อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจของคุณในบางช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บจี๊ดๆ ที่หน้าอก อาการแน่นหน้าอก รู้สึกหายใจติดขัด หรือเหนื่อยง่าย
อาการเหล่านี้อาจทำให้คุณคิดไปไกลว่า “ตนเองอาจจะกำลังเป็นโรคหัวใจ”
ความจริงแล้วในหลายๆ ครั้ง การเจ็บ หรือแน่นที่บริเวณหัวใจ หน้าอก หรือการเต้นของหัวใจที่แรงและเร็วอาจไม่ได้เป็นอาการของโรคหัวใจเสมอไป แต่ยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ ด้วย
สารบัญ
สัญญาณเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจ
1. ภาวะทางจิตใจ
หากเผชิญกับสถานการณ์ หรือสิ่งน่ากลัวบางอย่างที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น หรือตกใจมากๆ เข้า มักเกิดอาการใจเต้นแรงเหมือนหัวใจจะทะลุออกมาจากอก แต่บางรายก็อาจจะรู้สึกเนื้อตัวสั่น มีเหงื่อซึมทั้งๆ ที่อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ หรือวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
ไม่ว่าจะมีอาการแบบไหน อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่า “เป็นอาการของโรคหัวใจแน่” เพราะความจริงแล้วเป็นเพียงผลกระทบที่เกิดจากความตื่นเต้นตกใจ หวาดกลัว เมื่อได้เจอกับสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าเท่านั้น
หากใครที่รู้สึกว่า ตนเองตกใจกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ รอบตัวเกินเหตุ ก็อาจปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
2. อาหารและการใช้ชีวิต
การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนมากๆ เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม (บางชนิด) อาจมีผลทำให้การทำงานระบบประสาทออโตโนมิก (Autonomic Nervous System: ANS) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่คอยควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบส่วนต่างๆ ทำงานผิดปกติได้
การทำงานผิดปกติของระบบประสาทที่ว่านี้เองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง และไม่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป หรือการใช้สารเสพติด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน
บางรายยังอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืด และเวียนศีรษะร่วมด้วย ก็อย่าเพิ่งตกใจเพราะนั่นอาจเป็นเพียงผลข้างเคียงจากปริมาณคาเฟอีนที่ดื่มเข้าไปเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่เป็นประจำ ก็มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจเช่นกัน ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือหัวใจผิดปกติจากการอาหารกันแน่ การตรวจหัวใจและหลอดเลือดกับแพทย์ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี
3. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูกจำพวกยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันโลหิตบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติได้
หากรู้สึกว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหัวใจทุกครั้งที่รับประทานยาดังกล่าว ให้รีบปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
4. ภาวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ แต่มีอาการหัวใจเต้นแรงร่วมได้
เมื่อร่างกายขาดน้ำเพราะเสียน้ำมาก หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป ร่างกายจะส่งสัญญาณประท้วงออกมาในรูปแบบของการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อได้
ตัวอย่างความผิดปกติที่พบบ่อย เช่น เป็นตะคริว ปากแห้ง ปากแตก หน้าซีด ปวดศีรษะ อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
ดังนั้นในคนปกติ สุขภาพแข็งแรงจึงควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2.2 ลิตร เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย รักษาอุณหภูมิ และจะทำให้การทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจาก “ภาวะโลหิตจาง” ได้ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง มักเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็กจนไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นการขนถ่ายออกซิเจนสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ก็เป็นไปอย่างลำบาก จนส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจด้วย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ
ผู้ป่วยยังอาจต้องเผชิญกับอาการเหนื่อยง่าย หรือผมร่วงอีกด้วย ผู้ป่วยบางรายแม้จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ แต่จะมีจังหวะการเต้นที่หนักและแน่นจนรู้สึกว่า ผิดปกติก็เป็นได้
นอกจากการขาดน้ำ ภาวะโลหิตจางแล้ว ยังมีภาวะอื่นๆ เช่น เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล เป็นไข้ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติก็ยังทำให้มีอาการหัวใจเต้นแรงได้เช่นกัน
5. มีโลหะหนักสะสมในร่างกาย
โลหะแคดเมียม (Cadmium) สารปรอท (Mercury) และสารโลหะหนักอื่นๆ เมื่อเข้าไปสะสมในร่างกายนานๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการอักเสบของหลอดเลือด หรือทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัวจนสร้างความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจได้
นอกเหนือจากผลกระทบข้างต้น สารดังกล่าวยังอาจไปรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงด้วย แถมยังรบกวนการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจนเกิดความผิดปกติขึ้น ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติตามไปด้วย
สำหรับกลุ่มผู้ที่เสี่ยงจากปัจจัยนี้ ส่วนมากมักจะเป็นผู้ทำงานในระบบอุตสาหกรรม หรือโรงงานที่มีสารเคมี
ถึงแม้ในบางครั้ง ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจที่เกิดขึ้นจะมาจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจโดยตรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเข้าพบแพทย์ชำนาญการและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เพื่อตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนอีกครั้ง
หากผลตรวจเป็นปกติ นอกจากจะทำให้คุณโล่งใจกับอาการที่เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณรู้เท่าทันความเสี่ยงที่ตนเองอาจจะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคร้ายอื่นๆ รวมทั้งการหันมาดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันหัวใจให้ห่างไกลจากความผิดปกติ
แต่หากพบว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจเกิดขึ้น จะได้รีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้หายเป็นปกติและชะลอความความรุนแรงของภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม