เคยสงสัยไหมว่าทำไมนอนเต็มอิ่ม แต่กลับรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หมดแรง โดยไม่มีสาเหตุ? นั่นอาจไม่ใช่แค่เหนื่อยล้าธรรมดา เพราะอาจเป็นสัญญาณของ “ตับอักเสบ” ภาวะที่ดูเงียบ ๆ แต่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพหากไม่ได้ดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
สารบัญ
ตับอักเสบคืออะไร?
ตับอักเสบ (Hepatitis) คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อตับเกิดการอักเสบหรือเสียหายจากสาเหตุใดก็ตาม จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น การติดเชื้อไวรัส การได้รับสารพิษ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
เมื่อปล่อยให้ตับอักเสบไปเรื่อย ๆ จนเป็นแบบเรื้อรัง จะก่อให้เกิดพังผืด (แผลเป็น) ในเนื้อตับ จนกระจายทั่วทั้งตับจะเรียก ภาวะตับแข็ง และมีโอกาสเกิดมะเร็งตับเป็นภาวะแทรกซ้อนตามมา
ตัวการร้ายทำให้ตับอักเสบ
ตับอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ตับอักเสบ แบ่งได้ 5 ชนิด
- ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A): ติดต่อผ่านการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ พบมากในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสุขอนามัยต่ำ ก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และหายได้ในเวลาไม่นาน
- ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B): เป็นอีกชนิดที่พบบ่อยเช่นกัน ติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน และติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ ก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง และอาจนำไปสู่โรคตับร้ายแรง อย่างตับแข็ง และมะเร็งตับ
- ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C): ส่วนมากแล้วจะก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ติดต่อผ่านทางเลือดเป็นหลัก เช่น การใช้เข็มร่วมกัน การสักหรือเจาะร่างกายด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
- ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D): จะพบเฉพาะในคนที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน กรณีติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและดีร่วมกัน จะเพิ่มความรุนแรงของโรคมากขึ้น เร่งการเกิดมะเร็งตับได้หลายเท่า เมื่อเทียบกับคนติดไวรัสตับอักเสบบีเพียงชนิดเดียว
- ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E): พบในพื้นที่ที่มีระบบสุขาภิบาลไม่ดี ติดต่อผ่านการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเหมือนกับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ แต่มีความรุนแรงกว่า โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหรือแท้งได้
การดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากสามารถ ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่โรคตับรุนแรงอื่น ๆ
สารพิษและยา
การได้รับยาหรือสารเคมีมากเกินไป ใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้พร่ำเพรื่อ จะทำให้ตับทำงานหนัก เพิ่มความเสี่ยงการเกิดตับอักเสบ เช่น กินยาพาราเซตามอลเกินขนาด 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์ กินยาสมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมที่ไม่มีมาตรฐาน
ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD)
ไขมันพอกตับชนิดนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ทำให้ไขมันไปสะสมในเซลล์ตับ อาการระยะแรกมักไม่ชัดเจน หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE)
เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เข้าโจมตีเนื้อเยื่อของตัวเราเอง ก่อให้เกิดการอักเสบ และอาการผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงเซลล์ตับด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ตับอักเสบและบาดเจ็บ
ตับอักเสบมีอาการไหม อาการเป็นแบบไหน
ตับอักเสบแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ตับอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบเรื้อรัง
ตับอักเสบแบบเฉียบพลัน
เกิดจากการอักเสบในตับอย่างรวดเร็ว อาการที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นชายโครงขวา ตาและผิวเหลือง (ดีซ่าน) ปัสสาวะสีเข้ม หรืออุจจาระสีซีด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะตับล้มเหลวได้
สาเหตุทำตับอักเสบแบบเฉียบพลันที่พบบ่อยมักมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การรับสารพิษหรือยาบางชนิด การดื่มแอลกอฮอล์ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ
ตับอักเสบแบบเรื้อรัง
เกิดจากการอักเสบของตับต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน อาการมักไม่ชัดเจนในระยะแรก จนหลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็น พอตับอักเสบมากขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจะเริ่มแสดงอาการ อาจรู้สึกอ่อนเพลียเรื้อรัง น้ำหนักลด ท้องโตจากน้ำในช่องท้อง หรือมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย
หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการในข้างต้น ควรตรวจสุขภาพหรือตรวจคัดกรองโรคตับ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่รักษาได้ยาก โดยเฉพาะตับวาย และตับแข็งในอนาคต
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นตับอักเสบ
อาการตับอักเสบอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น อย่างไข้หวัดใหญ่ และโรคกระเพาะอาหารอักเสบ บางครั้งอาจไม่มีอาการชัดเจนช่วงแรกด้วย แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจเลือด และตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงแต่ละคน เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อดูค่าการทำงานของตับและยืนยันการติดเชื้อ ทำให้ประเมินการทำงานของตับได้ว่ามีความเสียหายหรือผิดปกติหรือไม่
- การตรวจอัลตราซาวด์ ช่วยให้เห็นลักษณะของตับ และความผิดปกติในตับ เช่น ตับแข็ง ก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณตับ
- การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) จะช่วยตรวจดูความยืดหยุ่นของตับ มีพังผืดหรือไขมันในตับสูงหรือไม่
- การตรวจชิ้นเนื้อตับ เป็นการตัดเนื้อเยื่อตับบางส่วนออกมาตรวจ ซึ่งช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคตับได้แม่นยำ และระบุระยะของโรคตับได้
การรักษาตับอักเสบ
การรักษาตับอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่จะรักษาแบบประคับประคอง หรือรักษาตามอาการเพื่อลดการอักเสบของตับ เช่น
การรักษาตับอักเสบจากเชื้อไวรัส
- ไวรัสตับอักเสบ เอ และ อี มักจะเป็นการติดเชื้อเฉียบพลันที่หายเองได้ แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์
- ไวรัสตับอักเสบ บี หากเป็นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะหายได้เอง แต่ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง จะต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) หรือยาเอ็นทีคาเวียร์ (Entecavir) ร่วมกับติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- ไวรัสตับอักเสบ ซี มักรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ช่วยกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย (Direct-acting antivirals: DAA) ใช้ระยะเวลาสั้น และรักษาให้หายขาดได้ เช่น ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) ยาไรบาวิริน (Ribavirin)
- ไวรัสตับอักเสบ ดี พบได้น้อย ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับไวรัสชนิดนี้
การรักษาตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ทันทีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาตามอาการ อย่างการใช้ยาลดการอักเสบของตับ
การรักษาตับอักเสบจากการใช้ยาและสารพิษ แพทย์จะให้หยุดใช้ยาหรือสารที่เป็นสาเหตุทันที อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือใช้ยาทดแทน
การรักษาตับอักเสบจากภาวะไขมันพอกตับ แพทย์จะพิจารณาให้ยารับประทานและ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกายและควบคุมอาหาร
การรักษาตับอักเสบจะได้ผลดีขึ้นหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก และปฏิบัติตามคำแนะนำ ของแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม
ตับอักเสบสามารถป้องกันได้
การป้องกันตับอักเสบทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและปัจจัยที่ทำความเสียหายต่อตับ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ปัจจุบันมีเฉพาะไวรัสตับอักเสบเอ และบี สามารถลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี และดีได้ โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ และประเมินการทำงานของตับ การตรวจพบโรคระยะแรกจะช่วยให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของมีคม เช่น เข็มฉีดยา มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะคนที่มีคู่นอนหลายคน ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ดูแลสุขอนามัยทั้งส่วนตัวและส่วนรวม กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนมื้ออาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
เช็กสุขภาพตับ ฉีดวัคซีนเสริมภูมิไวรัสตับอักเสบ ราคาพิเศษ ครบจบที่ HDmall.co.th แพ็กเกจตรวจตับ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เลือกจองได้ทุกที่ใกล้บ้านคุณ