ยาเสพติดเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาดในประเทศไทย อีกทั้งปัจจุบันยังมีการผลิตยาเสพติดรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งมักเป็นเด็กวัยรุ่น หรือเยาวชนที่อยากรู้อยากลอง
ดังนั้น ผู้ปกครอง หรือผู้ที่มีวัยรุ่นอยู่ในครอบครัวเดียวกัน จึงควรศึกษาหาวิธีสังเกตอาการของผู้ติดยาเสพติดแต่ละประเภทไว้ เพื่อจะได้ป้องกัน และรู้เท่าทันว่า บุตรหลานของตนเสี่ยงเป็นผู้เสพยาเสพติดหรือไม่ โดยอาการหลักๆ ของผู้เสพติดยาเสพติดแต่ละประเภท จะมีดังต่อไปนี้
สารบัญ
อาการของผู้ติดสารเสพติดประเภทยาบ้า (แอมเฟตามีน)
ยาบ้าเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาระดับชาติ ผู้เสพยาบ้าจะรู้สึกเหมือนมีการกระตุ้นให้ตื่นตัวอยู่เสมอ บางครั้งใช้แล้วรู้สึกดี ทำให้ติดได้ง่าย
การเสพติดระยะยาวเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคหัวใจ ภาวะทุพพลภาพ ปัญหาในช่องปากจากคุณสมบัติของยาที่ทำให้น้ำลายแห้ง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ปัญหาเรื่องผิวหนัง และสมองที่อาจถูกทำลาย
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับยา การออกฤทธิ์ของยาที่ส่งผลต่อร่างกายจะทำให้ผู้ที่ใช้ หรือแม้แต่คนใกล้ตัวของผู้ที่เสพสามารถสังเกตอาการที่อาจแสดงออกถึงภาวะติดสารเสพติด
หากพบแล้วควรรีบพบแพทย์เพื่อบำบัดทันที เพื่อลดปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา อาการ หรือพฤติกรรมที่อาจชวนให้สงสัยว่าติด
- อัตราการเต้นหัวใจ และความดันโลหิตสูงขึ้น
- ไม่อยากอาหาร
- น้ำหนักลดลง
- ปัญหาเกี่ยวกับฟัน
- นอนไม่หลับ
- อารมณ์แปรปรวน
- ก้าวร้าว
- ระแวง วิตกกังวลง่าย
- ประสาทหลอน
- ลดความสนใจในกิจกรรมรอบตัว
อาการของผู้ติดสารเสพติดประเภทยาอี
ยาอีเป็นชื่อย่อมาจาก “ยาเอ็กสตาซี” (Ecstasy) เป็นยาที่มักถูกใช้ในงานปาร์ตี้อยู่บ่อยๆ จนได้ชื่อเรียกอีกชื่อว่า “คลับดรักส์ (Club drugs)” อีกทั้งยังนิยมเสพเพื่อเพิ่มความสุขและช่วยให้เกิดอารมณ์ทางเพศสูงจนได้ชื่อเรียกอีกว่า “ยาเลิฟ (Love drug)” ด้วย
ยาอีมีฤทธิ์คล้ายกับยาบ้าแต่จะให้ความแรงมากกว่าถึง 10 เท่า โดยยาจะออกฤทธิ์หลอนประสาท เกิดการหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) จำนวนมาก ทำให้รู้สึกสนุกสนาน เห็นภาพหลอน ไวต่อสัมผัส ไม่เกิดอาการต่อต้าน และเป็นมิตรคล้อยตามไปกับทุกคน
นี่อาจเป็นสาเหตุว่า ทำไมถึงมีการข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศในงานปาร์ตี้อยู่บ่อยๆ แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้ว ผู้เสพจะมีอาการผิดปกติต่อไปนี้
- เครียด วิตกกังวลว่า จะมีใครมาทำร้าย
- ซึมเศร้า
- หายใจไม่ค่อยออก
- กล้ามเนื้อกระตุก หรืออ่อนแรง
- นอนไม่หลับ
- เหงื่อออกมาก
- เป็นตะคริว ขบฟัน
- ตัวสั่นอย่างควบคุมไม่ได้
- ไม่สามารถสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่นรู้เรื่อง
- หลงลืมง่าย
- ความดันโลหิตอาจสูง หรือต่ำลง
อาการของผู้ติดสารเสพติดประเภทกัญชา
“THC” เป็นสารออกฤทธิ์หนึ่งในกัญชาซึ่งเมื่อมีการเสพเข้าไปแล้ว ผู้เสพจะมีอาการสบายตัว เคลิบเคลิ้ม ร่าเริง รู้สึกผ่อนคลายจากความทุกข์ใจและความเครียดต่างๆ
เมื่อมีอาการขาดยา ผู้เสพอาจถึงกับนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิทำงาน ไม่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ
กัญชาอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้คล้ายจะอาเจียนตลอดเวลา
- กระหายน้ำมาก
- ความสามารถในการตัดสินใจน้อยลง รวมถึงทักษะการสื่อสารร่วมกับผู้อื่น
- ตาแดง
- หลงลืมง่าย
- ความดันโลหิตและจังหวะการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
เมื่อพบอาการต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อบำบัด
- ต้องการใช้ยาตลอดเวลา ทุกวันๆ ละหลายครั้ง
- ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเพื่อให้ได้ผลที่เท่าเดิม
- ไม่มีความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ แยกตัวออกจากสังคม เพื่อเอาเวลามาเสพ
- ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- พยายามที่จะหยุด แต่ทำไม่ได้
อาการของผู้ติดสารเสพติดประเภทเฮโรอีน
เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ร้ายแรงกว่ายาบ้าหลายเท่าตัว แต่จะราคาสูงกว่ามาก โดยจะออกฤทธิ์กดประสาทอย่างรุนแรง ทำให้ผู้เสพรู้สึกเคลิ้มหลับ สบายตัว เหม่อลอยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง และหลงลืมความเจ็บปวดทุกอย่าง
เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่เสพเพียง 1-2 ครั้งก็สามารถติดได้ทันที โดยหลักฐานเกี่ยวกับการเสพยาประเภทเฮโรอีน ให้ดูบริเวณผิวตามร่างกายว่า มีรอยเข็มฉีดยาหรือไม่ เพราะส่วนมากผู้เสพเฮโรอีนมักเสพโดยการฉีดเข้าเส้นเลือด
ผลกระทบต่อร่างกายจากการใช้เฮโรอีน
- ระบบประสาท: การใช้ยาระยะยาวอาจทำให้สมองถูกทำลาย ความสามารถในการตัดสินใจลดลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
- ระบบทางเดินหายใจ: การใช้ยาในขนาดสูง สามารถกดการหายใจ
- ระบบหัวใจและหมุนเวียนโลหิต: การใช้ยาในขนาดสูงอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น
- การติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยา
- ระบบทางเดินอาหาร: ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
อาการของผู้ติดสารเสพติดประเภทยาไอซ์
ยาไอซ์ (Crystal Meth) หรือเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) มีลักษณะเป็นผลึกคล้ายน้ำแข็งที่มีสารกระตุ้นประสาท มักจะมีได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ที่รักสวยรักงาม
เนื่องจากมีความเชื่อว่า ยาไอซ์จะทำให้ผิวขาว สวย รูปร่างดูดี สมองมีการประมวลผลได้เร็วขึ้น และทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นด้วย
เพราะยาไอซ์จะเข้าไปกระตุ้นสารสื่อประสาทชื่อว่า “โดพามีน (Dopamine)” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น “สารแห่งความสุข” ให้หลั่งออกมามากกว่าผิดปกติ ทำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข สดชื่น เคลิบเคลิ้ม ตื่นตัวมากกว่าปกติจนบางรายอาจไม่นอนหลับได้หลายวัน
นอกจากนี้ผู้เสพบางรายยังใช้ยาไอซ์เพื่อทำให้ตนเองมีความมั่นใจมากขึ้น และกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้สูงกว่าเดิมด้วย แต่เมื่อเสพไปนานๆ ร่างกายของผู้เสพก็จะเริ่มมีความผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- หวาดระแวงและวิตกกังวลมากขึ้น
- เห็นภาพหลอน
- รูม่านตาขยาย
- มือสั่น
- ผิวซีด
- วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- นอนไม่หลับ
- หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ และความดันโลหิตสูงขึ้น
- เบื่ออาหาร
- มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงขึ้น
- มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
- มีอาการซึมเศร้า
นอกจากอาการข้างต้นแล้ว การเสพยาไอซ์ในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้ผู้เสพหมดสติหรือชัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ด้วย
สายด่วน และองค์กรเลิกยาเสพติด
หากพบว่า บุคคลใกล้ตัวมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และมีความเป็นไปได้ว่าจะติดยาเสพติด ควรแนะนำให้บุคคลดังกล่าวรีบทำการบำบัดรักษาเพื่อเลิกยาเสพติดทันที ก่อนที่ฤทธิ์ของยาจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว
องค์กรและสายด่วนที่สามารถช่วยเรื่องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ มีดังต่อไปนี้
- สถาบันธัญญารักษ์ สายด่วน 1165
- สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เบอร์โทรศัพท์ 036-266-292
- คลินิก หรือสถานบำบัดยาเสพติดภายในจังหวัดที่อาศัยอยู่
- โรงพยาบาลของรัฐ ที่ให้บริการในการบำบัดรักษายาเสพติด
การเลิกยาเสพติดเป็นเรื่องที่ผู้เสพต้องต่อสู้กับใจของตนเองและความทรมานของร่างกายเป็นอย่างมาก
ฉะนั้นคนในครอบครัวรวมถึงคนใกล้ชิดต้องหมั่นให้กำลังใจผู้เสพและติดตามผลการบำบัดอยู่เสมอ เพื่อให้ระยะเวลาในการเลิกเสพยาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วขึ้น
หากผู้เสพมีท่าทีหวั่นไหวจะกลับมาเสพยาอีก ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องคอยเตือนสติ และคอยอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้เสพเอาชนะใจตนเองให้ได้ในที่สุด
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์