ผื่นขึ้นที่หน้าเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ทั้งในส่วนที่ไม่อันตรายและบางอย่างอาจเป็นโรคที่อันตรายได้ 10 สาเหตุที่มักทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นหน้าได้บ่อย มีดังนี้
สารบัญ
- 1. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- 2. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis)
- 3. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากปฏิกิริยาจากการใช้ยาบางชนิด
- 4. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)
- 5. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- 6. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคหน้าแดง (Rosacea)
- 7. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง (Spider vein)
- 8. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากงูสวัด
- 9. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคลูปัส (Lupus)
- 10. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคมะเร็งบางอย่าง
1. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
ผื่นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม เป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่หน้า หรือบริเวณที่มีความมัน เช่น หนังศีรษะ ไรผม ซอกหู หว่างคิ้ว ซอกจมูก รวมทั้งอกช่วงบน และหลังข่วงบน
มีอาการขุยแห้ง แดง และคัน มักมีอาการเป็นๆ หายๆ จึงควรบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น และใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย
หากมีอาการมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณายาทาบางชนิด สาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์มยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อยีสต์ Pityrosporum (Malassezia)
2. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis)
ผื่นแพ้สัมผัส เป็นผื่นผิวหนังอักเสบประเภทที่มีเหตุสัมผัสจากภายนอกมากระตุ้นให้เกิดผื่น หรือการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหน้าต่างๆ สบู่ หรือแม้แต่การย้อมผม รวมทั้งฝุ่นละอองจากสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่
บริเวณใบหน้าเป็นผิวที่บอบบาง ทำให้เกิดอาการอักเสบหลังการสัมผัสได้ง่าย โดยจะเกิดอาการแดง คัน มีขุย หรือแม้แต่ตุ่มน้ำได้ในบริเวณที่แพ้สัมผัส
มีได้ทั้งประเภทที่เป็น ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis) ซึ่งเกิดจากสารที่ระคายเคือง หรือประเภทที่เป็นผื่นผิวหนังภูมิแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ซึ่งเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่อผิวของบางคน
อาจมีอาการมาแบบเฉียบพลัน เป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรังก็ได้ มักมีเพียงด้านใดด้านหนึ่งตามบริเวณที่สัมผัส หากมีภาวะนี้ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สงสัยให้เกิดอาการแพ้ และอาจต้องใช้ยาทาลดการอักเสบบางชนิด
3. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากปฏิกิริยาจากการใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดทำให้เกิดปฏิกิริยาคล้ายถูกแดดที่บริเวณใบหน้าได้ ทำให้หน้าแดง เช่นการใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone cream) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์แบบทาชนิดหนึ่ง ที่หากใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังในลักษณะนี้ได้ ต้องหยุดใช้ยา อาการจึงจะดีขึ้น
4. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)
ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเหตุภูมิแพ้ภายในร่างกายประเภทหนึ่ง โดยจะมีหน้าแดงได้ในผู้ป่วยกลุ่มเด็กทารก
จะมีอาการแดงและคันมากได้ที่บริเวณแก้ม ผิวจะแห้งมาก มีขุย และคัน เป็นภาวะที่รักษา ควบคุมอาการได้ แต่ไม่หายขาด
พบว่าในกลุ่มคนไข้ที่โตขึ้นจะพบผื่นในบริเวณอื่นเช่นตามซอกพับต่างๆ มากกว่าใบหน้าแบบในเด็กทารก คนไข้ต้องบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น การล้างหน้าหรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
ในช่วงกำเริบมักต้องได้รับยาทาลดการอักเสบบริเวณผิวหนัง
5. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
สะเก็ดเงิน เป็นภาวะที่มีการสร้างเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการนูน หนา และแดง ได้หลายตำแหน่งในร่างกาย โดยอาจทำให้เกิดผื่นแดงขุยหนาที่ใบหน้าได้เช่นกัน
หากเป็นที่หน้า อาจเป็นที่บริเวณเดียวกับโรคผื่นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เปลือกตา หรือตามขมับได้
บริเวณอื่นในร่างกายที่มักมีผื่น เช่น ศอก เข่า ศีรษะ หรืออาจเกิดความผิดปกติบริเวณเล็บ เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อควบคุมอาการได้ ควรรักษาและติดตามโดยแพทย์
6. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคหน้าแดง (Rosacea)
โรคหน้าแดงเป็นโรคที่ผิวหน้าจะแดงได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณกลางๆใบหน้า หรือมีตุ่มบวมแดงได้ หรือเห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนัง
ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่บริเวณผิว การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ แสงอัลตราไวโอเลต ไรขนที่หน้า โครงสร้างทางกายภาพของผิวหนังที่มีหน้าที่ในการปกป้องผิวผิดปกติไป เป็นต้น
สิ่งที่กระตุ้นทำให้หน้าแดงจากภาวะนี้ ได้แก่ การรับประทานอาหารเผ็ดหรือร้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อากาศร้อนแสงแดด อารมณ์ หรือการออกกำลังกาย
สำหรับชาวไทย จะพบโรคนี้ไม่บ่อยเท่าในฝรั่ง การรักษามีทั้งยาทาและยารับประทาน และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
7. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง (Spider vein)
เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นที่ได้จากการโดนแดดมานานเรื้อรังโดยไม่ป้องกัน เมื่อผิวถูกแสงแดดเป็นเวลาหลายปี อาจทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง และทำให้เกิดหน้าแดงได้ อาจต้องอาศัยเลเซอร์บางชนิดในการรักษา
8. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากงูสวัด
งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกกระตุ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีภาวะเจ็บป่วยบางอย่าง หรือใช้ยาบางชนิด รวมทั้งจากความเครียด หรือการพักผ่อนน้อย
สามารถเกิดที่ใบหน้าได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดตามแนวเส้นประสาท จึงมักเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่งของใบหน้า โดยทำให้เกิดตุ่มน้ำใสบนพื้นผิวสีแดง และมีอาการปวดแสบปวดร้อนได้
อาการปวดหรือผื่นแดงอาจนำมาก่อนตุ่มน้ำ สิ่งที่ต้องระวังสำหรับภาวะงูสวัดที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะช่วงบนๆ คืออาจมีการอักเสบที่ตาหรือหูร่วมด้วย จึงควรตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
9. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคลูปัส (Lupus)
ลูปัส เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันทำลายตนเองโรคหนึ่ง โดยสามารถมีอาการได้หลายระบบในร่างกาย เช่น มีอาการปวดข้อ มีอาการเกี่ยวกับไต ปอด ระบบประสาท ฯลฯ
หนึ่งในนั้นที่สามารถเป็นได้ คือ อาการที่ผิวหนัง เช่น มีอาการแดงที่หน้าในลักษณะของผื่นแพ้แสง (คือถูกกระตุ้นด้วยการโดนแสงแดด) มักเป็นบริเวณแก้มสองข้าง มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ แต่ก็อาจพบอาการแดงหรือบวมลักษณะอื่นได้ด้วย
การรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค มักต้องได้รับยากดภูมิ และต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงติดตามรักษาโดยแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ โรคที่เกี่ยวกับการแพ้แสงอีกหลายโรคก็มักมาด้วยอาการหน้าแดงได้เช่นกัน โดยบริเวณที่มักเป็นผื่นแพ้แสง ได้แก่ หน้า แขนด้านนอก อกช่วงบน หรือขา เป็นต้น โดยมักจะไม่พบผื่นที่บริเวณเปลือกตาหรือซอกพับต่างๆ นอกจากนี้ผื่นแพ้แสงยังอาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดได้
10. ผื่นแดงขึ้นหน้าจากโรคมะเร็งบางอย่าง
ผื่นแดงขึ้นหน้าสามารถเกิดจากโรคมะเร็งได้ แต่พบได้น้อย มักเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเหลืองที่เป็นที่ผิวหนัง เช่น โรคซีทีซีแอล (CTCL: Sézary syndrome is a type of T-cell cutaneous lymphoma)
เหตุที่พบผื่นที่ผิวหนังได้บ่อยเนื้องจากเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell พบมากที่บริเวณผิวหนัง ลักษณะของผื่นผิวหนังอาจดูคล้ายผื่นผิวหนังอักเสบได้ แต่หากเป็นนานแล้วยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ เช่น อาการหน้าแดงที่เป็นนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย
เนื่องจากอาการผื่นแดงที่ใบหน้ามีสาเหตุได้หลากหลายสาเหตุดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด จึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนัง เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด
เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ