acute kidney failure disease definition scaled

ไตวายเฉียบพลัน รู้ทันอาการ สาเหตุ และวิธีลดความเสี่ยง

ไตวายเฉียบพลันเป็นโรคไตที่หลายคนเคยได้ยินชื่ออยู่บ่อย ๆ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว แล้วสาเหตุไตวายเฉียบพลันเกิดจากอะไร อาการไตวายเป็นอย่างไร สามารถป้องกันได้ไหม ติดตามได้ในบทความนี้ได้เลย 

รู้จักภาวะไตวายเฉียบพลัน 

ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเหลือง อยู่บริเวณกระดูกชายโครงทั้งสองข้าง มีหน้าที่สำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ขับของเสียต่าง ๆ ออกจากเลือดและร่างกาย รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ แร่ธาตุต่าง ๆ ควบคุมความดันเลือด และอื่น ๆ 

ถ้าไตเกิดความผิดปกติหรือเสื่อมสภาพลง ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายเสียความสมดุล เกิดของเสียและสารพิษต่าง ๆ คั่งค้างจากการที่ไตไม่สามารถขับออกทางปัสสาวะ หากปล่อยไว้อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

กรณีที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างฉับพลัน เกิดในเวลาอันรวดเร็ว อาจเป็นหลักชั่วโมงไปจนถึงสัปดาห์ เราจะเรียกไตวายเฉียบพลัน หรือโรคไตเฉียบพลัน ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที จะมีโอกาสรักษาให้หายขาด ฟื้นฟูไตให้กลับมาเป็นปกติได้

ภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดจากอะไร

ไตวายเฉียบพลันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุพบบ่อย ๆ ได้แก่

สารน้ำในร่างกายลดลงอย่างรุนแรง
เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำหรือเลือดเป็นเวลานาน เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือดปริมาณมาก เสียเลือดมากในอุบัติเหตุ กินอาหารได้น้อยหรือไม่ได้เลย ภาวะดังกล่าวทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย จนนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด

การกินยาหรือได้รับสารที่เป็นพิษต่อไต
ปกติแล้ว ยาหรือสารใด ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกทำลายความเป็นพิษที่ตับ และขับสารพิษออกทางไต การกินยาบ่อย ๆ เป็นเวลานาน โดยไม่มีความจำเป็น ยิ่งยาบางตัวมีผลกับไตโดยตรงอยู่แล้ว จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้นจนไตสูญเสียการทำงานได้ 

กลุ่มยาพบบ่อยที่มีผลต่อการทำงานของไต คือ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาคลายเส้น ยาชุด รวมถึงยาสมุนไพร ยาหม้อ หรือยาแผนโบราณที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งคนที่ไตเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว ถ้ากินยาใด ๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ มีโอกาสเกิดไตวายเฉียบพลันได้สูง

การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตันจากภาวะต่าง ๆ เช่น ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคมะเร็งบางชนิด ทำให้ปัสสาวะไหลออกจากไตไม่สะดวก ส่งผลให้ไตทำงานได้น้อยลง

ภาวะไตอักเสบ
ภาวะไตอักเสบจากหลายสาเหตุ ทำให้เนื้อเยื่อไตถูกทำลาย หรือกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ไตเอง หรือบริเวณอื่นของร่างกาย  

นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่นำไปสู่ไตวายเฉียบพลันได้ เช่น ความดันโลหิตที่สูงหรือต่ำเกินไป อาการช็อก โรคเบาหวานลงไต โรคตับ และโรคเก๊าท์

อาการไตวายเฉียบพลัน เป็นแบบไหน รุนแรงไหม

เมื่อเกิดภาวะไตวาย น้ำและของเสียจะคั่งค้างในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น 

  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร 
  • ปัสสาวะลดลงอย่างเห็นได้ชัด (น้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน) หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • มีอาการบวมน้ำ ส่งผลให้ตัวบวม แขนขาบวม หน้าบวม ตาบวม
  • เป็นตะคริวตอนกลางคืน 
  • นอนไม่หลับ
  • ผิวแห้ง คันตามตัว มีผื่นขึ้น
  • หายใจไม่ถนัด นอนราบไม่ได้ ความดันโลหิตสูง 
  • มีภาวะซีด เลือดจาง อาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้

เมื่อพบความผิดปกติในข้างต้น อาการใดอาการหนึ่ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะบางอาการอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ภาวะไตวายเฉียบพลัน วินิจฉัยอย่างไร

การตรวจและยืนยันภาวะไตวายเฉียบพลัน ทำได้หลายวิธีดังนี้

การตรวจเลือดดูค่าไต (Renal function test)
เป็นการเจาะเลือดเพื่อดูค่าต่าง ๆ ในเลือดที่บ่งบอกถึงการทำงานของไต ค่าไตที่มักใช้ในการวินิจฉัยมีอยู่หลายค่า เช่น 

  • การตรวจค่าไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือด (Blood urea nitrogen: BUN) ค่า BUN แสดงถึงปริมาณไนโตรเจนในเลือด ซึ่งเป็นของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย ปกติจะอยู่ระหว่าง 1020 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าสูงกว่านี้บ่งบอกว่าไตอาจมีปัญหา
  • การตรวจค่าครีเอตินิน (Creatinine) ครีเอตินินเป็นของเสียจากการเผาผลาญการใช้งานกล้ามเนื้อจากอวัยวะในร่างกาย ค่าปกติจะแบ่งตามเพศ เพศชายจะอยู่ที่ 0.61.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และเพศหญิง จะอยู่ที่ 0.51 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าค่าสูงกว่านี้ อาจบ่งบอกว่ามีสิ่งอุดตันในทางเดินปัสสาวะ 
  • การวัดค่าอัตราการกรองของไต (eGER) เป็นการวัดอัตราการกรองของเสียในไตต่อนาที ค่าปกติจะมากกว่า 90 มล./ นาที / 1.73 ตร.ม. ถ้าน้อยกว่านั้นจะเป็นสัญญาณเตือนว่าการทำงานของไตมีความผิดปกติ

การตรวจหาโปรตีนและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
ปกติแล้วโปรตีนและเม็ดเลือดแดงจะไม่ผ่านการกรองของไตออกมาในปัสสาวะ หากการทำงานของไตมีปัญหา จึงอาจพบโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วออกมากับปัสสาวะได้

การตรวจอื่น ๆ
แพทย์อาจต้องตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ไตและทางเดินปัสสาวะ บางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อไต เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจค่าไต 

แนวทางรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน 

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันมีอยู่หลายวิธี แต่จะเน้นไปที่การรักษาต้นเหตุให้หายขาด ช่วยให้ไตกลับมาทำงานได้เป็นปกติอีกครั้ง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากไตวาย โดยแพทย์จะเป้นคนเลือกวิธีที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละคน เช่น

  • รักษาที่ต้นเหตุ ถ้าหาสาเหตุพบจะต้องหยุดสาเหตุนั้นให้เร็วที่สุด เช่น การหยุดยาที่ทำให้ไตวาย การให้สารน้ำทดแทนในรายที่ขาดน้ำ หรือรีบแก้ไขอาการช็อก
  • รักษาตามอาการ ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาที่ต้นเหตุ จำเป็นต้องรักษาตามอาการของผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนให้มากที่สุด เช่น รักษาสมดุลกรดด่างในร่างกาย ควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกในร่างกายให้สมดุล เลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต หรือปรับขนาดยาให้เหมาะกับการทำงานของไตที่ลดลง
  • การให้สารอาหารที่เหมาะสม ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันมักได้รับสารอาหารต่าง ๆ ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการปรับสารอาหาร พลังงานและปริมาณโปรตีนให้เหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วย
  • การบำบัดทดแทนไต เมื่อไตทำงานได้น้อยมาก หรือไตไม่ทำงานแล้ว โดยยาหรือวิธีอื่น ๆ ไม่สามารถช่วยได้ อาจมีการใช้เครื่องฟอกไตเทียม ช่วยกำจัดของเสียในเลือดและร่างกาย จนกว่าไตจะฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง  

หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา ส่วนใหญ่จะช่วยให้ไตกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจนำไปสู่การเกิดไตวายเรื้อรังได้

ภาวะไตวายเฉียบพลันป้องกันได้

การดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพร่างกายและสุขภาพไต เลี่ยงปัจจัยต่อการเกิดโรคให้มากที่สุด ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 78 ชั่วโมง 
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด มันจัด
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 810 แก้วต่อวัน 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ   
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือใช้ยาพร่ำเพรื่อ โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ
  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ถ้ามีความเสี่ยงตามวัยหรือส่วนบุคคล ควรปรึกษาแพทย์ ถึงการตรวจคัดกรองโรคไตหรือตรวจค่าไตเป็นระยะ นอกจากช่วยดูสุขภาพไตแล้ว ยังช่วยแก้ไขพฤติกรรมที่อาจทำลายไตโดยไม่รู้ตัวด้วย

เช็กความเสี่ยงโรคไต ตรวจดูค่าไตสักหน่อย HDmall.co.th รวม แพ็กเกจตรวจสุขภาพไต จากรพ. ทั่วไทย ใกล้บ้านคุณ โปรคุ้มแบบนี้ ไม่จองเสียดายนะ!

Scroll to Top