สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ หนึ่งในวิธีการรักษาคือการฟอกไต หรือฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อขจัดสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย เนื่องจากไตเสื่อมการทำงานไปมาก จนของเสียคั่งค้างสะสมในร่างกาย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเสียสมดุลและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญก่อนเริ่มการฟอกไต คือ การทำเส้นฟอกไต
การทำเส้นฟอกไต คืออะไร ทำไมต้องทำ มีกี่รูปแบบ ข้อดี ข้อจำกัดคืออะไร บทความนี้เราจะมาเปรียบเทียบให้ทราบกัน
สารบัญ
โรคไต ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง คืออะไร มีกี่ระยะ?
โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ เช่น ทำให้สารพิษบางส่วนตกค้างในร่างกาย เกิดภาวะการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ฮอร์โมน และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
การเสื่อมในรูปแบบนี้ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ ต้องใช้วิธีรักษาโดยการประคับประคองอาการ ให้ไตเสื่อมลงช้าที่สุด
การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังนั้น จะใช้ค่าอัตราการกรองของเสียของไตเป็นเกณฑ์ หรือเรียกว่าค่า eGFR คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที โดยมีเกณฑ์การแบ่งระยะของโรค เป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ค่า eGFR > 90 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่อัตราการกรองยังปกติ
- ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย
- ระยะที่ 3a ค่า eGFR 45-59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
- ระยะที่ 3b ค่า eGFR 30-44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
- ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 อัตราการกรองลดลงมาก
- ระยะที่ 5 ค่า eGFR < 15 ไตวายระยะสุดท้าย
เมื่อไหร่ต้องฟอกไต?
ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เริ่มวางแผนรักษาด้วยการฟอกไต ตั้งแต่ระยะที่ 4 และมีแนวโน้มที่ค่าอัตราการกรองของไตจะลดลงไปเรื่อยๆ จนต้องได้รับการฟอกเลือดภายใน 6 เดือน
ปัจจุบันการฟอกไตมี 2 วิธีหลักๆ คือ การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และ การฟอกไตทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD)
เปรียบเทียบการฟอกไตทางหลอดเลือด VS การฟอกไตทางช่องท้อง แบบไหนดีกว่ากัน? อ่านต่อ คลิก
ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญก่อนเริ่มการฟอกไต คือ การทำเส้นฟอกไต
เส้นฟอกไตคืออะไร ทำไมต้องทำเส้นฟอกไต?
เส้นฟอกไต (Vascular Access) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า เส้นฟอกเลือด คือ เส้นทางเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยโรคไตไปยังเครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียแทนไต จากนั้นนำเลือดที่ฟอกแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง
สาเหตุที่ต้องทำเส้นฟอกไตนั้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะต้องมีการฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต
ในทุกๆ ครั้งที่ฟอกไต จะต้องมีการใช้เข็มเจาะเปิดเส้นเลือดอยู่เรื่อยๆ เมื่อฟอกเลือดเสร็จ เส้นเลือดก็จะมีการสมานตัวเองตามธรรมชาติ หากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เส้นเลือดอาจจะตีบตัน ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้น้อยลง และประสิทธิภาพในการกรองของเสียก็จะน้อยลงด้วย
การทำเส้นฟอกไต ก็เป็นการเตรียมเส้นทางการไหลของเลือด เพื่อรองรับการฟอกเลือดซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
เส้นฟอกไต มีกี่รูปแบบ?
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไต มี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
1. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula: AVF)
เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณแขนของผู้ป่วย อาจเป็นบริเวณข้อมือหรือข้อศอก โดยเปิดแผลประมาณ 3 เซนติเมตร หาตำแหน่งหลอดเลือดแดงและดำ จากนั้นจะผ่าตัดเชื่อมต่อเส้นเลือดทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เลือดจากหลอดเลือดแดง ไหลเข้าไปยังหลอดเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดดำโป่งพอง มีขนาดใหญ่ขึ้น และแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางในการนำเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียม
ข้อดีของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง
- หลอดเลือดดำที่มีการเชื่อมต่อแล้ว จะมีความแข็งแรง หนา และใหญ่ เหมาะสำหรับเปิดเชื่อมกับเครื่องฟอกไต
- แผลมีขนาดไม่ใหญ่ ประมาณ 3 เซนติเมตร บริเวณข้อมือหรือข้อศอก
- ภาวะแทรกซ้อนต่ำ โอกาสติดเชื้อน้อย เพราะไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย
- อัตราการตีบตันของเส้นเลือดต่ำ
- หลังผ่าตัดเสร็จ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถกลับบ้านได้เลย
- มีอายุการใช้งานนาน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน
ข้อจำกัดของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง
- หลังผ่าตัดต้องรออย่างน้อย 6 สัปดาห์ จึงจะสามารถใช้งานเส้นเลือดได้ แต่เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด แพทย์มักให้รออย่างน้อย 3 เดือน หรือดีที่สุด คือ 6 เดือน เพื่อเส้นเลือดแข็งแรงมากพอ และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
- กรณีที่เส้นเลือดจริงของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก หรือไม่มีเส้นเลือดดำที่เหมาะสม จะไม่สามารถทำวิธีนี้ได้ โดยขนาดเส้นเลือดดำที่เหมาะสมคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 2.5 มิลลิเมตร
2. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft : AVG)
เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลจำนวน 2 แผลคือ บริเวณข้อศอกประมาณ 2 เซนติเมตร และที่รักแร้ประมาณ 3 เซนติเมตร จากนั้นจะฝังหลอดเลือดเทียมเข้าไปที่แขนของผู้ป่วย ซึ่งหลอดเลือดเทียมนี้ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง และเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต ทำให้เวลาฟอกไต ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดจริง
ข้อดีของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม
- เส้นเลือดเทียมจะเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต ทำให้เมื่อฟอกไตไม่ต้องเจาะเส้นเลือดจริง
- หลังผ่าตัดรอเพียง 2-3 สัปดาห์ ก็ใช้งานเส้นเลือดได้เลย
- ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำเส้นฟอกไตชนิดเลือดจริงได้
- หลังผ่าตัดเสร็จ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถกลับบ้านได้เลย
ข้อจำกัดของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม
- อายุการใช้งานค่อนข้างสั้น คืออยู่ที่ประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
- โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง เพราะมีการใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย
- อัตราการตีบตันของเส้นเลือดสูงกว่า
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง
3. การผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ (Permanent Catheter)
บางครั้งอาจเรียกว่า Perm Cath แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลจำนวน 2 แผล คือ บริเวณคอ หรือไหปลาร้าประมาณ 1 เซนติเมตร และที่หน้าอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร และใส่สายขนาดใหญ่เข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถนำเลือดเข้าเครื่องฟอกเลือดหรือเครื่องไตเทียมได้รวดเร็ว เป็นเทคนิคสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนไม่ได้
ข้อดีของการผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ
- หลังผ่าตัดสามารถใช้งานได้ทันที
- ใช้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่แขนได้
ข้อจำกัดของการผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ
- บริเวณลำคอ หรือหน้าอกของผู้ป่วยจะมีท่อห้อยออกมา อาจทำให้เกะกะ รำคาญ และหากดูแลไม่ดี ก็จะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
- มีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดดำใหญ่อุดตันในอนาคต
- อายุการใช้งานค่อนข้างสั้น คืออยู่ที่ประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
สำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่ต้องเริ่มฟอกไต แพทย์จะพิจารณาให้ ผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง เป็นตัวเลือกแรก หากมีข้อจำกัด จึงเลือกการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม ตามมาด้วยการผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอเป็นอันดับสุดท้าย
แม้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่ป่วย แต่เมื่อป่วยแล้วก็ต้องเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
ป่วยเป็นโรคไต ต้องเริ่มฟอกไตหรือยัง มีวิธีป้องกันยังไงไม่ให้ไตเสื่อมจนต้องฟอกไต อยากคุยกับคุณหมอเฉพาะทางปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย