุโรป แอฟริกากลาง และสหรัฐอเมริกา

ส่วนเอชไอวี 2 (HIV-2) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก

สายพันธุ์เอชไอวีที่พบมากที่สุดในโลกคือ สายพันธุ์ซี โดยมีมากถึง 40% สำหรับพื้นที่ที่พบคือ ทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน และพม่า

ส่วนในประเทศไทยนั้นพบเชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เออี (A/E) หรือ (E) พบได้มากถึง 95% โดยแพร่ระบาดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง และสายพันธุ์บี (B) มักเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มคนรักร่วมเพศ หรือผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด)

สำหรับสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ซี แต่มีการพบสายพันธุ์ระหว่าง อี-ซี ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อีในประเทศไทยกับสายพันธุ์ซี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

เมื่อไม่นานมานี้ได้ค้นพบเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยตรวจพบที่ใดในโลกมาก่อน เป็นการผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ คือ เอ อี และจี เรียกว่า “เอ อี จี (AE/G)”

การติดต่อของเชื้อ HIV มี 3 ทางดังนี้

เชื้อ HIV จะอาศัยอยู่ได้ทั้งในเลือด สารคัดหลั่งในช่องคลอด และอสุจิ จึงทำให้สามารถติดต่อกันได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี

การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์กับเพศใดก็ตาม ทั้งนี้จากข้อมูลของทางกองระบาดวิทยาระบุว่า 83% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น

2. การรับเชื้อทางเลือด

การติดเชื้อเอชไอวีพบได้ใน 2 กรณี คือ

  1. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือแม้แต่การใช้กระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มผู้เสพสารเสพติด หรือฉีดยาเข้าเส้น
  2. รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด ในอดีตมีการติดเชื้อเอชไอวีจากช่องทางนี้ค่อนข้างมาก เพราะยังไม่มีการตรวจเลือดที่ละเอียดนัก แต่ปัจจุบันได้มีการนำเลือดที่รับบริจาคไปหาตรวจหาเชื้อก่อนทุกครั้ง ทำให้อัตราการติดเชื้อจากการรับเลือดลดลงอย่างมาก

3. การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก

เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วตั้งครรภ์ โดยเชื้อเอชไอวีจะถ่ายทอดสู่ลูกขณะคลอด

แต่ปัจจุบันได้ค้นพบวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จแล้ว โดยวิธีการรับประทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของทารกลงได้

นอกจากนี้เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อได้อีกหลายวิธี แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก เช่น การเจาะหูโดยการใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่การสัก ไม่ว่าจะเป็นการสักผิวหนัง สักคิ้ว

เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำเหลืองได้ด้วย โดยอาจติดเชื้อจากการที่บาดแผลเปิดของเราสัมผัสกับบาดแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ แต่ก็มีโอกาสต่ำมาก เนื่องจากต้องมีเลือด หรือน้ำเหลืองที่มีเชื้อไหลเข้าไปในบาดแผลเปิดเป็นจำนวนมากเท่านั้น

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อ HIV 

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีมีหลายประการ คือ

  • ปริมาณเชื้อเอชไอวี หากได้รับเชื้อเอชไอวีในปริมาณมาก ก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงตามไปด้วย โดยเชื้อเอชไอวีพบมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือ น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด
  • มีบาดแผล หากมีบาดแผลบริเวณผิวหนัง หรือช่องปาก ย่อมทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น (จากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก) เพราะเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าสู่บาดแผลได้
  • ความบ่อยในการสัมผัสเชื้อ หากมีการสัมผัสเชื้อไวรัสบ่อย โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีสูงขึ้น เช่น นักวิจัยที่ต้องทำการทดลอง ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • การติดเชื้อแบบอื่นๆ เช่น แผลเริม ซึ่งแผลชนิดนี้จะมีเม็ดเลือดขาวอยู่ที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

ระยะของการติดเชื้อ HIV

โดยทั่วไป เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว อาการของโรคที่ปรากฎจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะไม่ปรากฏอาการ

เรียกอีกอย่างว่า “ระยะติดเชื้อไม่ปรากฏอาการ” ในระยะนี้ผู้ที่ติดเชื้อนั้นจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงปกติ

แต่อาจมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉลี่ยนั้น จากระยะแรกเข้าสู่ระยะที่ 2 จะใช้เวลาประมาณ 7–8 ปี แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการนานถึง 10 ปี

ระยะนี้จึงเป็นระยะที่ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้มากที่สุด เพราะว่าผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว

2. ระยะมีอาการสัมพันธ์กับโรคเอดส์

เราเรียกระยะนี้ว่า “ระยะปรากฏอาการ” ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราในช่องปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม

มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามในระยะต่อไป

3. ระยะเอดส์เต็มขั้น หรือระยะโรคเอดส์

ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเสียหายอย่างมาก จนร่างกายไม่สามารถขจัดเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ซึ่งการติดเชื้อแทรกซ้อนนี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบคือ ผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด

แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อเยื้อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท ก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม

พบว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น

ใครควรตรวจหาเชื้อเอชไอวี

โดยปกติแล้ว ใครก็สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้เพื่อความสบายใจ แต่หากมีพฤติกรรม หรือข้อสงสัยใกล้เคียงกับข้อต่อไปนี้ ควรไปตรวจมากเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านเพศสัมพันธ์ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่กำลังจะแต่งงาน
  • ผู้ที่สงสัยว่า คู่นอนของตนมีพฤติกรรมเสี่ยง
  • ผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก
  • ผู้ที่จะเดินไปทำงานต่างประเทศ เพราะต้องการข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัย และสุขภาพร่างกาย

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

โรคเอดส์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เพียงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามหลักดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว
  • ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรมีการตรวจร่างกายและตรวจเลือด
  • งดใช้สารเสพติดทุกชนิด โดยเฉพาะการใช้เข็ดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ควรวิตกกังวลมากไป เพราะหากไม่พบโรคแทรกซ้อนพร้อมกับรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้นานนับสิบปี โดยไม่แสดงอาการของโรคเอดส์เลย

มีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารได้อย่างครบถ้วน
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
  4. ทำจิตใจให้สงบผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ
  5. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์

ปัจจุบันยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์หลายประการ ดังนี้

  • เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัส โอบกอด หายใจร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน
  • ยุงเป็นพาหะนำโรคเอชไอวี

ทั้งนี้ความเชื่อทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่เป็นความจริง

โรคเอชไอวีเป็นโรคติดต่อที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็มีการพัฒนายาที่สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หากรับประทานอย่างเคร่งครัด

แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อ โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนเพียงคนเดียว และการงดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพียงแค่นี้คุณก็ปลอดภัยจากการโรคเอดส์แล้ว

รวมคำถามเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่พบได้บ่อย 

คำถาม: หากมีเพศสัมพันธ์โดยการสวมถุงยางอนามัยมีสิทธิ์ติดเชื้อหรือไม่?

คำตอบ: นับว่ามีโอกาสน้อยมาก แต่ถ้าถุงยางอนามัยแตก หรือรั่วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ โดยต้องระวังการใช้ปาก เพราะเชื้อจะอยู่ในสารคัดหลั่ง ถ้าช่องปากมีแผลก็มีโอกาสติดเชื้อwfh ถึงจะน้อยมากก็ตามค่ะ (ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.))

มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงขายบริการ ขณะตอนสอดใส่ถุงยางแตก เลยรีบเอาออกมาโดยที่ไม่มีการหลั่ง กรณีนี้ผมมีโอกาสที่จะติดโรคเอดส์ไหม แล้วถ้าต้องการตรวจ ควรจะตรวจภายในกี่วัน หรือเดือน?

คำตอบ: เชื้อเอชไอวีสามารถตรวจพบได้หลังจากรับเชื้อมาแล้ว 2 -6 สัปดาห์ หรือหากกังวลใจมากสามารถตรวจได้ด้วยวิธี Nucleic Acid Technology ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถตรวจพบเชื้อได้ภายหลังจากการรับเชื้อ 3-7 วัน อาจพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องรับประทานยาป้องกัน

คำถาม: โรคเอดส์ระยะที่ 3 มีโอกาสหายไหม?

คำตอบ: ระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้น หรือเรียกว่า ระยะ “โรคเอดส์” ระยะนี้เป็นระยะที่ภูมิต้านทานของร่างกายถูกทำลายลงมาก จนมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคที่ปกติไม่สามารถทำอันตรายเราได้ หรือเรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส”

โรคติดเชื้อฉวยโอกาสนี้ มีอยู่หลายชนิดขึ้นอยู่ว่าติดเชื้อที่ส่วนใด เช่น ถ้าเป็นปอดบวม ก็จะมีไข้ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก ถ้าติดเชื้อราที่ทางเดินอาหาร ก็จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก

หากติดเชื้อที่สมอง ก็จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หรือถ้าเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาท ก็จะมีอาการความจำเสื่อม สติฟั่นเฟือน ซึมเศร้า แขนขาชาหรืออ่อนแรงชักกระตุก

บางรายอาจเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งหลอดเลือด โดยปรากฏเป็นจ้ำสีม่วงแดงคล้ำๆ ตามผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบเป็นก้อนโต ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย

เมื่อเข้าสู่ระยะนี้แล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน โดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปี (ตอบโดย รัชนี รุ่งราตรี (พญว.))


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top